ธรรมะ (ชาติ) ของชีวิต
k.koch



ธรรมะ (ชาติ) ของชีวิต ตอนที่ 3 การทำสมาธิเบื้องต้น

สมาธิเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่แพร่หลายมานานตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลและไม่ได้จำกัดอยู่แค่ศาสนาพุทธเท่านั้น เจ้าชายสิทธัตถะได้นำการทำสมาธิมาเป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญเพียร เพื่อความหลุดพ้นและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา การทำสมาธิจึงรู้จักกันแพร่หลายมากยิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังได้รับรองจากทั้งวงการแพทย์แผนปัจจุบันและนักวิทยาศาตร์ว่าสมาธิมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน

พระพุทธเจ้านำศาสตร์นี้มาสอนให้ชาวพุทธได้ปฏิบัติตามเพื่อความหลุดพ้นและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันนั้น จะต้องเจอเรื่องราวสารพัดอย่างที่เข้ามาให้คิดและตัดสินใจ เรื่องบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องไร้สาระที่เข้ามารบกวนจิตและวุ่นวายจนหาที่สงบไม่ได้ ความคิดเหล่านี้จะทำให้สูญเสียพลังอย่างมาก หากร่างกายที่ไม่ได้รับการพักผ่อนย่อมทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแอ และจะทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมา จิตใจก็เช่นกัน เมื่อจิตใจเหนื่อยล้าก็จะพาลทำให้ร่างกายอ่อนแรงลงได้

เมื่อร่างกายอ่อนแอก็ต้องการออกกำลังกายซึ่งเป็นการบริหารร่างกายให้แข็งแรงและสุขภาพดี จิตใจก็จำเป็นต้องบริหารเช่นกัน แต่การบริหารจิตนั้นแตกต่างกับการบริหารร่างกายอย่างสิ้นเชิง การทำสมาธิคือศาสตร์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นำมาเผยแพร่ คือการอยู่นิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ทำจิตใจให้นิ่งสงบ ซึ่งเป็นการบริหารจิตใจที่ดีที่สุด เป็นการรวบรวมจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียว เหมือนคำกล่าวที่ว่า สามัคคีคือพลัง พลังเหล่านี้สามารถทำกิจการงานให้บรรลุผลได้ การทำสมาธิก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราทำจิตให้สงบ รวมจิตของเราให้นิ่งสนิทรวมเป็นหนึ่งเดียว จิตก็จะเกิดพลัง พลังเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างคาดไม่ถึง เช่น สามารถรักษาโรค ช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดอาการเจ็บปวดทางร่างกาย ลดความเครียดและอาการซึมเศร้า ทำให้มีสติสัปชัญญะ คิดแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบคอบ อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ


ระดับของสมาธิมี 3 ระดับ

1. ขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะ เป็นความสงบขั้นต้น เป็นการบริหารจิตให้พร้อมสำหรับชีวิตประจำวันทั้งการงานและการเรียน ทำให้สมองปลอดโปร่ง มีความคิดสร้างสรรค์ คิดตัดสินใจและแก้ปัญหาได้อย่างรอบคอบและชาญฉลาด สมาธิระดับนี้เหมาะสมกับทุกคน ทุกเพศทุกวัย

2. อุปจารสมาธิ คือ สมาธิเริ่มแน่วแน่ขึ้นแต่น้อยกว่าระดับอุปปนาสมาธิ

3. อัปปนาสมาธิ ขั้นนี้จิตจะตั้งมั่น นิ่งสนิท เป็นสมาธิระดับฌาณสมาบัติ คือปฐมฌาณขึ้นไป จิตจะตัดออกจากร่างกาย ฌาณระดับนี้เป็นระดับที่ทำให้จิตเริ่มมีปัญญา คือปัญญาในทางธรรมที่จะเป็นทางเดินสู่สถานที่ที่ไม่มีการเกิดแก่เจ็บตายอีกแล้ว

การทำสมาธิในทางพุทธศาสนาสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา และไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมาย คิดจะทำสมาธิที่ไหนก็ทำได้ทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้ที่เริ่มต้นใหม่ยังไม่ทราบว่าจะเริ่มตรงจากไหนดี ในบทนี้จึงขอแนะนำวิธีเริ่มต้นง่าย ๆ เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติได้เลย

1. ชำระร่างกายให้สะอาด ในกรณีที่เพิ่งกลับมาจากการทำงาน ร่างกายอาจจะเหนียวเหนอะหนะ การทำความสะอาดร่างกายเสียก่อนจะช่วยให้รู้สึกสบายตัวขึ้น หากทำสมาธิหลังจากตื่นนอนก็สามารถข้ามข้อนี้ไปได้เลย

2. สวมใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าสีขาวตามรูปแบบการทำสมาธิในวัดตามที่เราเคยเห็นมา แต่หากรู้สึกว่าใส่ผ้าสีอื่นไม่สะอาดพอก็สามารถเลือกใส่สีขาวได้เพื่อความสบายใจ

3. หามุมที่สงบ พื้นหรือที่นั่งไม่นุ่มหรือแข็งขนเกินไป ควรเลือกห้องที่เงียบไม่มีเสียงรบกวน หากในบ้านไม่มีห้องพระ ก็ควรเลือกใช้ห้องนอนหรือห้องที่ไม่มีใครเดินผ่านไปผ่านมารบกวนในขณะทำสมาธิ ปรับอุณหภูมิห้องพอสบาย ๆ ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป

4. หากนับถือศาสนาพุทธก็ควรกราบพระรัตนตรัยหรือสวดมนต์ก่อนเริ่มนั่งสมาธิ แต่ถ้ามีเวลาจำกัดหรือไม่ได้นับถือศาสนาพุทธก็สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้

5. เตรียมท่านั่งด้วยการนั่งขาขวาทับขาซ้าย มือวางที่หน้าตักมือขวาทับมือซ้าย ยืดตัวตรง ท่านั่งและการวางมือสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของร่างกายซึ่งไม่มีหลักตายตัว หากไม่สะดวกในท่านั่งพื้นก็สามารถนั่งเก้าอี้หรือนั่งพิงได้ เพื่อรองรับร่างกายไม่ให้เกิดอาการเจ็บปวด ไม่มีท่านั่งใดที่จะช่วยให้เราทำสมาธิได้ดีที่สุดเท่าท่านั่งที่ทำให้เราสบายที่สุด

6. เมื่อหาที่นั่งได้แล้วก็เริ่มต้นด้วยการสูดหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ สัก 2 – 3 ครั้งเพื่อผ่อนคลาย หากรู้สึกไม่สบายก็สามารถขยับหรือเปลี่ยนท่านั่งได้

7. ค่อย ๆ หลับตาเบา ๆ เหมือนหลับตาเพื่อการนอนหลับและไม่เม้มตาเข้าหากัน เพราะร่างกายจะเกร็งและไม่สามารถผ่อนคลายได้ ปล่อยใจให้สบาย ๆ ให้ว่าง ทำสมองให้ปลอดโปร่ง ทิ้งเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ทิ้งความกังวลและปัญหาต่าง ๆ นานาออกไปชั่วคราว

8. เริ่มจับความรู้สึก ด้วยการกำหนดลมหายใจ การจับลมหายใจนั้นสามารถเลือกทำได้ตามความสะดวก เช่น

- ดูที่ลมหายใจเข้าออก ให้ตามดูการหายใจและมีสติรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นทางร่างกาย หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจสั้นก็รู้ หายใจยาวก็รู้ ให้ตามดูลมหายใจของเราไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ต้องภาวนาอะไร หากทำแบบนี้ได้ก็ทำไปเรื่อย ๆ ได้เลยจนจิตรู้สึกสงบลง หากมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น ปวดหลังก็ให้รู้ทันว่าปวดบริเวณไหน หากเกิดอาการคันก็ให้รู้ทันว่าคันที่บริเวณไหน

- จับลมหายใจเข้า ออกเย็น ๆ ที่ปลายจมูก หรือที่ลิ้นปี หรือจุดสิ้นสุดของลมคือบริเวณสะดือ ให้เลือกจับที่ใดที่หนึ่งของลมเข้าออกก็ได้

9. คำภาวนาสามารถเลือกได้ตามความศรัทธา ตามครูบาอาจารย์ที่เราศรัทธาและสอนต่อ ๆ กันมา เช่น ใช้คำภาวนาร่วมเมื่อหายใจเข้า ให้ภาวนา “พุท” หายใจออก ภาวนา “โธ” หรือ นะมะ พะทะ หรือ ระลึกชื่อ สมเด็จพ่อองค์ปฐม เป็นต้น

10. ในการเริ่มต้นทำสมาธินั้นแน่นอนว่าจะต้องมีอารมณ์ฟุ้งซ่านเข้ามากระทบ เมื่อรู้สึกตัวได้ก็ให้กลับมาตั้งสติใหม่อีกครั้ง อารมณ์ฟุ้งซ่านนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะมันก็คือความคิดของเรานี่เอง โดยปกติในชีวิตประจำวันของเรานั้นไม่ว่าในขณะที่เรากำลังทำอะไรอยู่ สมองของเราก็กำลังคิดเรื่องอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่ากำลังคิดอยู่ โดยปกติแล้วคนเราจะคิดวันละประมาณ 60,000 ถึง 80,000 ครั้งต่อวัน ซึ่งเฉลี่ยก็ประมาณ 2,500 – 3,300 ครั้งต่อชั่วโมง แต่ในชีวิตประจำวันนั้น เราไม่ได้เวลาเฝ้าตามดูความคิดที่ผ่านเข้ามาในสมอง แต่การทำสามาธินั้นเราไม่ได้ทำอย่างอื่น ทำให้เรารู้ว่ามันมีความคิดเหล่านี้แล่นผ่านเข้ามาในหัวอย่างมากมาย จนแทบจับใจความไม่ได้ คนส่วนใหญ่จึงอ้างว่าทำสมาธิไม่ได้ เพราะมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้เลย แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นไม่ทราบว่าในความเป็นจริงนั้น อารมณ์ฟุ้งซ่านเหล่านี้ก็มีอยู่ในสมองของเรามาตลอดชีวิต มันไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เพียงแต่เรามันแต่ได้ให้ความสนใจกับมันเท่านั้นเอง

11. เมื่อจิตรวมกันได้ระดับหนึ่ง จิตเริ่มสงบจากนี้อาจจะมีอาการแปลก ๆ บางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังลอยเคว้งคว้าง ตัวหมุน ตัวเบา ตัวสั่น ขนลุก โอนเอน โคลงเคลง อาการเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้นกับทุกคน หรือเกิดขึ้นแค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ให้วางเฉยอาการเหล่านี้ ไม่ต้องตกใจกับอาการที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้ตกอยู่ในอันตราย เรานั่งอยู่ในห้องที่อบอุ่นและปลอดภัย ขอให้มุ่งไปที่ลมหายใจตั้งใจให้แน่วแน่ หากจิตเรื่มทรงตัวอาการเหล่านี้ก็จะหายไป

12. ต่อจากนี้ไปหากมีอาการมีสุข ปลื้มปิติ มีความสุขหรือเย็นสบายไปทั่วร่างกาย หรือเห็นนิมิตก็ให้วางเฉยอาการเหล่านี้ไป ไม่ต้องไม่ติดใจกับความสุขเหล่านี้ ไม่ต้องติดใจกับภาพนิมิตที่สวยงามที่ผ่านมาให้เราได้ชม ขอให้โฟกัสไปที่ลมหายใจเช่นเดิมแล้วจิตจะสงบนิ่ง นิ่งสนิทและไต่เข้าสู่ระดับสมาธิขั้นสูงต่อไป หากเราติดอยู่กับความสุขและนิมิตที่เห็นนั้น จิตจะไม่สามารถไต่ขึ้นสู่สมาธิระดับสูงได้ เพื่อไปพบกับทางสว่างในทางธรรมได้

13. ใช้เวลานานเท่าไหร่ในการทำสมาธิ การทำสมาธิจะไม่มีเวลากำหนดตายตัวว่าจะต้องทำวันละเท่าไหร่ แต่โดยประมาณก็ควรทำวันละ 20-30 นาทีต่อวันเป็นอย่างน้อย เพื่อจะให้เกิดประโยชน์เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่หากต้องการสมาธิในขั้นสูงนั้นจำเป็นจะต้องใช้เวลามากขึ้น เมื่อทำได้จนชำนาญแล้วการไต่ระดับฌาณก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นและไม่ต้องใช้เวลานาน ๆ เลย

การทำสมาธิไม่มีอริยบทตายตัว สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าในขณะนั่ง เดิน หรือแม้แต่การนอนก็สามารถทำสมาธิได้ การหยุดพักเหนื่อยจากการทำงาน เอนหลังบนเก้าอี้แล้วหลับตาทำสมาธิสักพักก็สามารถทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย ปล่อยวางจากความเครียดในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดีเพราะการทำสมาธิเป็นการสร้างความสุขให้ตัวเอง ความสุขที่ได้จากสมาธินั้นเป็นสุขที่ร่มเย็นและอิ่มเอมใจที่สามารถหาได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุและเทคโนโลยีราคาแพงต่าง ๆ มาสนองความสุข อีกทั้งยังช่วยเปลี่ยนคุณภาพชีวิตในระยะยาวอีกด้วย หากได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง หรือหนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตเพื่อความสำเร็จในชีวิตในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทั้งการงาน การเงินและครอบครัวซึ่งเขียนโดยนักเขียนหรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วและได้นำประสบการณ์จริงมาถ่ายทอด หนังสือเหล่านี้แทบทุกเล่มจะแนะนำให้ทำสมาธิร่วมกับขั้นตอนอื่น ๆ ด้วย นั่นไม่ใช่เพราะเหตุบังเอิญ แต่เป็นเพราะการทำสมาธินั้นสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ได้จริง ๆ และการเปลี่ยนคุณภาพชีวิตด้วยการทำสมาธินี้ สามารถทำได้กันทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจนหรือจะมีอวัยวะครบทั้ง 32 ประการหรือไม่ก็ตามก็สามารถทำสมาธิได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน