รำลึกย้อน..พรวันเกิด

สวัสดีครับแฟนานุแฟนคอลัมน์ “ลำนาชีวิต” พบกันอีกครั้งนะครับ ตามสบายๆ สไตล์ ของผู้เฒ่าหัวใจสะออน วันนี้นึกอยากจะคุยเรื่องวันเกิด เป็นการฉลองวันเกิดย้อนหลังให้กับตนเอง ปีนี้ผมประกาศเป็นทางการว่า งดฉลองวันเกิด งดของขวัญ งดขนมเค้ก ห้ามเอามาเป็นอันขาด พูดทิ้งไว้เท่านี้ก่อน..

ผมเพิ่งพ้นจากการเกิดเป็นปีที่ 58 เมื่อเดือนที่แล้ว เกิดวันไหนก็ไปรู้เลย เพราะสำหรับผมแล้ว วันไหนๆ ก็สำคัญเหมือนกัน ชีวิตผมเริ่มเข้าสู่วัย ชราชน เรียกให้หรูหน่อยก็ว่า ส.ว. คือผู้สูงวัย พูดแล้วกระเทือนทรางไปตามๆ กัน เพราะนักเขียนในไทยแอลเอนี้นับได้เลยตั้งแต่พี่ ไพฑูรย์ สุขกสิกร พี่เพ็ญวิภา โสภาพรรณ คุณ ส.ท่าเกษม และนักเขียนอีกหลายท่าน ดูเหมือนว่าผมเองจะหนุ่มน้อยกว่าทุกท่านที่กล่าวมา ขอคารวะสักหนึ่งจอกด้วยความเคารพในฝีมือและผลงานอันเก๋ากึ๊ก คือเก่าแบบลายคราม (Antique) ผมว่าน่าจะรวมตัวกันตั้ง..ชมรมนักเขียนผู้สูงวัย เหมือนกับคุณวาทิน ปิ่นเฉลียว บ.ก.ต่วย’ตูน ตั้งชมรมใต้ต้นสาเก ถ้านับดูตอนนี้สมาชิกของชมรมนี้ชักร่อยหรอลงไปทุกทีๆ ถามว่า..ทำไม เพราะเหตุไร ? อุแม่เจ้า..เพราะโดนพระกาลกลืนกินไปจนเกือบหมดแล้วนะสิ เป็นไปตามกาลเวลา ปล่อยให้ต้นสาเกยืน Lonely เพราะขาดสมาชิกมาชุมนุมกัน อ้าว !! แล้วมันเรื่องอะไรล่ะ อยู่ๆ ก็ไปแซวพี่ต่วย (แกไม่ยอมให้เรียกว่า คุณต่วย จะด้วยเหตุผลอะไรก็ถามแกเองละกัน ผมไม่เกี่ยว)

ที่ต้องเข้าไปแซวพี่ต่วย เพราะผมเป็นแฟนหนังสือ ต่วย’ตูน เจ้าของสโลแกนที่ว่า การเมืองไม่ยุ่ง การมุ้งไม่เกี่ยว ขอเมา..เอ๊ย ขอฮาลูกเดียว มาอย่างเหนี่ยวแน่นกว่าสามสิบปี ก็พอจะอาศัยตีสนิทแซวเล่น พี่ท่านคงไม่ว่า เพราะแกได้สตางค์ค่าหนังสือจากผมไปเป็นค่ายาดอง (ฉลอง) ใต้ต้นสาเก นับแล้วไม่ใช่น้อยตั้งแต่เล่มละห้าบาท และ ณ วันนี้ต่วย’ตูน ราคา (เมืองไทย) เล่มละแปดสิบบาท ผมซื้อเดือนละสองเล่ม อัตรารวมค่าส่งจากแอลเอ ก็หมดตังค์ไปหลายอัฐอยู่ครับ แต่ด้วยความที่หลวมเนื้อหลวมตัวผูกพันกันมานมนาน จึงยังเป็นแฟนกันมาอย่างยั่งยืน จนกว่าจะตายจากกัน

กลับมาคุยเรื่องวันเกิดต่อ พอถึงวันเกิดคนเราก็คิดถึงแต่เรื่องการฉลอง จัดปาร์ตี้ดื่มกิน ร้องรำทำเพลง ดีหน่อยก็ไปถวายสังฆทานทำบุญที่วัด เป็นการฉลองที่มีโอกาสอยู่รอดปลอดภัยมาได้อีกหนึ่งปี ขนมที่เข้ามามีบทบาทในวันเกิดคือขนมเค้ก ยังไงๆ ก็ขาดไม่ได้เป็นพระเอกเจ้าประจำของงาน ต้องมีการเป่าเค้กฉลองวันเกิด การเป่าเค้กฉลองวันเกิดก็ทำๆ ตามก้นฝรั่งกันมา เป็นอารยธรรมของชาวตะวันตก ก็ไม่ว่ากันเพราะเป็นโลกยุค โลกาภิวัฒน์

ขนมเค้ก มีรากศัพท์มาจากภาษาของชาวไวกิ้ง (Old Norse word) มาจากคำว่า “kaka” ประวัติ เริ่มจากปี ค.ศ. 1843 นักเคมีชาวอังกฤษชื่อ อัลเฟรดเบิร์ด (Alfred Bird 1811-1878) ได้ค้นพบ “ผงฟู” (baking powder) ขึ้น ทำให้เขาสามารถทำขนมปังชนิดที่ไม่มียีสต์ได้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้เนื่องมาจากภรรยาของเขา (Elizabeth) เป็นโรคภูมิแพ้อาหารที่มีส่วนผสมของไข่และยีสต์

สำหรับประวัติขนมเค้กในประเทศไทยนั้น ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2480 ขนมเค้กยังไม่เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปมากนัก จะมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับอารยธรรมตะวันตกหรือใกล้ชิดกับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจ โดยร้านเบเกอรี่ (bakery) ในกรุงเทพฯ มีอยู่ไม่มากนัก ร้านที่เป็นที่รู้จักย่านถนนเจริญกรุงคือร้านมอนโลเฮียงเบเกอรี่ (มอนโล + เฮียง เจ้าของน่าจะเป็นเจ๊เฮียง = ผู้เขียน) ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายทำธุรกิจกับต่างประเทศ และการท่องเที่ยวมีการขยายตัวมากขึ้น ทำให้มีความต้องการบริโภค ขนมเค้ก ขนมปัง เพสตรี้ เพื่อบริการแก่ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ธุรกิจเบเกอรี่ หรือขนมเค้ก ขนมปัง ขนมคุ้กกี้ จึงขยายตัวและเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (อ้างอิง : Whitepokerpiyo ประวัติขนมเค้ก)

ผมอาจจะเป็นคนโบราณ และมักจะมองอะไรไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน ถามว่าเป็นคนผ่าโลกไม่ยอมรับวัฒนธรรมใหม่ๆ หรือไง ? เปล่าครับ ผมยอมรับ แต่ผมก็มีมุมมองเป็นส่วนตัวๆ เรื่องจะฉลองวันเกิดแบบไทยปนฝรั่ง ลูกเมียเขาทำให้ก็ไม่เคยขัด ดีซะอีกได้กินขนมเค้ก ฮาฮา.. แต่ผมชอบตั้งโจทย์เองและตอบเอง เช่นวันเกิดเราฉลองอะไร ? ฉลองทำไม ? วันเกิดแม่เราเจ็บแทบตาย ผมได้เข้าไปอยู่ในห้องทำคลอดที่โรงพยาบาลตอนที่แม่บ้านคลอดลูกสาวเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ถึงได้รู้ซึ้งถึงหัวอกแม่ตอนที่แม่เบ่งเราออกมา เอ้า..คิดถึงหัวอกแม่ในวันเกิดเราก็นับว่าดีแล้ว ได้รำลึกถึงพระคุณท่าน ไม่ควรทำให้ท่านเจ็บช้ำน้ำใจ แต่มาวันนี้ ท่านก็ไม่อยู่ให้เราแทนคุณ เราก็ต้องรับกรรมที่เคยทำกับพ่อแม่ มานั่งตาแดงๆ กับลูกเรา ว่ากันเป็นทอดๆ ไป

เอ้า.. พอมาคิดว่าฉลองวันเกิดตัวเอง.. ปีนี้ตูข้าอายุปาเข้าไป 58 ปีแล้ว นี่มันฉลองให้กับความแก่ของเรานี่หว่า.. เป่าเค้กวันเกิดด้วยหัวใจที่ห่อเหี่ยว ไชโยๆ ขอให้ความแก่จงเจริญ จงมีชัยในความแก่ อุแม่เจ้า.. แก่แล้วมันดีตรงไหนถึงได้ฉลองกันนัก

บางคนอายุประมาณนี้ ก็ประมาณเลขห้าหยกๆ เลขหกหย่อนๆ นี่แหละ ยังไม่ยอมรับว่าตนเองแก่ แต่ผมยอมรับว่าตนเองแก่อย่างหน้าชื่นตาบวม (บวมครับอย่าเปลี่ยน) เพราะเริ่มมองเห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอ๊ะ !! แล้วไตรลักษณ์นี่..มีอะไรให้เห็น ข้อแรก เรื่องความแก่ ก็เป็นอนิจจัง ตัวอย่างง่ายๆ ท่าน พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ท่านเขียนไว้ในต่วย’ตูน สมัยเพิ่งเริ่มดัง (อ้างต่วย’ตูนอีกแล้ว) ท่านให้สังเกตตัวเองเวลาตื่นนอนตอนเช้า เรียกว่าเป็น “มอร์นิ่ง-อนุสสติ” (การเจริญสติทุกเช้า) ชายไทยเมื่อเริ่มมีอาการอย่างนี้คือ “ชอบของขม ชมเด็กสาว เล่าความหลัง หนังตาเหี่ยว เยี่ยวไม่พ้นหัวแม่ตีน” ท่านว่าร้อยทั้งร้อยนะแก่แล้ว และอาจจะแก่เลี้ยวด้วย คือเดินไม่ค่อยตรงทางชอบแวะชอบเลี้ยว เข้าผิดบ้านไปเรื่อย จริงไหมครับ ? เมื่อยังหนุ่มยังแน่น ของขมประเภท มะระ สะเดา ไม่ชอบเอาเลย พ่อแม่บังคับให้กิน หน้าตาเหยเก พอย่างเข้าวัย ส.ว. มันชอบไปเอง พบพานเด็กสาวเดินผ่านทางหน้าบ้าน เป็นไม่ได้เห็นสวยไปหมด เป็นซะงั้นแหละ !! นั่งตรงไหนเป็นต้องเล่าเท้าความความหลัง ประเภทนักเลงหลังวัง (บูรพา) แดง ไบเล่ย์ ปุ๊ ระเบิดขวด เรียกพี่ และข้อสุดท้ายนี้ชัดเลย ฉี่รดหัวแม่เท้าเปียกทุกวัน อุแม่เอ๋ย.. ประเภทตื่นมาแล้วรู้จักหน้าที่เคารพธงชาติเองตามเวลา นานๆ จึงจะมีปรากฏการณ์ให้ตื่นเต้นสักครั้ง พูดแล้วมันช้ำใจ

เคยอ่านหนังสือชุดหลวงตาบ้าน้ำลาย ของท่าน “แพร เยื่อไม้” พูดถึงเรื่องความแก่ไว้คมมาก จำมาได้จนทุกวันนี้

“นั่งก็โอย ลุกก็โอย เป็นดอกไม้โรยไม่มีเกสร
ดวงตาโตที่เคยคมวาว ก็กลับมาขาวเป็นฟางฝ้า
ฟันที่เคยเรียบเป็นระเบียบมุกดา ก็กลับมาเหลือแต่เหงือกแดงแดง
เส้นผมที่เคยดำขลับ ก็มากลายกลับขาวดังแป้ง
ผิวหนังที่เคยเต่งตึงประหนึ่งผิวแตง แม้จะตบจะแต่งก็ไม่เจริญในตา”


เป๊ะเว่อร์ แก่ชัดๆ เลย โดยเฉพาะหัวเข่า จะลุกจะนั่งมัน ก๊อบแก๊บๆ เหมือนเพลารถน๊อตหลวม ต้องหากลูโคซามีน มาบำรุงไขข้อช่วยเพิ่มน้ำมันหล่อลื่น เป็นการขันน๊อตให้แน่นเข้าไว้ ก่อนที่จะนั่งหัวเข่าท่วมหู ใช้ก้นถัดไปแทนการเดิน แว่นตาเมื่อก่อนสองปีสามปีก็เปลี่ยนครั้งหนึ่ง ตอนนี้ต้องวัดสายตาทุกปี มือไม้เริ่มเหี่ยวย่นหยาบกร้าน ขนาดแม่บ้านหาโลชั่นดีๆ มาให้ใช้ ยังเอาไม่อยู่ เห็นดีอยู่แห่งเดียวคือหู หูดียังไง ก็หูยังตึงดีอยู่ครับ คือผมเริ่มพูดเสียงดังขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน เพราะคิดว่าคนอื่นคงไม่ค่อยได้ยินเหมือนเรา โฮโฮโฮ

ไหนๆ จะฉลองวันเกิดทั้งที ก่อนจะเป่าเทียนวันเกิดเราควรมี ชรานุสสติ คือรำลึกถึงความแก่สักหน่อยก็ดีเหมือนกัน ผมว่าประโยชน์ของการฉลองวันเกิด สาระมันอยู่ที่การเห็น.. สัจจธรรมของชีวิต ได้นึกถึงคนที่ให้กำเนิดเรา ได้ทบทวนถึงวันเวลาที่ผ่านมา เห็นความแก่เหมือนเห็น ยมบาลมาเตือน อย่างที่พระพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “นายโคบาลต้อนฝูงโคไปสู่ทุ่งหญ้าฉันใด พญามัจจุราชก็ต้อนเราไปสู่ความตายฉันนั้น” คือเมื่อมีการเกิด ความเกิดต้อนเราไปสู่ความแก่ ความแก่ต้อนเราไปสู่ความเจ็บ และสุดท้าย ความเจ็บก็ต้อนเราไปสู่ความตาย เกิดแก่เจ็บตาย เป็นสังสารวัฏ ฟันหักสักซี่ ผมหงอกสักเส้นก็ต้องมองเห็นสัจจธรรมว่า ท่านมาเตือนเราแล้ว เขาว่าคนเราเมื่อก่อนทำงานเก็บเงินไว้กินไว้ใช้ตอนแก่ แต่เดี๋ยวนี้เอาเงินที่เก็บไว้ไปใช้ในห้อง ICU อย่ารอจนถึงวันนั้นเลยครับ ฮาไม่ออก.. อย่าเพิ่งเหี่ยวกันนะครับ ผมยังไม่ได้เป่าเค้กเลย

ผมเพิ่งผ่านวันเกิดเมื่อเดือนที่แล้วมาได้อย่างปลอดโปร่งหัวใจ เพราะได้ ชรานุสสติ เพลานี้คงถึงบางอ้อแล้วนะครับว่าทำไมผมจึงประกาศเป็นทางการว่า.. งดฉลองวันเกิด งดของขวัญ งดขนมเค้ก ห้ามเอามาเป็นอันขาด

ผมได้เขียนกลอนเป็นของขวัญวันเกิดปลอบใจตนเอง ประทับใจแบบว่าเข้ากระดูกดำเชียวละ !!

“ถึงวันเกิดคราใดหัวใจแป้ว แก่อีกปีหนึ่งแล้วน้องแก้วจ๋า
มันเหมือนวัย..กล้วยไม้ ใกล้โรยรา ทั้งหูตาขาแข้งแรงไม่มี
แต่หัวใจยังแข็งแกร่งเกินร้อย สู้ไม่ถอยศึกเหนือใต้ไม่เคยหนี
แต่เมื่อเช้าตื่นมา..ท่าไม่ดี ฉี่ไม่หนี..หัวแม่เท้า มันเศร้าใจ”


Happy Birthday.. Old Boy !!