สารพันวรรณนา

อ.ประภาศรี



เมียงมองเมียนม่าร์

ผิวพม่า ตาแขก คือความงามของสาวชาติพันธุ์เอเซียน ตกสาวไทยไปเพราะต้องเป็นเบญจกัลยาณี แยะไป นั่นคือ เกสกลฺยนํ ผมงาม อฏฺฐิ กัลฺยาณํ เนื้องาม อฏฺฐิ กลยาณํ ผิวงาม วยกลฺยาณํ วัยงาม เอาชนะตรงความแปลกคือวัยงามก็แล้วกัน

ดูภาพรวม หญิงไทยรวมๆ ไม่เตี้ยมาก ไม่ขาวซีด ไม่ดำเป็นเหนี่ยง ไม่ตาตี่ชั้นเดียว ยิ่งแก่ยิ่งงาม ว่าเข้านั่น ความจริงแล้ว ชาติพันธุ์ภูมิภาคอาเซียนก็ผสมกลมกลืนกัน พม่า มอญ แขก จีน นับญาติกันไปมาก็พี่น้องกัน อีกหน่อยก็จะรวมหลอมเป็นอาเซียนหนึ่งเดียวกัน ไม่ต้องเจรจากันไปพร้อมระเบิดรายวันกันไปอย่างทุกวันนี้

พื้นแผ่นแดนดินถิ่นนี้ เหมือนสายน้ำรี่ไหล จากภูเขาหิมาลัยหรือเหนือไปกว่านั้น จนมาถึงใกล้เข้ามา ลาว พม่า จีน เขมร เวียดนาม จากส่วนบนสิบสองปันนา มีพม่า-มอญเป็นคู่แฝดไปจนสุดด้ามขวานทองออกไปถึงสิงคโปร์ ไทยเรามีลุ่มเจ้าพระยา เห็นสายธาราไหลล่อง พม่าก็มีดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ติดต่อเมาะตะมะทะเลอันดามัน แหล่งปลูกข้าวใหญ่ มีเมืองสำคัญ เช่น ย่างกุ้ง หงสาวดี สิเรียม สะเทิม ฯลฯ

พื้นที่ตอนกลางของพม่า เป็นเขตกึ่งทะเลทราย แห้งแล้งกว่าอีสานบ้านเฮา มีบ่อน้ำมันยีนางยอง เมืองสำคัญคือพุกาม แปร ระหว่างแม่น้ำอิระวดีกับสาละวินเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ ราชธานีตั้งอยู่ภูมิภาคนี้ คือ มัณฑะเลย์ อังวะ อมรปุระ สะกาย แถบที่ราบสูง ตอนเหนือติดกับจีน ลักษณะที่ราบสูง เป็นที่ตั้งรัฐคาน มีไทใหญ่เป็นประชากรหลัก อุดมด้วยทรัพยากร แร่ธาตุ ป่าไม้และอัญมณี

จากเทือกเขาบริเวณรัฐกะฉิ่น ออกทะเลอันดามันที่อ่าวเมาะตะมะนั้นผ่านมาจากแม่น้ำสาละวิน เทือกเขาหิมาลัยในทิเบต จะเห็นว่าทรัพยากรของพม่าอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร น้ำมันปิโตรเลียม แร่สังกะสี ป่าไม้ ดีบุก อยู่ดีกินดีด้วยธรรมชาติ กุ้งพม่ามีชื่อมากแต่แพ้ต้มยำกุ้งของไทยแน่นอน ยังติดความคิดตามวัยอยู่ ผู้ใหญ่รุ่นเราคงยากที่จะปรับใจให้เป็นหนึ่งเดียวอาเซียนอย่างฉับพลัน

ต้นตระกูลเชื้อสายพม่าคือชาวปยู (Phu) ริมฝั่งฟ้ารุ่งอิระวดี ที่บุเรงนองคร่ำครวญ ไปรบอยู่แห่งไหน ใจคะนึงถึงเจ้า เคยเล้าโลมโฉมแม่ ข้ากลับมาเมืองแปร มองเหลียวแลแสนเปลี่ยวเปล่า....มีเมืองหลวงชื่อศรีเกษตร ในพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นเวลาที่พวกมอญไปตั้งอาณาจักรตอนใต้ พวกปยูตั้งมั่นอยู่ไม่นานก็ถูกกองทัพน่านเจ้ารุกรานจนเสียราชธานี พม่าต้องไปตั้งอยู่เมืองพุกาม ต่อมาพระเจ้าอโนรธามหาราชของพม่ารวบรวมดินแดนเป็นของพม่า พวกปยูดั้งเดิมเป็นชนเผ่ารักสงบ ค้าขายกับพม่าและจีน นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท

ไหนๆ จะเข้ายุคหนึ่งเดียวอาเซียน อ่านประวัติศาสตร์ ต้องทำใจมองด้วยความเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับมาประวัติศาสตร์ชาติไทย เพลงไทยครั้งเก่า ถูกชาติอื่นทำลาย จึงฝ่าลงใต้ มาอยู่ในแหลมทองแสนไกล นั่นคือยุคสร้างบ้านแปลงเมืองบรรพบุรุษทุกฝ่ายต่างปกป้องฝ่ายตน บรรพชนที่เป็นผู้นำต้องเสียสละเลือดเนื้อ จนเป็นศูนย์รวมจิตใจของพลเมือง

สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ชาวไทยเคารพ ถึงคำว่า จงรักภักดี มิได้ได้มาโดยง่าย ต้องนอนกลางดินกลางทราย นำหมู่ต่อสู้เพื่อรักษาเอกราชชาติไทย สืบทอดมายาวนาน ความลึกซึ้งถึงขึ้นศรัทธาสดุดีเป็นสมมุติเทพ เป็นการใช้ภาษาที่ผ่านสุนทรียศิลป์ขั้นวรรณคดีที่สืบทอดกันมา จนเป็นเอกลักษณ์ของชาติ คือชาติ พระพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ พระพุทธศาสนาคือศาสนาประจำชาติไทยมาช้านาน สืบต่อมาจนถึงตราตรึงอยู่ในหัวใจพุทธศาสนิกชนปัจจุบันไม่มีวันเสื่อมคลาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชฯ ทรงงานพระราชกรณียกิจหนักด้วยโครงการในพระราชดำริกว่าสี่พันโครงการจนเหลือคณานับ ทรงเป็นศูนย์รวมน้ำใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน เพราะเสด็จพระราชดำเนิน “เข้าถึง” หัวใจชุมชนทั้งในเมือง ทรงบุกป่าเขาลำเนาไพร เสียงคนชรา คนเจ็บ คนตกทุกข์ยากแค้นลำเค็ญ เสียงเรียกว่า “พ่อ...พ่อหลวง” ที่บางคนบอกว่าใช้ภาษาไม่ถูก อยากจะติงนักภาษาไทยว่า จะเรียกอะไรก็เรียกได้ ถ้าหัวใจคนเรียกรู้สึกอย่างนั้น แม้ฟ้ามิอาจกั้น สาอะไรกับแค่ภาษาจะมากันไม่บ่งตง จุงเบย ก็บุญแล้ว พ่อหลวงที่เรียกกันไม่ได้แปลว่าผู้ใหญ่บ้าน แต่หมายถึงพ่อของแผ่นดินทุกหนแห่ง เคยเขียนกลอนอยู่บทหนึ่งไว้สอนเด็กๆ ว่า

พ่อ ของฉันมีพระคุณอุ่นเหนือเกล้า
พ่อ ของเรามีเมตตา มหาศาล
พ่อ ของชาติ คือ “ในหลวง” ทรงห่วงงาน
พ่อ ปกบ้านเมืองไทยให้ร่มเย็น....ฯลฯ

แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากไปพม่าก็เพราะเคยเห็นรูปแขวนที่บ้านคุณตาที่ลำพูน แต่งกายนุ่งโสร่งโพกผ้าศรีษะเป็นบรรพบุรุษที่มาจากสิบสองปันนา ญาติลำพูนของเราสวยทุกคน ผิวขาว ขนาดคุณพ่อของผู้เขียนเป็นชาวอยุธยาผิวคล้ำ ทหารม้าหนุ่มจากสระบุรี มารบสงครามบูรพา ไปเจอคุณแม่กำลังก้าวขึ้นรถสามล้อ ก็เลยเริ่มเรื่องละครสาวเครือฟ้าแต่จบแบบมีความสุข คือมีลูกหลานสืบมาก็เพราะความสวยของคุณแม่ ลูกหลายคนมีทั้งขาวทั้งคล้ำ เหมือนเสียงเพลง ผู้หญิงที่สวยอย่างคุณ ทำบุญมาด้วยอะไร จึงสวยน่าพิสมัย น่ารักน่าใคร่พริ้มเพรา คงถวายมะลิหน้าพระ วรรณะจึงได้นวลขาว ผู้เขียน คงหาดอกมะลิไม่เจอ ได้แต่ดอกจำปาเลยคล้ำเหลืองมาทางอยุธยา แถมอู้คำเมืองบ่จ้าง เพราะเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ ดังนั้นเมื่อเพื่อนรุ่นน้องครุศาสตร์คนหนึ่ง บังเอิญพบกันในงานเลี้ยงชวนไปพม่า ความที่สนิทกันแม้ต่างรุ่น เธอชวนว่า “อู๊ดไปพม่ากันไหม” คำตอบทันควันภายในเสี้ยวนาทีคือ “ไป” คนชวนตาค้างเลย ยังไม่ทันบอกว่าจะไปอย่างไร ไปกับใคร มีใครไป ฯลฯ แล้วก็ไปจริงๆ เพื่อนคนนี้ชื่ออุษณา กาญจนทัต คำนำยาวเชียวเข้าเรื่องเมียงมองเมียนมาร์ได้

สายเลือดหมายถึงชาติพันธุ์ โคตรเหง้าศักราชของเราเอง เราก็อบากรู้ว่าบรรพบุรุษเรามาจากไหน ฝ่ายพ่อหาง่ายเพราะเป็นลูกชาวนาอยุธยา เดี๋ยวนี้ญาติลูกหลานรวยเพราะที่นาราคาสูง มีพ่อเราจนเพราะลูกแยะ เรียนแต่หนังสือ แถมพ่อแม่เข้าวัด เป็นนักการเมืองที่ไม่กินอิฐหินดินทราย เหมือนเพลง คนโกงกินอิฐ กินหิน คนโกง กินดิน กินทราบ ปราบพวกนี้เสียให้วาย เมืองไทยจะรุ่งเรืองตลอดกาล เพลงเก่ามาก ที่ว่าเห็นรูปพ่อของคุณตานุ่งโสร่ง จึงสงสัยว่าเรามีเชื้อพม่าหรือเปล่า คงสนุกดี สงคราม 9 ทัพไม่รู้จะเข้าข้างใคร ถามพี่ชาย (พลโทจุมพล สุดบรรทัด) ซึ่งเกิดที่ลำพูน อยู่จนโตบ้านคุณตา เขาบอกว่ารูปนั้นเป็นรูปคุณทวด เป็นพ่อหลวงของไทยใหญ่ คุณยายก็เหมือนกัน เป็นพวกไทยยองที่อยู่แถวป่าซาง บ้านโฮ่ง มาจากสิบสองปันนา ทางน่านเจ้า สรุปแล้วสายเลือดฉันเป็คนไทย ไหลมาจากแยงซีเกียง หรือบางตำราว่าอยู่ที่เราอยู่นี่แหละ เป็นยุคสร้างบ้านแปลงเมือง นุ่งโสร่งเหมือนกัน โพกผ้าปล่อยปลาย ใครเคยถ่ายรูปที่เชียงใหม่ แต่งกายแบบนั้นแหละ หาใช่พม่าไม่ ท่านเจ้าคุณพระธรรมดิลก วัดเจดีย์หลวง ปราชญ์ล้านนา ที่มรณภาพไป ก็เชื้อสายทางคุณยาย และคุณแม่ ท่านเมตตาพวกเรามาก เรียกคุณแม่ว่าโยมพี่พูนศรี ท่านเขียนไว้อาลัยคุณแม่ว่า คุณพูนศรี สุดบรรทัดเป็นคนมีบุญทีได้สร้างไว้แต่ปางก่อน จึงมีสามีที่ดีเป็นคู่ชีวิตและมีทายาทที่ดี.......สวนลำไยของคุณตาปัจจุบันคือวัดป่าสวนลำไย มีรูปคุณพ่อคุณแม่ติดอยู่อย่างสง่างาม ด้วยเหตุนี้จึงไปเมียงมองเมียนมาร์ให้รู้เรื่องกันไปฉะนี้แล

จำเนียรกาลครั้งพระพุทธศาสนาแผ่เข้าสู่ลังกาโดยพระมหินทเถระ เป็นการเริ่มต้นวัฒนธรรมสิงหล เพราะได้นำอารยธรรม สังฆารามเจดีย์ อรรถกถา พระไตรปิฎก ซึ่งท่านพุทธโฆษาจารย์แปลเป็นภาษาบาลีจากภาษาสิงหล ผลงานอธิบายพระไตรปิฎกสู่คนรุ่นหลัง ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมทรงส่งพระอุบาลีและคณะสงฆ์มาลังกา สามเณรที่ได้รับการอุปสมบทแบบไทยรูปแรก คือ สามเณรสรณังกร ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งลังกาใน “นิกายสยามวงศ์” เป็นองค์แรก

นอกจากนี้ ยังมีสามเณรกลุ่มหนึ่ง ออกไปรับอุปสมบทในพม่ากลับมาตั้ง “อมรปุรนิกาย” อีกพวกไปเมืองมอญ เข้ามาตั้ง “รามัญนิกาย” เกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ต่อมาท่านศรีเทวมิตรธรรมปาละ ตั้งมหาโพธิสมาคมและพื้นฟูพระพุทธศาสนา เมื่อลังกาได้เอกราช ตั้งโพธิสมาคม และสมาคมยุวพุทธิกแห่งสากลสิงหลมีระบบการปกครองคณะสงฆ์ 3 คณะนิกายคือ สยามนิกาย อมรปุรนิกาย และรามัญนิกาย

พระพุทธศาสนาในพม่าและมอญ เริ่มจากสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช สายงานของพระโสณะและพระอุตตระ เริ่มจากเถรวาท ต่อมามหายานนิกายตันตระก็เข้ามาโดยสายศิษย์ของพระวสุพันธุนำไป ครั้งนั้นพม่ามีพุกามเป็นเมืองหลวง เรียกพวกตนเองว่า “มรัมมะ” ส่วนพวกมอญหรือเตลง มี สะเทิมเป็นเมืองหลวง แดนเถรวาท กลุ่มนิกายตันตระ พระมีภรรยาได้ ดื่มเหล้าได้ เรียกตนเองว่าลัทธิครูอรี

ต่อมาสังฆมนฑลรามัญแตกกันเป็น 6 คณะใหญ่ พระธรรมเจดีย์โปรดให้รวมคณาจารย์ออกไปอุปสมบทใหม่ที่ลังกา พระเจ้ากรุงลังกาทรงรับอุปถัมภ์ จัดอุปสมบทสงฆ์รามัญใหม่โดยผูกเรือขึ้นกลางแม่น้ำกัลยาณีเป็นนทีสีมา โปรดตั้งสมณศักดิ์พระรามัญ ชวนกันกลับหงสาวดี พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงขอให้พระสึกหมดทั้งแผ่นดิน แล้วกลับมาบวชใหม่ในคณะกัลยาณีนี้ สังฆมณฑลหงสาวดีจึงกลับเป็นหนึ่งเดียวกันอีก จนพระเจ้าธรรมเจดีย์สวรรคต ก็แตกแยกกันใหม่

ทางประเทศลานนา-เชียงใหม่ พระเจ้าติโลกราชทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ทำสังคายนาที่วัดมหาโพธาราม ปัจจุบันคือวัดเจดีย์เจ็ดยอด พอถึงรัชสมัยพระเจ้าเมงกะยินโย ครองตองอูของพม่า ส่วนไทยใหญ่ครองอังวะ มอญครองเมืองแปร

พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ครองหงสาวดี ถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนองเป็นผู้ชนะสิบทิศ ไปตีไทยใหญ่ได้ ทรงขอพระเขี้ยวแก้วจากลังกาแต่บาทหลวงชาวปอร์ตุเกสขัดขวาง นำพระเขี้ยวแก้วมาตำเผาไฟทิ้งทะเลให้ชาวพุทธดู ทูตพม่าผิดหวังกลับไป ตอนหลังปรากฎว่าพระเขี้ยวแก้วที่ถูกตำเป็นของจำลองขึ้นใหม่ ของจริงแท้ยังอยู่ที่เมืองแคนดี ศรีลังกา เหมือนต้นโพธิตรัสรู้ของจริงที่อินเดียเสียหายสิ้น แต่ที่สมณทูตนำไปปลูกจากรากต้นจริงก่อนนั้นเป็นมหาโพธิจริง ฟังความแล้วก็ได้ติดตามคณะธรรมาทัวร์ไปนมัสการที่แคนดีมาเรียบร้อยนานแล้ว ติดใจไร่ชา สวยมาก มีน้ำตกหลายสายนับไม่ถ้วน เห็นชาวพุทธเตร่งมาก สาธยายมนต์เดินจากที่เห็น เดินไปไหนๆ กลับมากลุ่มเดิมยังสวดกันอยู่ นั่งยองๆ เหลาชันเข่า ชราภาพอย่างเราไม่สู้แน่

พระเจ้าบุเรงนองส่งทูตไปขอธิดาพระเจ้ากรุงลงกาเพื่อเป็นมเหสี ลังกาไม่มีราชธิดา จึงส่งลูกสาวเสนาบดีไปแทน พร้อมทั้งปลอมพระเขี้ยวแก้วใหม่ ส่งให้บุเรงนอง บุเรงนองให้สร้างหงสาวดีใหม่ ตั้งชื่อประตูยอดสามประตูว่า ประตูอังวะ เชียงใหม่ และอยุธยา เป็นผู้ชนะสิบทิศ มีประเทศราชคือ อังวะ แปร เชียงใหม่ อยุธยา ยะไข่ ลานช้าง และหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง ต่อมาพระยาทะละหัวหน้ามอญเชิญพระภิกษุชาติกะเหรี่ยงนามพระสะล่าสึกและขับไล่พม่าออกจากเมืองมอญสำเร็จ ขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี แผ่ขยายมาตีเมืองแปรและตองอู ทรงนามพระเจ้าสทิงทอ ให้ทูตมาขอราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ไม่สำเร็จ ไปขอธิดาพระเจ้ากรุงเชียงใหม่ ไม่สำเร็จ ฝ่ายมอญจับฝ่ายวงศ์พม่า ตีอังวะแตก เป็นยุคที่มอญมีอิทธิพลมากที่สุด แล้วค่อยๆ เสื่อมลงเมื่อปอร์ตุเกสเข้ามาช่วยพระเจ้ายะไข่ปราบขบถมีความชอบ ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองสิเรียม แผ่ศาสนา พระมอญอพยพไปอังวะ ร่วมกันขจัดฝรั่ง มอญจึงมีเอกราชยึดครองอังวะ ไม่นานมีพรานชื่ออลองพญา ตั้งหมู่บ้านโชโมเป็นราชธานี ลงมาตีหงสาวดี สร้างปราสาท 7 ชั้น ข่มขวัญพระเจ้าหงสาวดี จนหงสาวดีแตก อลองพญาเผาทั้งเมืองเป็นเอกราชของมอญครั้งสุดท้ายราว 7 ปีแล้วถูกชนชาติพม่ากลืนหมด

ในสมัยพระเจ้าปะดุง พม่าอัญเชิญพระพุทธรูปศรีเมืองยะไข่คือ พระมหามัยมุนี ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 5 ศอกคืบ สร้างสมัย พ.ศ. 689 พระเจ้าอโนรชามังช่อทรงใช้วิธีให้ถอดพระเป็น 3 ท่อน ลากข้ามภูเขามา พระเจ้าปะดุงโปรดให้สร้างวิหาร ช้าวบ้านบูชามากยิ่งกว่าพระพุทธรูปทั้งปวง พม่ายกทัพ 9 ทัพมาตีไทย กำลังพลนับกว่าแสน แตกไปทุกทัพ ไทยยกทัพตีพม่า ได้เมืองทะวายเป็นเมืองขึ้น พ.ศ. 2336 แล้วยกไปตีพม่าแต่พ่ายแพ้กลับมา พระเจ้าประดุงโทมนัสที่ตีไทยไม่สำเร็จ สร้างเจดีย์ สิงโต ระฆัง สระน้ำ สูงสามวา แต่สร้างไม่เสร็จ

พ.ศ. 2404 พระเจ้าเมนดงมินทร์ สร้างวิหารบนเขามัณฑเล แล้วสร้างพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ ชี้ไปทางเมืองมัณฑเล มีพระอานนท์หมอบเฝ้าอยู่ มีพุทธพยากรณ์ว่าจะมีเมืองรุ่งเรือง สร้างและขนานนามว่า พระชะเวยัตเตา อาราธนาพระทำสังคายนา ร้อยกรองพระไตรปิฎก พร้อมจารึกอรรถกถาฎีกา ประดิษฐานในพระสถูปมหาโลกมารชินะ ปัจจุบันเรียกว่าเจดีย์กุโสดอ จารึกเสร็จสมบูรณ์ปี 2411 รวมพระไตรปิฎก 729 แผ่นจารึก พระวินัย 101 แผ่น พระสูตร 520 แผ่น พระอภิธรรม 108 แผ่น รวม 729 แผ่น และอรรถกถา 1774 แผ่น ห่างจากเจดีย์กุโสดอ 3-4 เส้น

พระพุทธศาสนาในพม่า แยกเป็น 2 คณะใหญ่ คือนิกายพม่าและนิกายมอญ มีพระสังฆราชองค์เดียวกัน พระอกโปสะยาดอเคร่งครัดขัดแย้งพระสังฆราช แตกออกพาลัทธิวิหาริกอันเตวาสิกมาตั้งคณะที่เมืองสะกายแต่ยังร่วมสังฆกรรมกัน พอท่านมรณภาพ ศิษย์ประกาศแยกเป็นคณะใหม่ และแยกย่อยกันเป็น 4 นิกาย พอพม่าเสียเอกราชแก่อังกฤษ พระยิ่งแตกกัน ย่อหย่อนเคร่งครัดวินัยต่างกันไปตามคณาจารย์ บ้างเล่นการเมือง ดูภาพยนตร์ สิ้นพระสังฆราช พุทธบริษัทเข้าชื่อให้อังกฤษตั้งใหม่ แต่ไม่ค่อยเชื่อฟังยำเกรงกัน รัฐบาลพม่ายุคได้เอกราชหมายจะรวมคณะสงฆ์ จึงตั้งสภารวมนิกายสงฆ์ จัดพิธีสังคายนาใหญ่ เจตนาเป็นผู้นำกลุ่มเถรวาท นิมนต์พระสังฆนายเป็นสมัยมาร่วมเป็นประธานพิธีโดยมีพม่าเป็นผู้นำ

พระเล่นการเมือง รัฐบาลมีทั้งผลดีผลเสีย มีการเดินขบวน สมัยนายกรัฐมนตรีอูนุ ประกาศให้เลิกสอนศาสนาในโรงเรียน เพราะพม่าพวกกะเหรี่ยงนับถือคริสเตียนกันมาก พวกลูกผสมกับแขกก็นับถืออิสลามมาก พอประกาศ คณะสงฆ์ย่างกุ้ง สะกาย อังวะ มัณฑเลย์ เดินขบวนคัดค้านหน้าพระมหาธาตุชะเวดากอง รัฐบาลยอมแพ้ ให้โรงเรียนพุทธบริษัทจัดสอนวิชาพุทธศาสนาตามเดิม พระสงฆ์พม่ามีพลังคัดค้านคำสั่งรัฐบาลโดยอดข้าวบ้าง เดินขบวนบ้าง ประชาชนก็เข้ากับพระ เป็นชาวพุทธที่เข้มแข็ง พุทธศาสนาในพม่าจึงต้องฟังเสียงพระด้วย บางทีพระสงฆ์คัดค้านคำสั่งห้าม ประกาศจะอดข้าว ประธานาธิบดีก็ประกาศจะอดข้าวถ้าคณะสงฆ์ไม่เห็นใจ ก็อะลุ้มอล่วยกันไปได้ อย่างนี้ก็มี เป็นการแก้ปัญหาแบบชาวพุทธด้วยกัน


(อ่านต่อฉบับหน้า)