อยู่เพื่อบิน
สุรัตน์ เทียนประภา



สายการบินพาณิชย์

Seaplane คืออะไร

สำหรับเครื่องบินที่ใช้ในการทหาร ไม่ว่าจะลำใหญ่หรือลำเล็ก ความสามารถเป็นเรื่องที่สำคัญสุด ส่วนประสิทธิภาพและความสิ้นเปลืองไม่ใช้เรื่องที่ต้องกังวล ไม่ว่าราคาและค่าใช้จ่ายจะสูงเท่าฟ้า มีอัตราการใช้น้ำมันมาก หรือการที่ต้องใช้เวลาซ่อมบำรุงมากกว่าเวลาที่ใช้ปฎิบัติการบิน อาทิ เครื่องบินชนิดพิเศษบางลำ ต้องใช้เวลาซ่อมบำรุงถึง 2 วัน ทุกครั้งที่ขึ้นบิน ยังเป็นที่ยอมรับกันได้

แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับเครื่องบินที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ เครื่องบินเพื่อการพาณิชย์จะละเลยหรือมองข้ามเรื่องประสิทธิภาพไม่ได้ บริษัทสายการบินจะทำกำไรได้มากหรือน้อยขึ้นกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติการบิน ส่วนสำคัญที่สุดคือ การเลือกเครื่องบินที่เหมาะสมกับการใช้งานของสายการบินนั้นๆ การเลือกเครื่องบินได้ดี คือเลือกเครื่องบินที่เอามาทำการบินแล้ว ทำเงินมากพอที่จะมาจ่ายค่าเครื่องบิน กล่าวคือ ขนส่งผู้โดยสารได้มากพอ ต้องการการซ่อมบำรุงน้อย และที่สำคัญที่สุดคือ ประหยัดน้ำมัน เพราะน้ำมันเป็นค่าใช้จ่ายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ การเลือกเครื่องบินผิดจะทำให้ได้กำไรน้อยหรือขาดทุนได้ในบางกรณี

ถึงแม้จะมีบริษัทผลิตเครื่องบินต่างๆ ทั่วโลก ที่สามารถผลิตเครื่องบินได้ทุกแบบตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ในวงการการผลิตเครื่องบินพาณิชย์รับส่งผู้โดยสาร มีเพียง 2 บริษัทที่อยู่เหนือบริษัทอื่นๆ คือ โบอิ้ง และ แอร์บัส บริษัทยักษ์ทั้งสองนี้ได้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ที่มีคุณภาพสูงมาตลอด มีชื่อเสียงและเป็นที่เชื่อถือในหมู่บริษัทสายการบินทั่วโลก ต้องนับว่า บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) ตัดสินใจเลือกได้ดี เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การบินไทย ใช้เครื่องบินหลากหลายแบบจากบริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ทั้งสองในการปฏิบัติการบินต่างๆ สรุปโดยสังเขป ดังนี้

เที่ยวบินระหว่างประเทศระยะไกล --- Boeing 747 & 777, Airbus 350 & 380

เที่ยวบินระหว่างประเทศระยะกลาง --- Boeing 777 & 787, Airbus 330

เที่ยวบินในประเทศ --- Boeing 737, Airbus 320

เครื่องบินเหล่านี้ ออกแบบตามความต้องการของผู้ใช้ส่วนใหญ่ของผู้ผลิต แต่ไม่ตรงความต้องการของผู้ใช้อย่างเรานัก สำหรับเครื่องบินที่ใช้กับเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกล เราสามารถเลือกใช้เครื่องบินที่สอดคล้องกับที่บริษัทผู้ผลิตออกแบบไว้ คือ บินตรง ระยะไกล ข้ามทวีปโดยไม่แวะพักที่ใด แต่สำหรับเครื่องบินที่ใช้บินในเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะกลาง โดยเฉพาะเส้นทางบินสั้นในประเทศ การเลือกใช้เครื่องบินยังไม่ค่อยเหมาะสมนัก ตัวอย่างเช่น เที่ยวบินภายในประเทศ การบินไทยใช้เครื่องบิน Boeing 737 และ Airbus 320 ในเส้นทางบิน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เครื่องบินทั้งสองถึงแม้จะมีคุณภาพสูงสุดเท่าที่เงินจะซื้อได้ แต่ก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับการปฏิบัติการบินในระยะทางสั้นนี้ เครื่องบินทั้งสองนี้จัดอยู่ในระดับเดียวกัน ต่างออกแบบให้เหมาะสำหรับขนส่งผู้โดยสารประมาณ 200+ คน มีระยะทางบิน 3,820 กิโลเมตรสำหรับ Boeing 737 และ 6,100 กิโลเมตรในกรณีของ Airbus 320 แต่ระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ไกลเพียง 580 กิโลเมตรเท่านั้น นั่นหมายความว่า เครื่องบินทั้งสองที่นำไปใช้บิน ใหญ่เกินไป และที่สำคัญกว่าคือ หนักเกินไป

Boeing 737 เป็นเครื่องบินที่ออกแบบสำหรับบินตรงจากชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา อาทิ เมืองลอสแอนเจลิส ไปยังชายฝั่งตะวันออกของประเทศ อาทิ เมืองนิวยอร์ก ซึ่งมีระยะทางมากกว่า กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ถึง 6.5 เท่า ส่วนเครื่องบิน Airbus 320 สามารถบรรจุน้ำมันได้ 27,200 ลิตร ซึ่งหนักถึง 17,000 กิโลกรรม ในขณะที่เส้นทางการบิน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขาเดียว ต้องการใช้น้ำมันเพียง 1,616 กิโลกรรมเท่านั้นการบินด้วยน้ำหนักเบาจะประหยัดน้ำมัน การเติมน้ำมันในปริมาณที่เพียงพอสำหรับการบินในเที่ยวบินนั้นๆ จะทำให้เครื่องบินเบาขึ้นมาก และเครื่องยนต์ไม่ต้องทำงานหนัก ซึ่งมีผลให้การบำรุงซ่อมแซมลดลง ในการขับเคลื่อนเครื่องบินที่น้ำหนักเบากว่า ส่งผลให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น แนวปฏิบัติเพียงเล็กๆ น้อยๆ นี้ ช่วยลดต้นทุนปฏิบัติการบินได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าการบินไทยเองคงจะใช้เป็นแนวปฏิบัติอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านี้ ยังมีข้อดีอื่นอีกในการไม่เติมน้ำมันเต็มถัง คือ น้ำหนักของเครื่องบินจะลดลงมาก คำนวณคร่าวๆ จากน้ำหนักที่จะลดลงได้ 17,000 – 1,616 = 15,384 กิโลกรรม หมายถึงน้ำหนักเครื่องบินลดลง 15,384 กิโลกรรมเมื่อเติมน้ำมันเท่าที่ต้องใช้ หมายถึงเครื่องบินสามารถรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้เท่าที่กล่าว ซึ่งเท่ากับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีกเท่าตัว ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าโดยที่ต้นทุนเท่าเดิม แต่...... ใครเล่าจะยอมนั่งซ้อนสองคนบนที่นั่งเดียวกัน !!

หากเลือกซื้อหรือสั่งทำเครื่องบินที่ออกแบบโดยเฉพาะสำหรับเส้นทางบินระยะสั้นได้ โครงสร้างของตัวเครื่องบินขนาดนี้ไม่จำเป็นต้องแข็งแรงมากเท่าเครื่องบินที่ต้องแบกน้ำหนักของน้ำมันจำนวนมาก มีผลให้เครื่องบินมีน้ำหนักเบากว่า ต้นทุนในการสร้างต่ำกว่า เครื่องบินจะมีราคาถูกตามไปด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ที่หนักกว่ากับเครื่องบินที่เล็กและเบา ทำให้น้ำหนักตัวลดลงอีกและประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน น่าเสียดายที่ประเทศเล็กๆอย่างเราและประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ ไม่มีอำนาจต่อรองมากนัก กำลังซื้อเล็กเกินไปสำหรับผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่จะฟังเสียง ทั้งโบอิ้งและแอร์บัสไม่สนใจจะปรับตามความต้องการของเรา แต่อาจจะถึงเวลาที่ควรจะลองหาผู้ผลิตรายอื่นที่สนใจ และสามารถผลิตตรงตามความต้องการของเรา หากทำเช่นนี้ได้ เราจะประหยัดทั้งเงินทุนในการจัดซื้อเครื่องบิน ค่าน้ำมันและการซ่อมบำรุงตลอดระยะเวลาการใช้งาน และหรือ เราควรจะเริ่มคิดเรื่องการสร้างเครื่องบินเอง

สำหรับพวกที่ไม่ต้องการจะสร้างอะไร ชอบรอซื้อมากกว่า ยังมีข่าวดีที่จะเกิดขึ้นในโลกใบนี้ ผู้ผลิตเครื่องบินหลายต่อหลายราย รวมทั้งรายใหญ่เช่น โบอิ้ง และ แอร์บัส ต่างกำลังมองหาเครื่องบินสำหรับยุคต่อไป บางรายยังเพียงเฝ้าดู บางรายให้ความสนใจอย่างจริงจังและเริ่มลงมือทำ แต่เรื่องหนึ่งที่ทุกคนต่างมีความเห็นเหมือนกันคือ ใช้ระบบไฟฟ้า ทางที่ดีที่สุดที่จะประหยัดน้ำมัน ก็คือ การไม่ใช้น้ำมัน อนาคตอยู่ที่นี่แล้วและอย่าเอ็ดไป...... นี่คือทางที่เราจะไป

การไม่ใช้น้ำมันมีความหมายมากต่อผลกำไร แต่กำไรไม่ใช่เรื่องเดียวที่จูงใจให้ผู้ผลิตเลือกเครื่องบินไฟฟ้าเป็นเครื่องบินยุคต่อไป โลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะยุโรป มีการร้องเรียนกันมากเกี่ยวกับอากาศเป็นพิษและภาวะมลพิษทางเสียงที่สนามบินต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็ก ผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้สนามบิน เรียกร้องให้มีการเปลื่อนแปลงแก้ไขในทันที โดยเฉพาะกิจกรรมในช่วงเวลากลางคืน กฏหมายกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสายการบินต้องลดสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ข้อบังคับนี้ส่งต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินเพื่อให้แก้ที่ต้นตอของปัญหา

แอร์บัสเทใจให้กับเรื่องนี้มาก ตอนนี้เข้าไปมีบทบาทเป็นแกนนำในเรื่องการบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไร้เสียง และไม่มีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศ โดยเริ่มทำงานนี้อย่างลับๆ มาเป็นเวลานานแล้ว เพื่อพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์ไฟฟ้าสำหรับยุคต่อไป ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติในทุกมิติ ทั้งรูปร่างหน้าตา ระบบปฏิบัติการบิน และต้นทุน และตอนนี้เริ่มเผยโฉมให้เราได้รู้เห็นเครื่องบินแอร์บัสในอนาคต

เริ่มในปี 2010 แอร์บัสนำเครื่องบินไฟฟ้าที่นั่งเดียวชื่อ Cri-Cri ไปแสดงที่ Paris Air Show แต่บินได้ไม่ดีนัก เป็นที่ขบขันของผู้ชม ในปี 2015 แอร์บัสนำเครื่องบินที่นั่งเดียวที่ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ชื่อ E-Fan เป็นเครื่องบินไฟฟ้าเหมือนกันแต่ใช้ ducted fans แสดงการบินจากอังกฤษ ข้ามช่องแคบอังกฤษ มาลงจอดที่เมือง Calais ของประเทศฝรั่งเศส ระยะทาง 74 กิโลเมตร ภายในเวลา 38 นาที รอบนี้ได้รับแต่การชื่นชมเมื่อลงจอด

เป้าหมายของแอร์บัสที่จริงไกลกว่าแค่การผลิตเครื่องบินไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับตลาดเครื่องบินทั่วไปที่จำกัด แต่ต้องการวางรากฐานเพื่อการผลิตฝูงเครื่องบินพาณิชย์สำหรับอนาคต รวมถึงการพัฒนาระบบไฮบริดกึ่งไฟฟ้า (hybrid electric airliner) ที่ใช้พลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ E-Thrust ซึ่งเป็นการร่วมมือกับบริษัท Rolls Royce ของอังกฤษ

ในเวลาเดียวกัน แอร์บัสได้เปิดการร่วมมือกับ Siemens ของเยอรมัน ผู้ผลิตอุปกรณ์ประกอบเครื่องบินของยุโรป นำระบบไฮบริดนี้ใช้กับเครื่องบินพาณิชย์รุ่นแรก ที่สามารถขนส่งผู้โดยสารประมาณ 100 คน เครื่องบินไฮบริดของแอร์บัสจะสิ้นเปลืองน้ำมันน้อยลง 25-50% และจะทำงานแบบเงียบมากเมื่อใช้พลังไฟฟ้าอย่างเดียวหมุน ducted fans 6 ตัว สร้างพลังผลัก (thrust power) ในระหว่างที่บินขึ้นและบินลง เมื่อเครื่องบินไต่ขึ้นอยู่ในระดับสูงแล้ว เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันจะเริ่มสร้างกระแสไฟฟ้าไปหมุน ducted fans และสร้างพลังไฟฟ้าสะสม

แอร์บัสมีแผนที่จะนำเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์แบบไฮบริดออกจำหน่ายในปี 2030 โดยคาดว่าเครื่องบินเหล่านี้จะมีระยะทางบินไกลถึง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเพียงพอที่จะบินไปกลับในเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และวางแผนจะสร้างขนาดใหญ่ขึ้นอีก ถึงขีดความสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ 200+ คน ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่พ้องกันได้พอดี !