เห็นมา เขียนไป

ทิวสน
เห็นมา เขียนไป วันที่ 25 มีนาคม 2566

สะท้อนปัญหา ซีเซียม137 เมื่อประชาชนไม่เชื่อสิ่งที่รัฐแถลง

สะท้อนปัญหา ซีเซียม137 เมื่อประชาชนไม่เชื่อ-ไม่มั่นใจสิ่งที่รัฐแถลง แนะต้องเอาข้อเท็จจริงมาบอก เพราะถ้าไม่มีความจริง ออกจากปัญหาไม่ได้

วันที่ 21 มี.ค.2566 ในรายการ ข่าวจบ คนไม่จบ เผยแพร่ผ่านทาง เพจเฟซบุ๊ก และ ยูทูบ ของ ข่าวสดออนไลน์ ดำเนินรายการโดย อั๋น ภูวนาท คุณผลิน และ คําผกา ลักขณา ปันวิชัย ช่วงหนึ่ง แสดงความคิดเห็นในประเด็น ซีเซียม137 สะท้อนมาตรการปกป้องประชาชน ยังตอบไม่ได้หายไปไหน เจอแค่ฝุ่นแดง

อั๋น ภูวนาท แสดงความคิดเห็นว่า วันนี้ซีเซียมบังเอิญว่ามันน้อย ถ้าบังเอิญว่ามันไม่น้อยและสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงกับประชาชน ใครจะเป็นคนรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นต่อประชาชน เราไม่มีมาตรการควบคุมกัมมันตรังสีเหล่านี้ในประเทศเลยหรือ มันนำเข้ามาอย่างไร ถ้ารู้ว่าเป็นอันตราย ต้องอยู่ในการดูแลคุ้มครอง ควบคุม หรือตรวจสอบ โดยต้องตอบได้ว่าสารเหล่านี้อยู่โรงงานไหนบ้าง และทุกๆ 6 เดือนต้องมีคนไปตรวจสอบว่ามันยังอยู่ดีไหม

และวันที่โรงงานนั้นปิดตัวลง ด้วยอะไรก็แล้วแต่สารนั้นอยู่ไหน ยังคงต้องรายงานต่อ และต้องมีกฎไว้เลยหรือไม่ว่า ถ้าโรงงานปิดตัวลงสิ่งนี้ต้องส่งมอบไปให้ใคร ใครจะเป็นผู้เก็บ และวิธีการควบคุม หรือทำลายล้างมีหรือไม่

”ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีมาตรการควบคุมเลย หรือถ้ามีก็ไม่มีการบังคับใช้หรือไม่แม้จะมีผู้บอกว่าสารมันน้อย เราไม่รู้ว่าฤทธิ์เดชมากน้อยขนาดไหน แต่เราไว้ใจอะไรได้บ้าง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ภาครัฐออกมาแถลงกลับไม่ทำให้ประชาชนมั่นใจ และไม่ทำให้ได้รับความรู้ ต้องรอเอกชน หรือ นักวิชาการอิสระมาโพสต์ข้อความให้ความรู้ จะทำให้ประชาชนเชื่อ นี่คือปัญหามาก” อั๋น สะท้อน

ด้าน คำผกา แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ต้องกังวลและตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงไว้คือ เรื่องการบริหารจัดการสารอันตรายพวกนี้ และต้องดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาอธิบายขั้นตอน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างไร เรื่องนี้แม้ผู้เชี่ยวชาญจะออกมาบอกว่ามีผลกระทบน้อย แต่สำหรับประชาชนเราไม่รู้ว่ามีอันตรายขนาดไหน ถ้าเชื่อในสิ่งที่เขาอธิบายก็ถือว่าวางใจได้

คำผกา ชี้ว่า ถ้าในอนาคตสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เล็กขนาดนี้ รัฐบาลได้ออกมาพูดให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการที่ถูกเซตเอาไว้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่าเรื่องพวกนี้ถูกบริหารจัดการอย่างไร เราไม่เห็นบทเรียนอย่างนี้เลย ขณะที่การแถลงของหน่วยงานภาครัฐก็ไม่ทำให้ประชาชนมั่นใจ และต่อให้แย่ขนาดไหน หน่วยงานภาครัฐต้องเอาข้อเท็จจริงมาบอกกับประชาชน เพราะถ้าไม่มีความจริง เราออกจากปัญหานี้ไม่ได้

“นี่คืออันตรายเพราะทำให้เกิดคนสร้างองค์ความรู้ปลอมๆผ่านโปรไฟล์ที่ดูเหมือนน่าเชื่อถือเต็มไปหมด เพราะเขาไม่เชื่อสิ่งที่รัฐบาล-ราชการพูด เหมือนที่เราดูข่าวร้องทุกข์กันต่างๆผ่านทนายราวกับว่าประเทศนี้ไม่มีขื่อไม่มีแป ทำให้เหมือนกับว่าเราเป็นประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตกับโรบินฮู้ดตลอดเวลา และรู้สึกว่าโรบินฮู้ดเป็นที่พึ่งได้มากกว่าราชการ แต่การพึ่งโรบินฮู้ดมันไม่ยั่งยืน” คำผกา ระบุ