ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 18 พฤษภาคม 2562

ความต้องการเซ็นเซอร์รถยนต์ไฟฟ้าไทยในอีก 5 ปี พุ่งแตะ 30 ล้านชิ้น โตก้าวกระโดดกว่าร้อยละ 58 ต่อปี (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2992)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการเซ็นเซอร์เพื่อเป็นชิ้นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สืบเนื่องจากมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้น การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่เน้นเพิ่มระบบความปลอดภัยมากขึ้น และการเริ่มผลิตรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าของหลายค่ายรถซึ่งมีการใช้เซ็นเซอร์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณเซ็นเซอร์ที่ใช้ในรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเฉลี่ยราว 45 ชิ้นต่อคันในทศวรรษก่อนหน้า มาเป็นราว 60 ชิ้นต่อคันในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

ทั้งนี้ ปี 2562 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนทิศทางความต้องการเซ็นเซอร์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยให้มุ่งสู่เซ็นเซอร์ในรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากค่ายรถแต่ละค่ายในไทยจะเร่งลงทุนและเปิดตัวรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ซึ่งบางส่วนได้เริ่มมีการลงทุนประกอบรถยนต์ไปบ้างแล้วตั้งแต่ปี 2561 ขณะที่การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ในไทย อาจต้องใช้ระยะเวลาอีกซักพัก เมื่อโครงข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้ามีความพร้อมมากขึ้น แต่ก็น่าจะไม่นานเกินไปกว่าปี 2564 ตามเงื่อนไขบีโอไอที่กำหนดให้ต้องมีการผลิตรถยนต์ขึ้นจริงในประเทศภายใน 3 ปี หลังจากได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะ 5 ปีนับจากนี้ ความต้องการเซ็นเซอร์ในการผลิตรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 58 ต่อปี ตามปริมาณการผลิตรถยนต์ HEV/PHEV ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและการส่งออก ส่งผลให้ในปี 2566 คาดว่า จะมีความต้องการเซ็นเซอร์ในการผลิตรถยนต์ HEV พุ่งขึ้นแตะ 23 ล้านชิ้น รองลงมาเป็นรถยนต์ PHEV ที่ 6 ล้านชิ้น และรถยนต์ BEV จะอยู่ที่เพียง 0.9 ล้านชิ้น