ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 17 พฤศจิกายน 2561

เกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยธปท. หนุนธุรกรรมก่อนเม.ย. 2562 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2936)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดจาก Consultation Paper และเลื่อนวันประกาศใช้เกณฑ์ใหม่สำหรับสัญญากู้ซื้อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่เป็นวันที่ 1 เม.ย. 2562 (จากกำหนดการเดิมที่จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2562) โดยจะยกเว้นกรณีที่มีสัญญาจะซื้อจะขาย หรือมีการผ่อนดาวน์ก่อนวันที่ 15 ต.ค. 2561 ซึ่งนับเป็นการผ่อนคลายเงื่อนเวลาให้มีการปรับตัวเพื่อลดแรงกดดันต่อตลาดที่อยู่อาศัยและทิศทางการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน รวมถึงลดผลกระทบต่อผู้ที่วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยหรือผ่อนดาวน์อยู่ก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ธปท.ปรับการคำนวณสัดส่วน LTV โดยให้นับรวมสินเชื่อ top-up ที่อ้างอิงหลักประกันเดียวกันเข้าไว้ในการคำนวณสัดส่วน LTV เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของหนี้โดยรวม และลดโอกาสของผลกระทบจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกัน แต่ก็มีการยกเว้นให้กับสินเชื่อ top-up บางรายการ ได้แก่ สินเชื่อประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ซึ่งนับเป็นเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าที่มีการเสนอใน Consultation Paper

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธปท. เป็นมาตรการเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเงื่อนไขของมาตรการที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น (เมื่อเทียบกับ Consultation Paper) คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ช่วงเวลาประมาณเกือบ 5 เดือนหลังจากนี้ในการที่จะทำแคมเปญเพื่อเร่งกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ซึ่งจะหนุนธุรกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. 2562 สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มเร่งตัวต่อเนื่องไปจนถึงช่วงไตรมาสแรกปี 2562 ขณะที่ ในช่วงที่เหลือของปี 2562 กิจกรรมในตลาดที่อยู่อาศัยและภาพสินเชื่อบ้าน คงจะขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภค และการแข่งขันของผู้ประกอบการ ในจังหวะเวลาที่ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น