ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 15 มิถุนายน 2562

ในปี 2561 จำนวนตู้เอทีเอ็มและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์มีจำนวนลดลง โดยมีอัตราการเติบโต -0.98% YoY ลดลงจาก 5.17%YoY ในปี 2560 และเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 35 ปี

ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้เงินสดที่ลดลง ส่งผลให้ความคุ้มทุนในธุรกิจเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ถูกท้าทาย ประกอบกับแรงจูงใจทางด้านต้นทุนที่ทำให้ผู้ให้บริการหันมารุกช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการให้บริการทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็มสูงกว่าการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลถึง 30 เท่า ทั้งนี้ บริบทความคุ้มทุนของธุรกิจเอทีเอ็มครอบคลุมทั้งประเด็นที่เป็นตัวเงิน และประเด็นอื่น ๆ ที่มิใช่ตัวเงินด้วย อาทิ ความพึงพอใจของลูกค้า ความสะดวกของลูกค้าในการเข้าถึงบริการทางการเงิน

หากพิจารณาวัฏจักรความคุ้มทุนของธุรกิจเอทีเอ็มที่คำนวณจากสัดส่วนปริมาณธุรกรรมบนตู้เอทีเอ็มต่อจำนวนตู้เอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์ อาจสามารถจำแนกออกเป็น 4 ช่วง คือ 1.ช่วงเริ่มลงทุน 2.ช่วงคุ้มทุน 3.ช่วงเริ่มไม่คุ้มทุน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า บริบทความคุ้มทุนของธุรกิจเอทีเอ็มเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากตู้เอทีเอ็มที่ให้บริการในบางจุดเริ่มถูกแทนที่ด้วยโมบายแบงก์กิ้ง ดังจะสังเกตได้จากปริมาณธุรกรรมต่อจำนวนตู้ที่เริ่มปรับตัวลดลง อันส่งสัญญาณถึงทิศทางความคุ้มทุนในเชิงตัวเงินที่เริ่มลดลงตาม และ 4.ช่วงเริ่มไม่คุ้มทุน ที่จำนวนตู้เอทีเอ็มที่เกิดวามไม่คุ้มทุนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้า และอาจกระทบต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจเอทีเอ็มในอนาคตให้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบปัจจุบันซึ่งขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจำแนกเป็น ผลประโยชน์ของลูกค้า อาทิ ความต้องการใช้เงินสด และ ผลประโยชน์ของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นตัวเงิน เช่น ต้นทุนและรายได้ในการดำเนินงาน และผลประโยชน์ที่มิใช่ตัวเงิน อาทิ Branding ของผู้ให้บริการที่อาจได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม หากความต้องการใช้เงินสดลดลงอย่างรวดเร็วอาจเป็นปัจจัยที่เร่งให้การประกอบธุรกิจเอทีเอ็มในอนาคตเกิดขึ้นในลักษณะการใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกันระหว่างธนาคาร ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทุก ๆ การลดลง 5% ของจำนวนตู้เอทีเอ็มที่มีทั่วประเทศในปัจจุบัน จะช่วยลดต้นทุนทั้งหมดในการประกอบธุรกิจเอทีเอ็มให้แก่สถาบันการเงินทั้งระบบได้ 5,220 – 5,880 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.03 ต่อจีดีพีโดยประมาณ อย่างไรก็ดี ต้นทุนที่จะลดลงยังคงขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้เอทีเอ็มร่วมกันในอนาคตตามกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่จะประกาศใช้ในระยะข้างหน้า และการเจรจาร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง