กินรำทำเพลงเดอะซีรี่ส “รำ” ตอนที่ 2

ฉบับที่แล้วเขียนถึงการเริ่มต้นเข้าสู่วงการของการรำฟ้อนของกลุ่มพวกเราชาวเบย์แอเรีย ที่มีมาเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว เริ่มกันจากวัดมงคลรัตนาราม เซาท์ ซานฟราน ได้รับการต้อนรับมีพรรคพวกเข้ามาอ่านกันน่าปลื้มใจ ต่างพากันบอกว่าอ่านแล้วกระชุ่มกระชวยคิดถึงความหลังสมัยสาวๆ ก็เลยคิดว่าจะขอลงเรื่องสนุกๆ ของพวกเราสมัยไปร่วมกิจกรรม ทั้งรำทั้งเม้าท์เพลิดเพลินเจริญใจกันที่วัดเซาท์อีกสักตอน ก่อนจะไปร่ายยาวตอนที่พวกเราไปตั้งคณะระบำรำฟ้อนกันที่วัดพุทธานุสรณ์ เมืองฟรีมอนต์ กัน

อันเรื่องราวของพวกเราเพื่อนๆ ที่เกิดขึ้น ณ วัดมงคลเซาท์ซานฟรานนั้น มีเรื่องประทับใจมากมาย พวกเราได้พบกันที่นี่เมื่อสี่สิบปีก่อน กินรำทำเพลงด้วยกัน จนบัดนี้จากสาวใสวัยคุณแม่จนเป็นสาววัยสูงวัยปัจจุบันก็ยังคบหากันอยู่ มีที่ลาจากเราไปรอพวกเราอยู่บนสรวงสวรรค์ก็มีบ้างเป็นสัจธรรมที่ธรรรมดาของโลกมนุษย์

ตอนดิฉันไปวัดเซาท์ลูกสาวสองคนอายุได้ห้าขวบ และหกขวบ ด้วยการชักนำจากพี่น้อย บุญศิริ โด-นอม ที่นั้นเริ่มได้พบพี่ยุพิน แก่นจันทร์ เริ่มจากไปนั่งดูเขาสอนรำละครกัน เผอิญเป็นบุพเพสันนิวาส เอ๊ย ! กรรมดีที่ได้ทำชักนำให้คุณจิ๋ว สุวัฒนา วรรณรักษ์ จำดิฉันได้ว่าเราเคยเรียนที่เดียวกันที่นาฏศิลป์สัมพันธ์ ก็เลยชวนมาช่วยกันสอนเด็กๆ รำ ดังที่ได้เกริ่นไว้เมื่อบทที่แล้ว ก็เลยชวนดิฉันมาช่วยกันสอนเด็กๆ รำละคร

จากนั้นทุกวันอาทิตย์ดิฉันและสามีก็จะพาลูกไปวัด สามีจะเลี่ยงไปนั่งรอที่รถเพราะไม่ชอบคุยกับคนไม่รู้จัก ส่วนดิฉันก็เริ่มรู้จักครอบครัวคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครอบครัวเหล่านั้นนำอาหารมาถวายพระ พระฉันเสร็จเราก็กินร่วมกัน ทุกคนให้ความเป็นมิตร เชื้อชวนคนที่มาวัดร่วมกินข้าว ร่วมคุย สนุกสนาน บางกลุ่มก็มาเงียบๆ บางกลุ่มก็มาแบบสายเฮฮา และสายนี้แหละเป็นดาราประจำวัด คุยกันมันมาก คุยได้ทุกเรื่องและมีความสามารถในการเปล่งเสียงแข่งกัน จนสามีคนหนึ่งของกลุ่มตั้งฉายากลุ่มนี้ว่า “กลุ่มป่าช้าแตก” สามีคนนี้คือ คุณสุธรรม ส่งศิริ สามีของ เจ้าหมู-นพพร และขอเอ่ยนามสาวๆ ในกลุ่มเพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่วงศ์สกุล ฮ่ะ ฮ่ะ ...เท่าที่จำได้ นิด-อนิต้า จันทราภัย จันทร์-จันทรา วิไลแก้ว หมู-นพพร (คนนี้แหละที่สามีเธอเป็นคนตั้งชื่อกลุ่มให้) ติ๋ม-สมลักษณ์ เทดโรว์ สาย-สายสุนี สุขกสิกร ต๋อย-นงเยาว์ เปีย-สมปอง เฮเดนเกรน และหากลืมใครบางคนไปบ้างก็ขออภัยด้วยนะคะ กลุ่มนี้เป็นไฮไลท์ของชาววัดเซาท์ เพราะเขาจะ (แย่ง) กันคุยได้ทุกเรื่อง ได้ยินมาว่าคุยกันขนาดว่าจำไม่ได้ว่าคุยอะไร คุยจบยังกลับบ้านก็ต้องไปโทรถามกันว่าวันนี้สนทนากันเรื่องไรบ้าง (วะ) วีรกรรมนี้เป็นเรื่องจริงไม่ได้เขียนเองนะคะ

ส่วนที่มาแบบสุภาพและเป็นงานเป็นการ ก็จะมี คุณหล่าน-จารุภา ชมพูพงษ์ อดีตนายกสมาคมไทยผู้ล่วงลับไปแล้ว พี่แต๋ว-สบสภาพ พงษ์กัณฑา ครูใหญ่ภาษาไทย รุ่นพี่ของสามีดิฉันจากสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ และพี่สมเกียรติ-พงษ์กัณฑา คุณนา-จินตนา คุณปอ-กมล กาญจนามาระกุล คุณหมึก-ยศ วรรณรักษ์ คุณแดง-อุไร อดีตนายกสมาคมไทยคนต่อจากคุณหล่าน เป็นต้น ซึ่งท่านเหล่านี้ส่วนหนึ่งที่เป็นจักรกลสำคัญต่อมาในประวัติศาสตร์ของการก่อร่างสร้างวัดพุทธานุสรณ์ ณ เมืองฟรีมอนต์ ในเวลาต่อมา

ลูกๆ ดิฉัน และลูกๆ ของเพื่อนเรียนภาษาไทยกับ พระมหาประเชิญ ได้รับการสอนที่มีพื้นฐานที่ดียิ่ง จนได้ดิบได้ดีสามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ ได้รับการสอนวัฒนธรรมไทยจากพี่แต๋ว-สบสภาพ ที่สอนเพลงไทย นิทานสนุกๆ ให้เด็กๆ ได้สนุกสนานกัน

แปลว่าในยุควัดเซาท์เจริญรุ่งเรืองนั้น ผู้ที่นำลูกมาเรียนก็เรียนไป ภาษาไทยไปเรียนในห้อง ส่วนรำนั้นบางทีเราก็ใช้ลานวัดด้านหลังซ้อมกัน บางทีก็แถวๆ ครัว และหากไม่มีพิธีศาสนาใดๆ ก็ซ้อมกันที่ห้องโถงกลาง

เขียนๆ ไปชักจะยาวจบไม่ลง และยังไม่อยากจบเพราะยังมีเรื่องเล่ากิจกรรมสนุกๆ ที่วัดเซาท์อีกมาก ก็ขอยกไปต่ออีกสักหนึ่งตอนในฉบับต่อไป เพราะว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ชุมชนชาวไทยในซานฟรานยุคบุกเบิกในอเมริกาก็ว่าได้

พบกันเร็วๆ นี้นะคะ ชมภาพสมัยโน้นกันไปพลางๆ ก่อนค่ะ ขอขอบคุณ หนูติ๋ม-สมลักษณ์ เทดโรว์ และหนูจัน-จันทรา วิไลแก้ว สำหรับภาพประกอบนะคะ


เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์

บันทึก