ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 16 กุมภาพันธ์ 2562

ฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ที่มีความถี่และยาวนาน...คาดผลต่อเศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 14,500 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2965)

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่ยังคงมีต่อเนื่องและคาดว่าอาจมีโอกาสล่วงเลยไปถึงเดือนมีนาคม 2562 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทบทวนประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของค่าเสียโอกาสจากประเด็นด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว รวมถึงการประเมินผลกระทบครอบคลุมในประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมในส่วนที่เกิดจากค่าเสียโอกาสของภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากการที่ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดผลกระทบ ผ่านการจัดทำผลสำรวจพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯและปริมณฑล ดังนี้

1. ผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑล จากค่าเสียโอกาสในประเด็นสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยวและอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 14,500 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากกรอบเวลาที่นานขึ้น และการเพิ่มเติมค่าเสียโอกาสบางรายการ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทันทีหลังจากเกิดปัญหาดังกล่าว ได้แก่

-ค่าเสียโอกาสจากประเด็นเรื่องสุขภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ ที่ผ่านมาประชาชนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ก็เกิดอาการเจ็บป่วยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ตามระยะเวลาของปัญหาที่ยาวนานขึ้น

-ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว นอกจากจะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่มีการปรับแผนการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว อาจส่งผลกระทบเพิ่มเติมในกลุ่มคนกรุงเทพฯ บางกลุ่ม ที่มีการชะลอแผนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศด้วย

-การใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปรับพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเผชิญฝุ่นละออง เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องฟอกอากาศ การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ คือ ร้านอาหารข้างทาง สวนอาหาร หรือร้านอาหารที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง ซึ่งเกิดจากการที่ประชาชาชนหลีกเลี่ยงการเผชิญกับปัญหาฝุ่นละออง

2. ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 88.0 ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน แต่ถึงกระนั้น คนส่วนใหญ่ต่างมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับฝุ่นละอองและลดผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการออกไปจับจ่ายซื้อสินค้า หรือการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป การใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง การหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงการปรับแผนการท่องเที่ยวไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการงดกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจได้สร้างความตื่นตัวให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ซึ่งช่วยทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงบ้าง อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาระยะยาวยังจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่องและจริงจังที่นำโดยภาครัฐ ร่วมมือกับเอกชนทุกภาคส่วน และแน่นอนว่า หากสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน นอกจากสุขภาพของประชาชนที่จะได้รับการดูแลแล้ว ก็จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศเช่นกัน