ประมวลภาพ



อำนวย พลอยแสงงาม Mr.Crossword : our great man
ชีวิตในวัยเยาว์และครอบครัว

คุณอำนวย พลอยแสงงาม เกิดวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนที่ 6 ของนายจิว แซ่จู (ถึงแก่กรรม) และ นางจินดา พลอยแสงงาม มีพี่น้อง 8 คน คือ

1. คุณเอนก พลอยแสงงาม

2. คุณอนันต์ พลอยแสงงาม (ถึงแก่กรรม)

3. คุณอารีย์ ก่อเกียรตินารา

4. คุณอรรนพ พลอยแสงงาม

5. คุณองอาจ ปิติพงศ์ภักดี

6. คุณอำนวย พลอยแสงงาม (ถึงแก่กรรม)

7. คุณอัญชลี พลอยแสงงาม

8. คุณวิรัชต์ พลอยแสงงาม


ชีวิตวัยเรียน

ระดับประถมศึกษา : โรงเรียนดลวิทยา

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น : โรงเรียนดลวิทยา

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย: โรงเรียนอัสสัมชัญ พาณิชยการ

ระดับปริญญาตรี : คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

ระดับปริญญาโท: คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ


จากเกมบนกระดาน สู่ปรากฏการณ์กีฬาทางปัญญา

เรื่องเล่าของคุณอำนวย พลอยแสงงาม ฐานะนายกสมาคมครอสเวิร์ดเกม เอแม็ท คำคม และซูโดกุ แห่งประเทศไทย ถึง “สิ่งเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย”

ประเทศไทย ในราวปี พ.ศ. 2528 ยุคที่เด็กๆ ไม่มีของเล่นอะไร นอกจากเกมกล่องเท่านั้น และด้วยครอบครัวที่มีคุณพ่อ เป็นแชมป์หมากรุกจีน ทำให้ผมสนุกกับการเล่นเกมตั้งแต่เด็ก

ผมจำได้ว่าสมัยเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ที่ รร.อัสสัมชัญพาณิชย์ มีอธิการ ภราดาอรุณ เมธเศรษฐ นำเกมต่อศัพท์ภาษาอังกฤษ ครอสเวิร์ดเกม หรือสแคร็บเบิล มาเล่นกับผมเป็นประจำ จนกระทั่งผมเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

อันที่จริงผมเองก็ไม่เคยมีสนใจในภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ ในทางตรงกันข้ามผมกลับไม่ชอบ แถมสอบตกวิชาภาษาอังกฤษเป็นประจำก็เพราะความไม่สนใจ แต่ด้วยความคลั่งไคล้ในเกมที่ท้าทาย ทำให้ผมได้ก่อตั้งชมรมโลจิก ม.อัสสัมชัญ ขึ้นเพื่อเผยแพร่เกมที่ใช้ความคิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หมากรุก หรือว่า ครอสเวิร์ดเกมก็ตาม

ด้วยประโยชน์ที่เหมาะกับการศึกษาด้านภาษา ครอสเวิร์ดเกม ได้รับความเห็นดีและสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย จนส่งผลให้ผมมีความคิดที่จะขยายวงคนเล่นจากมหาวิทยาลัยสู่ระดับประเทศ และในที่สุดโครงการจัดการแข่งขันครอสเวิร์ดเกม ชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งแรกได้เกิดขึ้น

ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่นำไปเสนอหาทุนจัด ก็ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าที่จะได้แข่งขัน สปอนเซอร์หลายรายบอกผมฝันไกลเกินไป ยากที่โครงการจะเป็นไปได้ จะมีคนแข่งสนใจลงแข่งกี่คน ถามมาผมก็ตอบว่าราว 25 คนก็พอได้ หลังจากได้รับสนับสนุนทั้งหนังสือพิมพ์และอื่นๆ ผมก็เลยจำเป็นต้องพยายามหานักกีฬามาแข่งขัน พอเจอเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยเล่นไม่เป็นก็ไปสอน พอรู้ว่าใครเล่นเป็นที่ไหนก็ไปขอร้องถึงที่ให้มาแข่ง

จนกระทั่ง ในวันที่ 28-29 กันยายน พ.ศ.2529 การแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งแรกได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ และสถานที่จัดการแข่งขันครั้งแรกในวันนั้น ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็น โรงแรมเอราวัณ (ปัจจุบันคือ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ) นั่นเอง และด้วยจำนวนนักกีฬา ผู้ใหญ่ล้วน 147 คน ทำให้เกิดความสำเร็จเกินความคาดหมายและมีความคิดเสนอเข้ามาอย่างมากมาย จนได้กลายเป็นการแข่งขันในปีต่อๆ มา พร้อมกับ สมาคมครอสเวิร์ดเกม แห่งประเทศไทย ได้ถือกำเนิดขึ้น และด้วยประโยชน์ของเกมกีฬานี้ ทำให้ริเริ่มแนะนำสู่เยาวชนในโอกาสต่อมา และนั่นนำมาซึ่ง จำนวนนักกีฬาจากหลักร้อย สู่หลักพัน

ขณะที่ A-math เกมกีฬาต่อเลขคำนวณ และคำคม เกมต่ออักษรไทย ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในราวปี พ.ศ.2532 และได้จัดให้มีการแข่งขันเช่นเดียวกันในโอกาสต่อมา ในปีเดียวกัน นักกีฬาจากประเทศไทยได้เริ่มดินทางไปร่วมการแข่งขันยังต่างประเทศเป็นครั้งแรก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้การแข่งขันในระดับนานาชาติได้เปิดฉากขึ้น และนักกีฬาไทยยังถือเป็นมือหัดใหม่ในวงการระดับโลก

ปีต่อปีผ่านไป ความสำเร็จของการแข่งขันได้ส่งผลดีสู่สาธารณะในวงกว้าง ทั้งด้านการกีฬา และโดยเฉพาะการศึกษา

ในด้านการกีฬา พ.ศ.2541 นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภาคภูมิใจ ที่สมาคมฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศให้กับผู้ชนะเลิศการแข่งขันรุ่นโอเพ่น และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชุกมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศในรุ่นนักเรียน อันเป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการแข่งขันกีฬาประเภทนี้

เมื่อปี พ.ศ.2532 ครอสเวิร์ดเกม ได้รับการบรรจุเข้าสู่การแข่งขันมหกรรมกีฬามหาวิทยาลัยฯ เป็นครั้งแรก ในโลก

และมาถึง ปี พ.ศ.2546 ใครจะไปคิดว่า คนที่พูดภาษาอื่นเป็นหลัก กลับจะมาเอาชนะชาติเจ้าของภาษาได้ และแล้วเรื่องราวแบบไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้น เมื่อ ภาณุพล สัจยากร นักกีฬาไทยคว้าแชมป์โลก อย่างอัจรรย์และยิ่งใหญ่ เป็นคนแรกของประเทศไทย ของเอเชีย และคนที่ 7 ของโลก ยิ่งไปกว่านั้น ในปี พ.ศ.2552 ปกรณ์ เนมิตรมานสุข ก็สามารถคว้าแชมป์โลกได้อีกครั้ง เหนือนักกีฬากว่า 45 ชาติ ทั่วโลก ส่งผลให้นักกีฬาไทยกลายเป็นหัวแถวของโลกเทียบเท่ากับชาติเจ้าของภาษา มหาอำนาจกีฬานี้ อย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และ ออสเตรเลีย

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี พ.ศ.2553 นักกีฬาทีมชาติไทย ยังสามารถคว้าแชมป์โลก ประเภททีม ได้สำเร็จอีกตำแหน่ง และในระดับเยาวชน เยาวชนไทย ชาญฤทธิ์ คงธนารัตน์ ก็สามารถคว้าแชมป์โลกในรุ่นนี้ได้เช่นกัน ทำให้ประเทศไทยได้กลายเป็นชาติเดียวในโลกที่คว้าแชมป์โลกมาครองได้ครบทุกประเภท ใครจะไปเชื่อ !!

นอกจากนี้ การแข่งขันระดับนานาชาติของประเทศไทย สองรายการ ทั้งระดับโอเพ่น และเยาวชน ได้รับความสนใจ จนมีจำนวนนักกีฬาสูงกว่า 7000 คน ลงแข่งขัน ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และโอเพ่นนับเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในโลก ในด้านการศึกษา ด้วยประโยชน์ของเกมกีฬาไม่ว่าจะเป็น ครอสเวิร์ดเกม เอแม็ท คำคม หรือซูโดกุ ต่างให้ประโยชน์ต่อการศึกษาของเยาวชนนักเรียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อเด็กเล่นเกม ก็จะใช้คำศัพท์ที่รู้มาเล่น ได้เพิ่มคำศัพท์ทุกเกมที่เล่นจากตนเองและคู่แข่ง และเมื่อต้องการเก่งขึ้น ก็จะไปท่องศัพท์ได้ความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง ส่วนทางอ้อม เมื่อเด็กเกิดความชอบในเกมกีฬาเหล่านี้ ก็จะเป็นผลต่อเนื่องให้เกิดความชอบในวิชานั้นๆ จะเกิดความสนใจเรียนในห้องเรียนอย่างเห็นได้ชัด คุณครูจำนวนมากนำการแข่งขันเหล่าใจนี้มาจูงใจนักเรียนให้สนใจเรียน มีผลการเรียนที่ดีเพื่อจะได้ลงสนามแข่งขัน อย่างได้ผล อย่างง่ายดาย ด้วยงบประมาณเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกันประโยชน์ของมัน

ใครจะไปรู้ จากอดีตถึงปัจจุบัน 30 ปี บนถนนสายนี้ ผมไม่เคยคิดล่วงหน้ามาก่อนว่าจะใช้เวลาและอนาคตทั้งขีวิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาคมฯได้ผ่านเรื่องราวและอุปสรรคอย่างมากมาย ได้เห็นเด็กจากประถมลงแข่งขันจนเติบใหญ่ ประสบความสำเร็จการศึกษาขั้นสูง เห็นเด็กที่ไม่สนใจเรียน กลายเป็นเด็กสนใจเรียนรู้ เห็นคนสูงอายุแข่งขันด้วยรอยยิ้มและมีความสุข และใครจะไปคิดว่า จากจำนวนนักกีฬาครั้งแรก 147 จะกลายเป็น 7410 ในปัจจุบันได้จากรางวัล ชนะเลิศการแข่งขัน 10,000 บาท กลายเป็น 10,000 เหรียญสหรัฐ ในที่สุด แม้ความสำเร็จเหล่านี้จะยังเทียบไม่ได้แม้แต่เศษส่วนกับกีฬายอดนิยมของโลก แต่ผมก็ยังไว้ว่าสักวัน คนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน จะได้ประโยชน์จากการแข่งขันของเกมกีฬาเหล่านี้ที่สมาคมฯ ได้ทำ ให้เด็กได้สนุก ได้ความรู้ ได้อนาคตที่ดี ให้นักกีฬาได้รับรางวัลใหญ่ตอบแทนความสามารถ ให้ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้ไม่แข็งแรงที่จะเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมาก ได้มีความสุข มีสีสันมีชีวิตชีวาเพิ่มมากขึ้นและในที่สุดได้มีส่วนยกระดับการศึกษาของเยาวชนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของประเทศ

หากความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ได้รับการยกย่องว่าได้ส่งผลดีต่อสังคมไทยแล้ว ก็อยากให้ถือไว้ว่า สิ่งได้เกิดขึ้นมิใช่จากสมาคมฯ แต่ฝ่ายเดียว แต่หากเป็นอาจารย์จำนวนมาก ที่เสียสละทั้งเวลา และกำลังทรัพย์ ที่ส่งลูกศิษย์ร่วมแข่งขันมาอย่างยาวนาน เป็นผู้สนับสนุนจำนวนมาก ที่เห็นคุณค่าของงาน ได้ช่วยกันส่งเสริมงานจนสำเร็จลุล่วงไปได้ และที่สำคัญเป็นพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าพระราชทานถ้วยรางวัลนี้ให้กับการแข่งขันของทางสมาคมฯ

นับเป็นเส้นทางที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น สู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ ที่คุณอำนวย พลอยแสงงามได้วางรากฐานอันแข็งแกร่ง จนสามารถสร้างปรากฏการณ์ และแรงกระเพื่อมให้วงการกีฬาและการศึกษาอย่างกว้างขวาง และยังคงเติบโต อย่างไม่มีที่สิ้นสุดต่อไป ...


ก้าวข้ามความเป็นไปไม่ได้ สู่วงการวิทยุ-โทรทัศน์

เรื่อง: นริศรา ศรีจันทราพันธุ์

เวลาบอกใครว่า... ครอสเวิร์ดเกม มีรายการวิทยุและรายการโทรทัศน์ ด้วยนะ

ความฉงนจะปรากฏบนใบหน้าของผู้ฟัง จริงเหรอ? จะเป็นไปได้เหรอ? ครอสเวิร์ดเกมเนี่ยนะ เล่นบนวิทยุได้ด้วยหรือ

คำตอบคือ “เป็นไปได้” สำหรับผู้ชายที่ชื่อ อำนวย พลอยแสงงาม

ราวปี พ.ศ. 2547 คุณอำนวยได้รับการติดต่อจาก FM.99 คลื่นเมืองไทยแข็งแรง ในเครือ อสมท. ซึ่งคลื่นกีฬาเป็นคลื่นที่มีชื่อเสียงมานานกว่า 20 ปี ในหมู่คนรักกีฬา เกี่ยวกับการทำรายการวิทยุครอสเวิร์ดเกม

คุณอำนวยมีความคิดเห็นตรงกันกับผู้บริหารคลื่นในยุคนั้น ว่ากีฬาที่แท้จริง ควรเป็นการบริหารร่างกายควบคู่ไปกับการบริหารสมอง

รายการวิทยุครอสเวิร์ดเกมจึงเริ่มในเดือน มิถุนายน 2547 เป็นรายการความยาว 1 ชั่วโมงครึ่ง ทุกบ่ายวันอาทิตย์ โดยมีคุณอำนวย พลอยแสงงามเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีทีมแม็กซ์พลอย อย่างเช่น คุณระวี คุณตุ๊ก สุภาณี คุณณัฐกฤษณ์ และท่านอื่นๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปร่วมจัดรายการ แต่ด้วยความที่เวลามักจะตรงกับงานแข่งวันเสาร์-อาทิตย์ จึงจำเป็นต้องหาดีเจที่มาทำหน้าที่ตรงนี้โดยตรง

เดือนสิงหาคม 2547 ดิฉันได้เริ่มจัดรายการวิทยุครอสเวิร์ดเกมร่วมกับคุณอำนวย จนเดือน กันยายน ปีเดียวกัน เราถึงได้คุณจุ๊บ พงษ์สุดา มาเสริมทัพในการจัดรายการวิทยุ

คอนเซ็ปต์ของรายการจะว่าด้วย การรายงานผลการแข่งขัน ประชาสัมพันธ์การแข่งขันครั้งต่อไป สัมภาษณ์นักกีฬาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นเกมที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องยาก ให้กลายเป็นเรื่องสนุก รวมทั้ง มีเกมให้ผู้ฟังได้ร่วมสนุก

ในเวลานั้น มันไม่ง่ายเลยกับการทำสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ คุณอำนวยสร้างสรรค์เกมใหม่อีก 1 เกม ให้คำนิยามว่าเป็น “ครอสเวิร์ดเกมทางวิทยุ” เกมใหม่นี้ที่ได้รับการประยุกต์จากครอสเวิร์ดเกมบนกระดาน สู่การเล่มเกมที่ผู้เล่นไม่เห็นตัวเบี้ย แต่ใช้ทักษะและสมาธิในการฟัง คิด เพื่อตอบคำถามที่ถูกต้อง

โดยมีคอนเซปต์และกติกาในการเล่น คือ:

1. ผู้ดำเนินรายการจะต้องคิดโจทย์ มีการนำคำศัพท์ มาสลับตำแหน่ง มีทั้งหมด 3 ข้อ บอกโจทย์ ให้ผู้ฟังทางรายการ

2. ผู้ฟังจะต้องสลับตัวอักษร สร้างคำศัพท์ ที่มีความหมาย คิดคะแนนคำศัพท์คำนี้ ตามคะแนนตัวเบี้ยครอสเวิร์ดเกม แล้วโทรมาตอบในรายการสด

3. คำตอบทั้ง 3 ข้อจะนำไปสู่คำใบ้หลัก ซึ่งจะได้คะแนนโบนัส คะแนนทั้งหมดสามารถนำไปแลกของที่ระลึกของสมาคมครอสเวิร์ด

มันออกจะเป็นเกมที่มีความสลับซับซ้อนสักเล็กน้อย สำหรับผู้ที่ไม่เคยเล่นครอสเวิร์ดเกมมาก่อน และดูต่างจากรายการอื่นๆ ในคลื่นที่มักจะว่าด้วยเรื่อง ฟุตบอล มวย และกีฬา แต่รายการครอสเวิร์ดเกมก็ทำให้เรามีกลุ่มแฟนๆ ที่เป็นครอบครัว นักกีฬามือใหม่ และผู้สนใจทั่วไปที่อยากรู้จักครอสเวิร์ดเกม เอแม็ท คำคม และซูโดกุ เพิ่มขึ้น เพราะจุดเริ่มต้นของการเล่นเกม ไม่จำเป็นว่าจะต้องเริ่มต้นจากกระดานครอสเวิร์ดแต่เพียงอย่างเดียว

ช่วงแรกๆ เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้และมีการปรับรูปแบบรายการอยู่เสมอ คุณอำนวยเป็นนักกีฬา มีผู้ดำเนินรายการ 2 สาวที่ตอนนั้นไม่ใช่นักกีฬาคอยสื่อสารในมุมที่คนนอกวงการจะเข้าใจ มีนักกีฬาในวงการหลายท่าน คอยฟัง ช่วยคอมเม้นต์และแนะนำการพัฒนารูปแบบรายการให้ดียิ่งขึ้น

มีการขยายเวลาจัดรายการวิทยุ เป็น 2 ชั่วโมงและ จนในเดือน เมษายน 2551 ได้มีการขยายไปสู่วงการโทรทัศน์ รายการครอสเวิร์ดเกมโชว์ ทางช่อง MCOT 2 ได้เริ่มออกอากาศ เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพของการเล่นครอสเวิร์ดเกม เอแม็ท และคำคมชัดเจนยิ่งขึ้น 2 เทปแรก คุณอำนวยเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับ 2 สาว แต่หลังจากนั้นได้คุณฟิล ปรัชญา อรเอก ดำเนินรายการแทนคุณอำนวย

มีการเชิญนักกีฬามาแข่งขันในรายการ มีหลายโรงเรียนนำเกมการแข่งขันในรายการ ไปศึกษาเทคนิคการเล่น เพื่อเตรียมพร้อมนักกีฬารุ่นเยาว์ในการแข่งขันครั้งต่อไป

จนในเดือนมีนาคม 2553 รายการครอสเวิร์ดเกมโชว์ ได้มีโอกาสย้ายมาอยู่ช่อง 9 อสมท. โดยเปลี่ยนชื่อรายการเป็น “Battle of Wits ฉลาดคิดพิชิตศัพท์” ออกอากาศทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-11.00 น. ซึ่งเป็นเวลาของครอบครัวอย่างแท้จริง โดยมี นริศรา-พงษ์สุดา-ปรัชญา รับหน้าที่ดำเนินรายการ

ช่วงนั้นเป็นปีที่ครอสเวิร์ดเกมปรากฏทั้งบนหน้าปัดวิทยุและหน้าจอโทรทัศน์ เราได้คุณลูกน้ำ-หทัยรัตน์ ศรีนาราง มาร่วมจัดรายการ ซึ่งเธอก็ยังเป็นกำลังสำคัญในการเทรนน้องๆ รุ่นต่อไปจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมองย้อนกลับไป คุณอำนวยในวันนั้นมีสิทธิที่จะปฏิเสธทุกข้อเสนอ แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลิกแพลงที่มีอยู่เต็มเปี่ยม ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ปรากฏเด่นชัดในผลงานทั้งในวงการการแข่งขันและวิทยุ-โทรทัศน์ด้วย

ทุกวันนี้ (เมษายน 2560) รายการวิทยุครอสเวิร์ดเกมยังคงดำเนินต่อไป ทาง FM99.0 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-15.00 น. หรือแม้แต่รายการ Battle of Wits ก็ยังมีลิ้งค์ให้ชมได้ในเวปไซด์ www.Thaicrossword.com

เราไม่รู้ว่า ในอนาคตจะมีใครทำรายการในรูปแบบนี้อีกหรือไม่ แต่สิ่งที่ทุกคนประจักษ์อยู่เต็มหัวใจในวันนี้ คือการที่บุรุษนาม อำนวย พลอยแสงงาม นี่แหละ คือผู้บุกเบิกวงการเกมกีฬาทางปัญญา คอร์สเวิร์ด เอแม็ท คำคม และซูโดกุ สู่วงการวิทยุและโทรทัศน์อย่างแท้จริง