บนเส้นทางธุรกิจ
พลอยชมพู



บนเส้นทางธุรกิจ 16 พฤศจิกายน 2562

วิสัยทัศน์และบทสัมภาษณ์เอกอัครราชทูต ฯ ธานี ทองภักดี ระหว่างการเยือนนครลอสแองเจลิส

นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันและคุณณพนุช ทองภักดี ภริยา ได้ร่วมพบปะพูดคุยกับผู้แทนสมาคม ชมรมและผู้นำชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิสและเมืองใกล้เคียงกว่า 70 คน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ณ อาคารที่ทำการ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรกันมายาวนานว่า 186 ปี และการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศในการพัฒนาชุมชนไทยในสหรัฐฯ ให้เข้มแข็ง รวมทั้งได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอถึงความรู้สึกและวิสัยทัศน์ในการมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในครั้งนี้

เอกอัครราชทูตฯ ธานีได้กล่าวกลับชุมชนไทยว่า ในการกลับมาทำงานครั้งนี้พยายามที่จะประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลไทย ซึ่งแต่เดิมสินค้าการเกษตรที่สหรัฐนำเข้าจากประเทศไทยมีเข้ามามากแต่ขณะนี้ธุรกิจมีการแข่งขันกันมากขึ้น เนื่องจากมีประเทศใกล้เคียงอย่างเช่น เม็กซิโก สามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรและมีความได้เปรียบในเรื่องของค่าขนส่ง ดังนั้นจึงมองหาโอกาสที่จะขยายการค้าและสร้างความร่วมมือในด้านอื่นด้วย อาทิเช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงาน ด้านเศรษฐศาสตร์ดิจิตอล และด้านการศึกษา

การพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการในการขยายการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมาก ซึ่งเป็นส่วนที่จะดึงเอาผู้อยู่ในภาคธุรกิจนี้จากสหรัฐเข้าไปลงทุนในประเทศไทย ส่วนเรื่องของพลังงานนั้น รัฐแคลิฟอร์เนียถือได้ว่ามีความก้าวหน้าในเรื่องของพลังงานหมุนเวียนมากเป็นที่หนึ่งของโลก ซึ่งเรามีเป้าหมายจะใช้พลังงานสะอาดให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ. 2036 นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สามารถเกิดขึ้นระหว่างไทยและสหรัฐ

จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่า “Internet of things” นั้นเราก็ต้องการที่จะดึงเอาคนไทยเก่ง ๆ ที่ทำงานในซิลิคอน วัลเลย์กลับไปช่วยเหลือประเทศไทย และท้ายสุดคือ เราต้องพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่ม “STEM” (กลุ่มที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกร (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematic): ผู้เขียน) ซึ่งจะมีผลต่อความก้าวหน้าของประเทศในยุคใหม่ ผ่านความร่วมมือทางด้านการศึกษา โดยรัฐแคลิฟอร์เนียมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอยู่มากมาย จึงอาจจะมีการสนับสนุนให้เปิดแคมปัสในประเทศไทย หรือผ่านความร่วมมือด้านอื่น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ทางการศึกษาของแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขณะนี้ไทยเราก็เป็นที่ซึ่งมีนักเรียนต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านมาเรียนกันมากอยู่แล้ว

ในส่วนของการดูแลชุมชนไทยสหรัฐอเมริกา เอกอัครราชทูตฯ กล่าวว่า ชุมชนที่นี่มีจำนวนมาก ถือว่าเป็นชุมชนไทยที่ใหญ่มากที่สุดในโลกก็ว่าได้ ซึ่งด้านอาณาเขตของพื้นที่ ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลฯ ในเขตต่าง ๆ ก็จะพยายามมีกิจกรรมกงสุลสัญจรออกไปเพื่อให้บริการและรับฟังปัญหาจากประชาชน อย่างสม่ำเสมอ

ส่วนเรื่องปัญหาการที่สหรัฐประกาศจะตัดสิทธิ์พิเศษทางการค้าจีเอสพีซึ่งจะมีผลกับภาษีนำเข้าของสินค้าที่มีผลกระทบ 573 รายการนั้น ยังไม่มีผลบังคับใช้จนถึงเดือนเมษายนปีหน้า (พ.ศ. 2563) โดยปัญหาที่เขาท้วงติงมาเป็นเรื่องของมาตรฐานแรงงานไทย ซึ่งทางกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ประชุมหารือร่วมกันและกำลังขอเจรจาเพื่อให้ประเทศสหรัฐมีการทบทวนเรื่องดังกล่าวอยู่

หลังการพูดคุยกับชุมชนแล้ว เอกอัครราชทูตฯ ธานี ได้ให้สัมภาษณ์กับทางหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ ซึ่งขอถ่ายทอดบทสนทนามาให้ทราบดังนี้

ไทยแอลเอ: อยากทราบความรู้สึกของท่านทูตฯ ที่ได้กลับมารับตำแหน่งที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้งค่ะ

เอกอัครราชทูตฯ ธานี: รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ความไว้วางใจจากรัฐบาลให้มาเป็นเอกอัครราชทูตที่นี่ เพราะที่นี่มีความรับผิดชอบสูงมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในด้านมิติของเศรษฐกิจ สังคม หรือเรื่องของชุมชนไทย เพราะที่นี่ถือว่ามีชุมชนไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลกประมาณ 5 แสนคนด้วยกัน เพราะฉะนั้นถือว่าความรับผิดชอบสูงมาก ความท้าทายสูงแต่ก็จะพยายามอย่างสุดความสามารถ

ไทยแอลเอ: การที่ท่านเคยมาประจำการที่นี่แล้วคิดว่าท่านสามารถนำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมามาช่วยงานได้อย่างไรบ้างคะ

เอกอัครราชทูตฯ ธานี: คิดว่าเป็นต้นทุนที่ดีอยู่ เพราะการที่เคยมาประจำที่สถานทูตไทยฯ ที่กรุงวอชิงตันเมื่อปี 2001-2004 ซึ่งเพื่อนร่วมงานก็ดีหรือคนที่เราติดต่อทั้งภาครัฐและเอกชนของสหรัฐหลายคนก็ยังอยู่ในวงการ เพราะฉะนั้นจึงรู้จักกับหลายคนที่ยังทำงานร่วมกันอยู่ การที่เราพอมีความรู้บ้างเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐก็เอื้อต่อการทำงานของเรา

ไทยแอลเอ: คิดว่าชุมชนไทยที่นี่ต่างหรือเหมือนอย่างไรกับชุมชนไทยที่อื่นคะ

เอกอัครราชทูตฯ ธานี: ชุมชนไทยที่นี่มีจำนวนมากที่สุดคือมากกว่า 5 แสนคนและมีความหลากหลายมาก มีตั้งแต่รุ่น 1 รุ่น 2 ความต้องการหรือประเด็นปัญหาที่เขาประสบอยู่ที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยก็จะมีความหลากหลายมาก ซึ่งต่างจากประเทศอื่น หลายคนอยู่ที่นี่มา 40-50 ปี สิ่งที่เขาต้องการก็จะต่างจากคนไทยรุ่น 2 และรุ่น 3 หรือคนที่เพิ่งมา ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้เขารู้เราว่ามีประเด็นใดที่ชุมชนไทยให้ความสำคัญ ต้องการให้เราเข้ามาช่วย ในขณะเดียวกันเราก็ต้องดูว่าเรามีศักยภาพที่จะเข้าไปช่วยอะไรได้บ้าง ดังนั้นจึงจะต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

ไทยแอลเอ: ท่านมีวิสัยทัศน์ที่อยากจเป็นชุมชนไทยที่นี่เป็นอย่างไรบ้างคะ

เอกอัครราชทูตฯ ธานี: โดยศักยภาพชุมขนไทยที่นี่มีสูงมาก แค่จำนวน 5 แสนคนนี่ ถ้าหากเป็นไปได้อยากจะสนับสนุนให้คนไทยที่นี่มีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับรัฐหรือประเทศ เพราะในระบบการเมืองของสหรัฐ เขาจะฟังเสียงของชุมชนในท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะฉะนั้นถ้าชุมชนไทยในอเมริกาจับกลุ่มกันเป็นกลุ่มและสามารถผลักดันประเด็นที่เป็นที่สนใจและเป็นความต้องการของชุมชนเองได้มากกว่า ก็อยากจะสนับสนุนให้ลองดูว่าจะมีบทบาทในเมืองของสหรัฐได้อย่างไร เช่นเมื่อประเทศไทยต้องการที่จะผลักดันในเรื่องใด ถ้าหากชุมชนไทยให้การสนับสนุน สส.สว.เขาก็ต้องฟังอยู่เหมือนกัน

ไทยแอลเอ: ท่านเห็นว่าในการทำงานมีเรื่องอย่างไรที่ท้าท้ายบ้างคะ

เอกอัครราชทูตฯ ธานี: สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ใหญ่มาก ในการที่จะต้องแข่งขันกับประเทศอื่น เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญกับประเทศไทย ดังนั้นเราจะต้องเข้าไปหาเขาให้มากทั้งในระดับของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและภาคเอกชน เพื่อที่เขาจะได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของเขาและของเรา

ไทยแอลเอ: ปีหน้าจะเป็นปีที่ใหญ่มากเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสหรัฐ ท่านได้มีมุมมองหรือการเตรียมตัวในเรื่องนี้อย่างไรบ้างคะ

เอกอัครราชทูตฯ ธานี: ทางรัฐบาลไทยพร้อมจะทำงานกับทุกฝ่าย เพราะเราเล็งเห็นว่าในระยะยาว ไทยและสหรัฐเราเป็นพันธมิตรและคู่ค้าระหว่างกัน ดังนั้นไม่ว่าใครจะไม่ว่าใครจะเข้ามาดำรงตำแหน่งบริหารประเทศ ผลประโยชน์ร่วมกันเรามีอยู่เยอะมาก และค่านิยมต่าง ๆ ก็สอดคล้องกัน ดังนั้นเราสามารถร่วมมือกันได้อย่างใกล้ชิด แต่แน่นอนเราก็จะติดตามดูว่าทิศทางของการเมืองสหรัฐฯจะเป็นอย่างไร

ไทยแอลเอ: สุดท้ายนี้ ท่านต้องการให้ชุมชนไทยให้ความร่วมมือกับการทำงานของท่านอย่างไรบ้างคะ

เอกอัครราชทูตฯ ธานี: ชุมชนไทยที่นี่มีศักยภาพมาก มีการศึกษาสูง หลายท่านทำงานในอุตสาหกรรมที่เราอยากจะผลักดันให้มาร่วมมือหรือลงทุนกับไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพวกอุตสาหกรรดิจิตัล เรื่องของไทยแลนด์ 4.0 เรื่องของ STEM เราอยากจะเห็นความร่วมมือระหว่างการศึกษาของสหรัฐกับไทยมากขึ้น และโดยที่คนไทยที่นี่หลายคนก็มีบทบาทในองค์กรเหล่านั้น เราก็อยากจะดูว่าเราจะมีความร่วมมือกันได้อย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งคือคนไทยที่มีบทบาททางด้านนี้จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรของท่านมามีปฏิสัมพันธ์หรือร่วมมือกับไทยได้อย่างไรบ้าง รวมถึงทางด้านวิชาการด้วย

จากบทสัมภาษณ์ของเอกอัครราชทูตฯ ธานีที่ได้ให้กับชุมชนไทยในวันนี้ ทางชุมขนไทยในสหรัฐฯ ก็คงมั่นใจได้ว่าเราได้เอกอัครราชทูตฯ คนใหม่ที่มีความสามารถและวิสัยทัศน์ที่จะช่วยประสานความร่วมมือระหว่างสองประเทศและช่วยผลักดันให้ชุมชนไทยในสหรัฐมีการพัฒนาความเข้มแข็งให้มากขึ้นต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน


วลัยพรรณ เกษทอง

ผู้สัมภาษณ์