สังฆทาน ทานที่มีอานิสงส์มาก

สวัสดีครับ แฟนานุแฟนคอลัมน์ “ลำนำชีวิต” ผมขึ้นหัวข้อเรื่องสังฆทานไว้ ฟันธงได้เลยว่าเกี่ยวกับเรื่องบุญทานการกุศล แน่นอนครับ ในเทศกาลเข้าพรรษาผมก็อยากเอาบุญกุศลมาฝากท่าน และอยากให้ท่านได้อะไรๆ ที่เป็นเนื้อนาบุญจริงๆ วันนี้จึงขอพูดถึงเรื่องสังฆทาน

บุญกิริยาวัตถุมีถึง 10 ประการ แต่เอาย่อเพียงสั้นเหลือ ๓ ประการคือ

๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา

วันนี้จะพูดเรื่องทานมัย ส่วนศีลมัย และภาวนามัย เอาไว้ก่อนเดี๋ยวจะสับสน

ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ทานคือการให้ ให้คนขอทาน ให้คนตกทุกข์ได้ยาก ไฟไหม้บ้าน น้ำท่วมบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันสถานะ บริจาคตั้งทุนมูลนิธิ ตั้งโรงทาน และการทำบุญตักบาตร กับพระสงฆ์องค์เณร งานบุญกุศลตามเทศกาลต่างๆ จัดว่าเป็นการ ทาน การให้ทั้งนั้น แต่ก็มีเหมือนกันบอกบุญ เรี่ยไร ให้ทำทานกันบ่อยๆ ถึงฤดูกฐิน ผ้าป่า งานบวช งานแต่ง ยันงานศพ นี้ผวาไปตามๆ กัน เจอภาษีอาน พอมันมากเกินไปก็ไม่ดี ถึงกับมีการเขียนค่อนแคะ ประชดประชันกันอย่างไม่ไว้หน้าพระ..

“บ้านก็ขัด วัดก็ขูด พูดไม่ออก วัดก็บอก บ้านก็บ่น ทนไม่ไหว
บ้านได้บุญ ส่วนวัด ได้ปัจจัย อีกเมื่อไร เลิกบอกบุญ พ่อคุณเอยฯ”

และยังมีอภัยทาน การให้อภัยกัน ธรรมทาน การให้ธรรมะเป็นทาน ก็จัดว่าเป็นทานมัยเช่นกัน และทานมัยนี้ก็ยังจำแนกได้อีก ๒ อย่างคือ ปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ถวายจำเพาะเจาะจง และ สังฆทาน ทานที่ถวายอุทิศต่อสงฆ์

ท่านที่ชอบทำกัน จัดว่าป็อปปูล่ามากก็คือสังฆทาน ถึงกับมีแม่ค้าพ่อค้าหัวใสจัดเครื่องสังฆทานไว้เป็นชุดๆ สะดวกช็อปที่จะไปถวายพระ ส่วนคุณภาพของพระจะใช้ได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง พระท่านบอกว่า ผ้าสบงที่รับจากสังฆทานบางเจ้า มันบางเหมือนผ้าขาวบาง ใช้ผลัดอาบน้ำพอได้อยู่ แต่ให้นุ่งฉลองศรัทธาออกนอกวัด หมาเห็นเป็นโดนฟัดแน่ๆ เรื่องนี้คนจะทำบุญก็ต้องเอาใจเลือกเฟ้นหน่อย บางครั้งปลากระป๋อง นมข้น ยารักษาโรค ที่แพ็คใส่ไว้หมดอายุแล้ว พระได้ไปก็ใช้ไม่ได้และวัดบางวัดก็จัดเครื่องสังฆทานผ้าไตรจีวรไว้ให้ เพื่อความสะดวกของโยม ไม่ใช่เราไปเอามาเปล่าๆ ต้องถวายปัจจัย (ซื้อ) เอามาเป็นของเราก่อน เอามาเฉยๆ แล้วถวาย เราก็จะได้บุญเฉยๆ เช่นกัน

การให้ทานเป็นการขัดเกลาความเห็นแก่ได้ ความตระหนี่ มัจฉริยะ ความเป็นแก่ตัว ซึ่งจัดว่าเป็นกิเลสอย่างหยาบ ถ้าฝึกการรู้จักให้จนเป็นนิสัยแล้ว จะทำให้ละความละโมบโลภมากลงไป บ้านเมืองที่มีปัญหาคอร์รัปชั่น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความอยากได้ ไม่รู้จักพอไม่รู้จักการเสียสละ

สังฆทาน คือทานที่มีบุญมากอานิสงส์มาก พระพุทธองค์ทรงเห็นการณ์ไกลว่า หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสงฆ์จะต้องเป็นตัวแทนสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา จึงต้องการให้พุทธศาสนิกชนทำบุญกับสงฆ์ เน้นว่ากับ สงฆ์ ครับ ซึ่งมาจากคำว่า..สังฆะ แปลว่า หมู่คณะ ไม่ใช่พระภิกษุ แต่ถ้าพูดว่า พระภิกษุสงฆ์ ก็คือหมู่พระภิกษุ คำว่า สงฆ์ ในความหมายของพระพุทธองค์คือ พระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป จัดว่าเป็นสงฆ์ หลายท่านก็คิดว่า จะถวายสังฆทานทั้งทีต้องนิมนต์พระให้ครบทั้ง ๔ รูปขึ้นไป ก็ถูกต้องครับ ไม่ผิด ทำอย่างนี้แล้วบุญคงยิ่งใหญ่มหาศาล ช้าก่อน..ประสกสีกา ผู้เฒ่าจะขอแฉ ขออภัย.. จะอภิปรายให้ฟัง ถือว่า..ที่นี่เป็นธรรมสภา

การทำบุญทำทานที่จะได้บุญมากอานิสงส์มาก ต้องดูที่ทั้งผู้รับและผู้ให้ ผู้รับเรียกว่า ปฏิคาหก ผู้ให้เรียกว่า ทายก พระสงฆ์คือปฏิคาหก ต้องมีศีลบริสุทธิ์ ละ โลภะ โทสะ โมหะ หรือเป็นพระอริยะตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป สมัยนี้ถ้าจะยากครับ เห็นมีแต่พระอรหันต์ขี่เครื่องเจ็ท ใช้อัฏฐบริขารแบบไฮโซแบรนด์เนม iphone ipad ทั้งน้านละครับ เอาเป็นว่า ท่านเป็นพระกัลยาณสงฆ์ ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำความโลภ โกรธ หลง ได้เบาบาง เป็นผู้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เก็บงำเอาลาภที่ได้มา และหวงแหนเป็นของตนเอง ก็ถือว่าใช้ได้ เป็นปฏิคาหกที่ดี เหมือนผืนนาแปลงดี นี่คือคุณสมบัติของปฏิคาหก

ส่วน..ทายก คือผู้ให้ ท่านให้ดูว่า สิ่งของที่ได้มานั้น ได้มาโดยสัมมาชีพ หรือลัก ฉ้อ โกง ขโมยเขามา ได้มาโดยมิจฉาอาชีวะ อย่างในคุณสมบัติของอุบาสกกำหนดไว้ว่า อุบาสกที่ดีไม่ควรค้าขาย มิจฉาอาชีวะ เช่น ขายอาวุธ ขายมนุษย์ ขายของมึนเมา ขายสิ่งเสพติดให้โทษ ขายยาพิษ

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ หาผู้ศรัทธาสร้างวัด ยายแฟงเจ้าของสำนักโคมเขียว เป็นแม่เล้า ได้เงินทองมาจากหยาดเหงื่อแรงน้ำของคุณโสทั้งหลาย (โสเภณี) มีศรัทธาสร้างวัด สร้างเสร็จก็ตั้งชื่อว่า วัดใหม่ยายแฟง และนิมนต์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มาเทศน์ฉลองวัด สมเด็จท่านเป็นพระจริง ไม่ประจบญาติโยมท่านก็เทศน์ไปตามเนื้อหาว่า..ยายแฟงทำบุญบาทหนึ่งก็ได้พลานิสงส์ผลบุญเพียงเฟื้องสลึง เอวังก็มีดวยประการฉะนี้ ยายแฟงโกรธไปฟ้องร้องกรมการเมือง สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไต่สวนคดีความ สมเด็จโตก็ถวายวิสัชนาว่า เงินของยายแฟงได้มาจากหยาดเหงื่อของหญิงขายตัว ไม่สมัครใจทำงาน เพราะบางคนเป็นหนี้สินยายแฟง ก็บังคับเอาตัวมาขัดดอกเป็นค่าสินไหม เป็นมิจฉาอาชีวะ เมื่อได้ทรัพย์มาไม่บริสุทธิ์ อานิสงส์ผลบุญจึงพร่องไป ทำมากแต่ได้น้อย เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร อย่าแฟงก็เข้าใจดี..ต่อมาวัดนี้ได้รับพระราชทานนามว่า วัดคณิกาผล ชื่อตรงตัวเชียวครับ วัดที่เกิดจากหญิงคณิกา คือหญิงโสเภณี อยู่พลับพลาไชย เขตป้อมปราบฯ กทม.ครับ

คุณสมบัติของทายกก็คือ ทรัพย์ที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เมื่อทรัพย์บริสุทธิ์ ก็ต้องดูที่เจตนาด้วย มีพระพุทธวัจนะว่า.. “เจตนาหัง กัมมัง วะทามิ” ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรา..ตถาคตกล่าวว่า..เจตนาเป็นตัวกรรม คือจะทำอะไรก็แล้วแต่ ดูว่ามีเจตนาหรือไม่ ถ้าไม่มีเจตนาก็สักกะว่าทำ ทำแล้วไม่ค่อยได้มรรคผล หรือส่งผลให้ไม่แรง ไม่ได้ตามปรารถนา แม้แต่กฎหมายบ้านเมืองยังกำหนดไว้ ถ้าฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาหรือไตร่ตรองไว้ก่อน ทำไปด้วยความพลั้งเผลอ โทษก็ไม่รุนแรง เหมือนกันครับ การทำทาน เจตนาต้องประกอบไปด้วยกาลทั้ง ๓ คือ ปุพพเจตนา เจตนาเมื่อก่อนให้ ต้องตระเตรียมวัตถุทานที่จะถวาย มุญจนเจตนา เจตนาที่กำลังถวาย และ อปราปรเจตนา เจตนาเมื่อให้แล้ว ถ้าเจตนาทั้งสามประจวบกัน มีจิตใจปีติอิ่มเอิบ ยินดีในการบริจาคทั้งสามกาล ไม่ข้องใจสงสัย ไม่เสียดายทานนั้นก็มีผลมากมีผลานิสงส์มาก วัตถุทานน้อย เงินน้อย ไม่สำคัญ สำคัญที่เจตนา อย่างที่เพลงเขาว่า.. “นาดีๆ ต้องใช้ข้าวปลูกพันธุ์ดี ถ้าปลูกไม่ดีก็ทำให้เสียที่นา เก็บเกี่ยวไปขายไม่ได้ราคา เสียเวล่ำเวลา เสียที่นาฟรีๆ”

ฉะนั้น ทั้งทายกและปฏิคาหกต้องถึงพร้อมและสัมพันธ์กัน บางคนจะถวายสังฆทาน แต่เจาะจงต้องเป็นท่านเจ้าคุณ พระสมเด็จฯ หรือพระดารานักเทศน์ชื่อดัง ถ้าตั้งใจดังนี้ก็จัดเป็นเพียง ปาฏิปุคคลทาน เป็นการถวายเจาะจงบุคลล ไม่จัดว่าเป็นสังฆทาน การถวายสังฆทาน แม้จะมีพระเพียงรูปเดียว หรือสามเณร แต่ผู้ถวายตั้งเจตนาไว้แน่วแน่ว่า อุทิศต่อสงฆ์ เจตนาเท่านี้ ทานที่ถวายก็เป็นสังฆทาน และของที่ท่านรับไปนั้น เป็นของสาธารณะ พระทุกรูปในวัดใช้สอยได้ นี่แหละครับ สังฆทานแท้

คราวนี้ก็มีพิธี จะถวายเฉยๆ ได้อย่างไร พระท่านก็จะให้ไหว้พระรับศีลก่อน ให้กายวาจาบริสุทธิ์ แล้วก็ตั้งเจตนากล่าวคำถวายสังฆทาน เริ่มต้นด้วย..นะโม ๓ จบแล้วตามด้วย.. “อิมานิ มะยังภันเต, ภัตตานิ สปริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ โอโนชะยามะ, สาธุโน ภันเต, ภิกขุสังโฆ ภัตตานิ สปริวารานิ ปฏิคันหาตุ, อัมหากัง ทีฆรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ

คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพระเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหารและสิ่งของอันเป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งภัตตาหารและบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขของข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ พระก็จะรับว่า สาธุ สาธุ แปลว่า ดีแล้วเจ้าข้า

และตรง..ภัตตานิ ที่ขีดเส้นใต้ไว้ ภัตตะ แปลว่า อาหารที่ปรุงแล้ว ถวายได้ก่อนเพลเท่านั้น แต่ถ้าเป็นของแห้ง จะต้องเปลี่ยนเป็น จตุปัจจยานิ หรือสังฆทานานิ ถ้าเป็นผ้าไตรจีวร ก็เปลี่ยนเป็น ติจิวรานิ หรือเป็นธูปเทียนก็เปลี่ยนเป็น ธูปทีปานี ของแห้งถวายบ่ายค่ำก็ได้ไม่ผิด ทำความเข้าใจไว้อย่างนี้ ผมบอกแล้วว่าพิธีกรรม ทำให้ถูกต้อง ก็เป็นความขลังเพิ่มพลังบุญ

มีเรื่องเล่าการแปลคำ ถวายสังฆทาน ความจริงภาษาบาลีเขาแต่งไว้ดีแล้ว กะทัดรัดครอบคลุมได้ใจความ แต่มรรคนายก หรือพระคุณเจ้าผู้นำถวาย ก็จะแปลให้พิสดารออกไปเพื่อให้เจ้าภาพเข้าใจ มีหลวงพ่อพระครูวัดใหญ่วัดดังในกรุงเทพฯ ที่ผมเคยบวชเรียนมา ท่านเป็นเกจิและพระหมอดู ลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมขึ้นกันตรึม ท่านนิมนต์ให้ผมมารับสังฆทานที่คณะของท่านมีพระ ๕ รูปด้วยกัน รับศีล ตั้งนะโมจบแล้วก็กล่าวคำถวาย อิมานิ มะยัง ภันเตฯลฯ จบบาลีแล้วท่านก็ว่านำต่อ.. ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพระเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหารและสิ่งของอันเป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งภัตตาหารและบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขของข้าพเจ้าทั้งหลาย (น่าจะจบตรงนี้แต่ท่านต่อ) และขอแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลนี้ไปให้ บิดามารดา พี่ป้าน้าอา ปู่ยาตายาย เหลนหลาน พระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ ท้าวจาตุโลกบาลทั้ง ๔ เทวดาอารักษ์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระสยามเทวาธิราช อีกทั้ง เจ้ากรรมนายเวร เจ้าที่เจ้าทาง ผีทุ่งผีท่า ผีป่าผีเขา (ผมเริ่มคิกๆ คักๆ ขำอยู่ในใจ) ผีเจ้าผีดอน ผีนครเชียงใหม่ (พอถึงตอน..ผีนครเชียงใหม่..ผมเอาไม่อยู่แล้วคิกๆ เกือบปล่อยก๊ากออกมา จนพระข้างๆ ต้องสะกิดไว้) ยังไม่จบ.. เมื่อท่านมีทุกข์ ขอให้พ้นจากทุกข์ เมื่อท่านมีสุขขอให้สุขยิ่งขึ้นไป ตลอดกาลนานเทอญฯ ญาติโยมนี้เป็นปลื้มกัน สาธุๆ คิกๆ อุแม่เจ้า..จบเสียที ไม่งั้นผมขำตายแน่

เรื่องสังฆทานก็เอวังด้วยประการฉะนี้ ชอบไหมครับ พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ