สังคมซีแอตเติ้ล
สมศักดิ์



สังคมซีแอตเติ้ล 21 มีนาคม 2563

...บทความเนื้อหาธรรมะ...

...บันทึกและเขียนโดย...พระมหาสมชาย คุณาลังกาโร...

...พระธรรมทูตสายต่างประเทศ ประจำวัดอตัมมยตาราม...

"อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ
โก หิ นาโถ ปะโร สิยา
อัตตะนา หิ สุทันเตนะ
นาถัง ละภะติ ทุลลภัง"

ตนแล เป็นที่พึ่ง ของตน คนอื่นใครเล่า จะเป็นที่พึ่งได้ เมื่อบุคคล ผู้มีตน อันฝึกฝนดีแล้ว เขา(ผู้นั้น) ย่อมได้ที่พึ่ง อันหาได้โดยยากยิ่งฯ

...คำว่า "ตน" ในที่นี้ ตามความหมาย ของผู้เขียนเข้าใจหรือตามทัศนะในทางพระพุทธศาสนาแล้ว มีความหมายอยู่ ๒ อย่างคือ ๑.ตัวตนที่เป็นอมตะ(ตัวตนที่เป็นตัวตน)ของปุถุชน(สัสสตทิฏฐิฯ - คือเห็นว่าโลกเที่ยงเป็นต้น) และ ๒.ตัวตนที่ไม่เป็นอมตะ(ตัวตนที่ไม่เป็นตัวตน)ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา คือตัวตนที่มีจริงโดยสมมุติ(สมมุติสัจจะ - คือเห็นจริงตามสมมุติ) ที่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับนิพพานคือสภาวธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา(ปรมัตถะสัจจะ - คือจริงจริงจริง) คือไม่มีตัวตน หรือพระนิพพาน

...เพราะตามทัศนะของปุถุชน คนมีกิเลสหนา ที่ยังไม่เข้าใจลึกซึ้งและถ่องแท้ตามหลัก ของพระพุทธศาสนา มีแต่ความเห็นผิดว่าสภาวธรรมทั้งหลายเป็นอัตตา ซึ่งเป็นความเห็นที่วิปลาส ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เช่นปุถุชนหรือคนทั่วไปเข้าใจตน ด้วยความยึดมั่นว่า ร่างกายเป็นตัวตน เที่ยง เป็นของเรา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่่คิดว่าสักวันหนึ่ง ตนเองก็ต้องแก่ ต้องเจ็บและตายไปในที่สุด เพราะนั่นเป็นความคิดของปุถุชนทั่วไป ที่ยังรู้สึกทุกข์ เมื่อต้องเผชิญกับความเป็นจริงเกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บและความตาย เพราะการเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ว่ารูปของเรา เวทนาของเรา สัญญาของเรา สังขารของเราและวิญญาณของเรา นั้นเอง จึงเรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส ดังคำตรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน ก็หากว่ารูปเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย" ดังนี้เป็นต้น

...ตัวตน หรือตน ในที่นี้ก็คือ กายกับจิต รูปกับนาม รูปธรรมกับนามธรรมและหรือ ร่างกายกับจิต(ใจ) ที่เราท่านเคยได้ยินได้ฟังมา และตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลส ยังจะต้องเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏฏสงสาร จะต้องทำความเข้าใจในสมมุติให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ของสมมุติ หรือสมมุติสัจจะให้ถูกต้อง ด้วยการพัฒนาศักยภาพ หรือความสามารถ ของกายและจิตไปในกรอบ ของกฎหมาย จารีต ประเพณี ศีลธรรม จารรยาอันดีงาม ที่เราเรียกว่าเป็นบุญกุศลนั้นเอง จะเรียกตามสำนวนพูดว่า อาศัยตัณหา เพื่อละตัณหา อาศัยร่างกายและวิญญาณ เพื่อละร่างกายและวิญญาณนั้นเอง เมื่อเราทำความเข้าใจสมมุติอย่างถูกต้องได้อย่างนี้แล้ว เราก็จะได้พัฒนาตน หรือตัวตน คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ หรือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือ แม้แต่การพัฒนาอายตนะภายนอกคือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ สักแต่ว่าเป็นหน้าที่ของใครของมันให้ถูกต้องดีงาม ตามความเป็นจริงโดยสมมุติได้อย่างถูกต้องถ่องแท้ไปเรื่อยๆ จนสามารถลด เลิก ละกิเลส ไปได้ที่ละเล็กที่ละน้อย ตั้งแต่ขั้นหยาบ จนถึงขั้นละเอียดไปได้เรื่อยๆ จากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นกัลยาณชน และจากความเป็นกัลยาณชน สู่ความเป็นอริยะชนได้แล้วนั้นเอง ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ได้วางหลักของการปฏิบัติไว้เป็นขั้นเป็นตอนคือ บุญกิริยาวัตถุ ๓ หรือวิธีการบำเพ็ญบุญกุศลไว้ ๓ ระดับ คือทาน ศีล ภาวนา หรือไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา คือวางรูปแบบหลักการและขั้นตอน เพื่อพัฒนาตน ในการลด เลิก ละ กิเลสอย่างอยาบ(ทาน,ศีล) อย่างกลาง(ศีล,สมาธิ) และอย่างละเอียด(ภาวนา,ปัญญา) นั้นเอง..

...สรุปก็คือ เมื่อเราทำความเข้าใจคำว่า อัตตา ตัวตนที่เป็นสมมุติสัจจะได้อย่างถูกต้องแล้ว เราก็จะได้ปฏิบัติและพัฒนาตัวตน คือกายกับใจที่ถูกต้องไปด้วย โดยการนำหลักของบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือทาน ศีล ภาวนา และหรือไตรสิกขา ๓ คือศีล สมาธิ ปัญญา มาฝึกหัดขัดเกลาจริตนิสัยกิริยาและมารยาท ธรรมเนียม ประเพณี ศีลธรรมจรรยาอันดีงาม จนสุดความสามารถตามศักยภาพของมนุษย์ที่พึงกระทำและนำไปพัฒนา กาย วาจาและใจ หรือพัฒนาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ไปในทางที่ถูกต้องดีงาม เพื่อลด เลิก ละกิเลส อย่างหยาบ อย่างกลางและอย่างละเอียด จากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นกัลยาณชน และจากความเป็นกัลยาณชน สู่ความเป็นอริยชนได้ในที่สุด เมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว นอกจากจะเป็นที่พึ่ง ของตนเองได้แล้ว เรายังจะเป็นที่พึ่งของบุคคลอื่นได้อีกด้วย ดังคำกลอนสอนใจ ที่ผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า...

..."พึงนำตน ไว้ในทาง ข้างดีก่อน
จึงค่อยสอน คนทั้งหลาย เมื่อภายหลัง
ไม่ให้ยาก ลำบากใจ ใครชิงชัง
ต้องระวัง กลัวผิด ทั้งศิษย์ครู" ครับ

... นั่นแหละพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือสมเด็จพ่อของเราท่านทั้งหลาย พระองค์จึงได้ตรัสว่า "อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ ตนแล เป็นที่พึ่ง ของตน"เป็นต้นนั้นแล เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ เจริญพร

...บันทึกและเขียนโดย พระมหาสมชาย คุณาลังกาโร...03/06/2020...