ธรรมะ (ชาติ) ของชีวิต
k.koch



ตอนที่ 11 ปล่อยวางได้เมื่อไหร่ก็จะหมดทุกข์เมื่อนั้น

เมื่อพูดถึงการปล่อยวาง ผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจไปว่า การปล่อยวางก็การไม่สนใจ ใยดี ไม่รับผิดชอบ ในเรื่องราวต่าง ๆ แต่การปล่อยวางไม่ได้หมายว่าอย่างนั้น แต่จะหมายถึง การไม่มั่นถือมั่น การไม่ยึดติด ไม่หลง ไม่เกาะเกี่ยวในสิ่งใด จิตจะไม่ไปผูกติดกับทิฐิใด ๆ ในเรื่องใด ๆ ที่จะทำให้จิตของเรานั้นเป็นทุกข์

หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับตน คนที่รู้จักการปล่อยวาง เขาก็พยายามแก้ปัญหานั้นทีละจุดอย่างชาญฉลาด ไม่จมปลักอยู่ในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้และทำให้เกิดทุกข์ หากมีคนต้องการความช่วยเหลือ เขาก็ไม่ได้เมินเฉย แต่ก็จะช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ เพียงแต่เขาจะไม่นำทุกข์ของคนอื่นมาเป็นของตน

จิตมนุษย์มักจะยึดสิ่งต่าง ๆ มาเป็นของตนเอง เช่น ร่างกายของเรา ลูกเมียของเรา บ้านของเรา เงินทอง ของมีค่า ต่าง ๆ เป็นของเรา ยศถาบรรดาศักดิ์นั้นเป็นของเรา การยึดติดกับสิ่งเหล่านี้ หากวันใดวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ดับลง ตามกฎไตรลักษณ์ว่าด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป การดับไปของสิ่งต่าง ๆ ที่เรายึดว่าเป็นของเรานั้นก็จะทำให้เป็นทุกข์ การไม่ได้มาในสิ่งที่ต้องการก็เป็นทุกข์ ลูกรักเจ็บป่วยไม่สบาย ไม่มีท่าทีว่าจะหายก็เป็นทุกข์ สูญเสียคนอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ บ้านเรือนผุพังตามกาลเวลาก็เป็นทุกข์ เงินทองของมีค่าหายไปก็เป็นทุกข์ ถูกปลดออกจากหน้าที่การงานก็เป็นทุกข์ หาเงินไม่ได้ดั่งที่ใจต้องการก็เป็นทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่รู้จักปล่อยตัวทุกข์นั้นทิ้งไปเสียบ้าง การปลดปล่อยความทุกข์ที่ว่านี้ลงไป พระพุทธเจ้าเรียกคำคำนี้ว่า การปล่อยวาง

การปล่อยวางเป็นธรรมะขั้นสูง ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้สาวกไม่ยึดติด ไม่หลงในลาภยศสรรเสริญ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ทั้งปวง แม้แต่ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพื่อปลดปล่อยให้จิตมีอิสระ หลุดพ้นจากพันธะบนโลกใบนี้และตัดขาดจากการเวียนว่ายตายเกิด เนื่องจากการยึดติดในสิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ เช่น ยังมีจิตผูกพันกับคนรัก จิตยังยึดติดกับทรัพย์สิน เงินทองของตนที่พยายามสั่งสมมาตลอดชีวิตและปกป้องมันด้วยชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นบ่วงที่จะทำให้ดวงจิตดวงนี้ไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฎสงสารนี้ได และจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธองค์ทรงสอนให้สาวกทั้งหลายรู้จักวิธีการปล่อยวาง เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฎสงสารนี้

แต่เราในฐานะคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ยังมีความรัก โลภ โกรธ หลง และต้องมีภาระหน้าที่เพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัวซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา เป็นตัวการทำให้เกิดทุกข์ การนำเทคนิคการปล่อยวางมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน อีกทั้งยังช่วยปูทางให้เราได้เดินเข้าไปสู่ความว่างเปล่าและหลุดพ้นจากวัฎสงสารนี้ได้อีกด้วย

วิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดการปล่อยวางเป็นอุบายในการแก้ทุกข์ หรือแก้ความเครียดที่เป็นประโยชน์มาก และสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น

- ทำสมาธิอย่างน้อยวันละ 15 นาที

- แผ่เมตตาให้เป็นนิตย์ เพราะเป็นการส่งความรักให้กับคนรอบข้าง เป็นเกราะป้องกันศัตรู

- ฝึกการให้อภัยให้เป็นเรื่องง่าย ไม่ผูกอารมณ์โกรธเอาไว้นาน ๆ

เมื่อเราเกิดความเครียดหรือความทุกข์ก็ให้รู้ว่า ความทุกข์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียว พระพุทธเจ้าก็เคยมีความทุกข์ และพระองค์ก็ได้ค้นพบว่า ทุกสิ่ง ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป หากเราไปยึดติดกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา แน่นอนว่าสิ่งนั้นก็จะต้องมีวันดับไปอย่างแน่นอน หากเราทำความเข้าใจกฎไตรลักษณ์ที่ว่านี้แล้ว เราจะเข้าใจได้เลยว่า การดับสลายของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้เป็นของธรรมดา การตายเป็นของธรรมดา การเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เป็นของธรรมดา เปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราให้เข้ากับกฎไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฎธรรมดาของธรรมชาติ หากเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ความทุกข์ก็ไม่เข้ามากล้ำกลาย อีกทั้งความทุกข์ก็เช่น มันเกิดขึ้นได้ มันก็ดับได้ตามกฎไตรลักษณ์นี้เช่นกัน

ในเมื่อทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป บทความธรรมะ (ชาติ) ของชีวิตบทนี้ ก็มีการเกิดขึ้น จากนั้นก็ตั้งอยู่ได้ 11 ตอน และวันดับก็มาถึงแล้ว เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ที่ตัดลงไปในกฎไตรลักษณ์แทบทั้งสิ้น

ผู้เขียนขอขอบพระคุณทีมงานหนังสือพิมพ์คนไทยในแอลแอที่ให้โอกาสในการเขียนบทความในครั้งนี้ และขอขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่ให้เกียรติติดตามผลงานมาโดยตลอดและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้ที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดออกไป จะเป็นแนวทางให้ท่านได้นำพาดวงจิตดวงนี้กลับคืนสู่จิตแท้ จิตเดิม จิตประภัสสร ในสถานที่ที่ไม่มีการเกิดแก่เจ็บตายอีกแล้วตลอดกาล


k.koch