ประมวลภาพ



สะใภ้คนใหม่ของชาวแอลเอ พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช

“มวยถูกคู่”ถ้าเปรียบการเข้าพิธีมงคลสมรสของทายาทมหาเศรษฐีสองตระกูลคู่นี้เป็นเสมือนการต่อสู้บนเวทีมวย ต้องเรียกว่าเป็นการประกบคู่มวยคู่เอกที่มีความสมน้ำสมเนื้อกันมาก เป็นคู่มวยที่มีลำหักลำโค่นดีพร้อมทุกอย่าง

การศึกษาฝ่ายหญิง พราวนคินทร์ เรืองฤทธิเดช ปริญญาตรีพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทจากสถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทใบชาสยาม หรือที่รู้จักกันในนาม “ชาตรามือ” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

ฝ่ายชาย อำนาจ พลอยแสงงาม จบปริญญาตรีและปริญญาโทจาก University of California Los Angeles (UCLA) ดำเนินธุรกิจในนาม CEO ของบริษัท Chimney Cafe ที่มีสาขาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของบริษัท LAX-C Inc, ที่จะรับช่วงต่อจาก เอนก พลอยแสงงาม ผู้เป็นบิดา

ทั้งคู่จะเข้าพิธีมงคลสมรสกันในวันที่ 24 มีนาคม 2561 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ

จากนั้นจะมีพิธีมงคลสมรสกันอีกครั้งที่ Los Angeles ในวันที่ 21 เมษายน 2561 ที่ Bamboo Plaza 988 N.Hill St. Los Angeles, Ca 90012.

มาทำความรู้จัก พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช ทายาทรุ่นสาม ผู้อยู่เบื้องหลัง ชากุนหลาบอันเป็นที่กล่าวขาน ซอฟต์ไอศกรีมชาไทยรสชาติเข้มข้น และการนำพาชาตรามือไปในพุทธศักราชปัจจุบัน

ในหนังสือรุ่นของพราวนรินทร์ เพื่อนร่วมชั้นเรียนเขียนอวยพรให้เธอว่า “ขอให้ชาตรามือโด่งดังในย่าน”

“มีเพื่อนคนหนึ่งเคยถามว่า ‘ที่บ้านเธอทำอะไร’ เราก็ตอบว่า ‘ที่บ้านทำชา’ เขาก็รีบถามต่อเพื่อจะแซวว่า ‘ชาตรามือหรอ’ เราก็บอกว่า ‘ใช่ ทำไมรู้’ เพื่อนบอกว่าเขาแค่คิดจะล้อเล่นๆ ไม่น่าเชื่อว่าบ้านเราทำชาตรามือจริงๆ เพราะชาตรามือเมื่อก่อนอินดี้มากนะ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก”

พราวนรินทร์เข้ามาช่วยงานเต็มตัวตอนที่พ่อและแม่ของเธอเริ่มตัดสินใจทำร้านค้าปลีก เป็นของชาตรามือเองตามศูนย์การค้าและสถานีรถไฟฟ้า จากที่ก่อนหน้านี้ทายาทรุ่นที่สองของชาตรามือดำเนินธุรกิจด้วยการขายส่งมาตลอด นอกจากการมีหน้าร้านจะช่วยสร้างการจดจำแบรนด์ สร้างมาตรฐานรสชาติความอร่อย ยังเป็นช่องทางสื่อสารที่สำคัญกับกลุ่มลูกค้าและผู้บริโภค

เธอต้องเรียนรู้กระบวนการทุกอย่างใหม่ตั้งแต่ต้น ทั้งยังบอกว่าขั้นตอนการทำงานไม่เหมือนตอนสมัยเรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันศศินทร์ ไม่มีให้คิดวางกลยุทธ์ เพราะหน้างานจริงคือการลุยทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง เป็นเวลากว่า 7 ปี ก่อนจะค่อยๆ ทำการตลาดยุคใหม่ ผสมผสานความชอบของตัวเองอย่าง “ซอฟต์ไอศกรีม” และคิดทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จนทำให้ชาตรามือกลับมาเป็นที่รักของทุกคน

“สมัยก่อนสัญลักษณ์ของมือจะอยู่ในหลายๆ สินค้าซึ่งแปลว่าสินค้ามีคุณภาพ ตอนนั้นยังไม่มีชื่อ ไม่มีแบรนด์ หรือเครื่องหมายการค้า คนก็จะเรียกชาตรามือ ชาตราหัวแม่โป้ง และถ้าสังเกตด้านหลังกระป๋องจะมีสัญลักษณ์รูปเหรียญและกาน้ำชา คนก็จะเรียกชาตรากาไม่ก็ชาตราเหรียญ เราเคยมีความคิดอยากเปลี่ยนรูปโฉมชาตรามือให้เข้ากับไลฟ์สไตล์เราเหมือนกันนะ ก็ลองให้นักออกแบบร่างแบบใหม่ให้ซึ่งสุดท้ายแล้วพอมาลองดูเทียบเราพบว่าแบบเก่าสวยที่ สุดแล้วอยู่ดี” พราวนรินทร์เล่าให้ฟังว่าหน้าตาของโลโก้ชาตรามือเวอร์ชันปัจจุบันกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นแบบเดียวกับในยุคสมัยเริ่มต้น

มีโอกาสมาเจอผู้อยู่เบื้องหลัง “ชากุหลาบ” อันเป็นที่กล่าวขานทั้งที จึงขอให้เธอเล่าที่มาที่ไปของเมนูหอมหวานนี้ให้ฟัง

“เนื่องจากเราเป็นผู้ผลิตชา ดังนั้นเราก็จะมีสินค้าเป็นชาแบบต่างๆ อย่างชากุหลาบเราก็มีมาตั้งนานแล้วเพียงแต่ไม่ได้เป็นตัวที่ขายทั่วไป เราและพ่อกับแม่ก็คุยกันว่าอยากหยิบตัวชากุหลาบมาปัดฝุ่นใหม่เพื่อขายในช่วงวาเลนไทน์ เริ่มจากออกแบบแก้วสำหรับเมนูนี้โดยเฉพาะและตั้งใจขายเท่าที่สต็อกชากุหลาบมีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง คนก็ฮือฮาแก้วใหม่กัน เรื่องรสชาติและกลิ่นก็บอกว่าหอมดีเพราะเราใช้กุหลาบ แล้วยิ่งมีสรรพคุณที่เห็นผลทันตาคนก็ยิ่งฮือฮาชวนกันท้าพิสูจน์ ขายดีชนิดที่ว่ายังไม่ทันวาเลนไทน์ก็จวนจะหมดสต็อกแล้ว เราจึงต้องบริหารสต็อกเพราะมีจำนวนจำกัดจริงๆ เนื่องจากเราไม่ได้ผลิตตุนไว้เยอะ ด้วยเหตุผลเรื่องวัตถุดิบและกระบวนการผลิต”

นอกจากเหตุผลเรื่องความสวยงามแล้ว ถามหาเหตุผลของรูปทรงและการออกแบบแก้วลายกุหลาบนี้ คำตอบก็คือ “เรื่องแก้วทรงใหม่ อยากให้ลูกค้าดื่มแล้วรู้สึกไม่ปวกเปียกมือ” ได้ยินอย่างนี้แล้ว ก็มั่นใจเลยว่าต่อให้ร่างกายจะปวกเปียกจากการพ่ายแพ้สรรพคุณระบายอ่อนๆ แค่ไหน มือที่แข็งแรงก็ต้องตั้งรับและจับแก้วชากุหลาบนี้ให้มั่น

“สรรพคุณของชากุหลาบช่วยบำรุงผิวพรรณ ปรับฮอร์โมน ช่วยระบบขับถ่าย ซึ่งเราก็ไม่คิดว่าจะช่วยขนาดนี้เหมือนกัน (หัวเราะ) ตอนแรกเรากังวลว่าลูกค้า จะเข้าใจไหมว่าเครื่องดื่มใหม่เมนูนี้มีส่วนช่วยในการขับถ่าย กลัวเขาตกใจ เพราะเรา เองก็ตกใจตอนทีมงานเทสต์รสชาติก่อนวางขายจริง พวกเราก็เจ็บมาเยอะ เข้าห้องน้ำกันหลายรอบ จึงวางแผนสื่อสารกับลูกค้า เรื่องสรรพคุณและสุขภาพ ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าที่มีปัญหาเรื่องการระบาย

“ตอนแรกเขียนเป็นป้าย แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าไม่ค่อยอ่านกัน ต่อมาเราใช้วิธีให้คนชงแจ้งบอกลูกค้าจนเมื่อเกิดกระแสปากต่อปาก แต่ว่ากับลูกค้าต่างชาติเราก็ยังต้องสื่อสารกับเขาก่อน เราเองก็กลัวการเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะความไม่สะอาดหรือสารอะไรหรือเปล่า จึงพยายามสื่อสารในทุกช่องทางที่ทำได้ว่าสรรพคุณนี้เกิดจากกุหลาบไปเพิ่มมวลน้ำในท้องทำให้ขับถ่ายง่ายกว่าปกติ”

พราวนรินทร์คิดว่าส่วนหนึ่งที่คนชื่นชอบชากุหลาบเพราะมีประโยชน์ อย่างตัวเธอเองมีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย ในบางครั้งที่ร่างกายมีของสะสมมากไปทำให้รู้สึกอึดอัด ก็จะเลือกดื่มสักแก้ว ทั้งนี้เธอเน้นย้ำว่า ชากุหลาบทุกคนต้องวางแผนตัวเองด้วยว่าควรจะกินช่วงไหน ปริมาณเท่าไหร่ถึงจะพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป และสำหรับซอฟต์ไอศกรีม เมนูพิเศษลำดับหนึ่งในใจแบบไม่ลำเอียง

โดยเฉพาะแบบทูโทนที่รสชาเขียวนมหวานๆ ผสมผสานเข้ากันอย่างดียิ่งกับรสชาไทยเข้มๆ จะว่าไปก็ทั้งเข้มและละมุนในคราวเดียวกันเหมือนนิตยสารออนไลน์แห่งหนึ่งที่ชื่อแปลว่า ก้อนเมฆ

เราอยากสื่อสารให้ลูกค้าชาและผู้บริโภครับรู้ว่าชาของเราสามารถนำไปทำอย่างอื่นนอกจากเครื่องดื่ม ลูกค้าบางส่วนก็ใช้ชาของเราผลิตเบเกอรี่หรืออื่นๆ อยู่บ้างแล้ว ส่วนไอศกรีมเป็นอะไรที่คนชอบกิน เราก็ทดลองทำ หารสชาติที่ควรจะเป็นก่อนจะนำไปออกงานครั้งแรกที่งาน THAIFEX 2016 มีกระแสตอบรับดี จึงเริ่มขายเป็นทางการที่สาขาดอนเมืองก่อนขยายไปสาขาต่างๆ 10 สาขา รวมต่างจังหวัด มีรสชาติชาเย็น ชาเขียวนม และชากุหลาบสำหรับบางโอกาส” โชคดีที่คุณพราวนรินทร์รีบบอกว่าซอฟต์ไอศกรีมรสชากุหลาบมีฤทธิ์น้อยกว่าเมนูชากุหลาบ จึงพอมีหวัง เพราะรู้ดีว่าใจไม่กล้าพอ

“เป็นความรู้สึกที่ดีนะที่ชาตรามือเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีการเติบโต” ทายาทรุ่นที่สามยิ้ม

“ช่วงแรกๆ ที่ชาตรามือเราเริ่มออกงานเทศกาลอาหาร คนก็จะพูดถึงว่าไม่ได้เห็นชาตรามือมานานแล้ว หรือแม้กระทั้งการอธิบายความแตกต่างของชาแต่ละชนิด พอมาถึงวันนี้คนก็เริ่มจำได้ จากที่มีกลุ่มแฟนเป็นผู้ใหญ่ก็เริ่มมีกลุ่มแฟนเป็นคนรุ่นใหม่ และที่ประทับใจมากคือเดี๋ยวนี้เวลาลูกค้าถามความแตกต่างของชาแต่ละชนิดก็จะมีลูกค้าท่านอื่นช่วยอธิบายแทนให้ด้วย”

ทั้งกระแสของชากุหลาบในเรื่องจังหวะเวลาและการรับมือกับกระแสที่ถูกต้อง รวมถึงการมาของซอฟต์ไอศกรีมที่ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย ชาตรามือในมือของทายาทรุ่นที่สามพิสูจน์ให้ว่า เราสามารถผสมผสานสิ่งในยุคสมัยใหม่ที่เราชื่นชอบเข้ากับคุณค่าที่ครอบครัวสร้างและส่งต่อ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นความสนุกของรับช่วงต่อกิจการโดยไม่ต้องกลัวว่าสิ่งนั้นจะเชยเกินไป ไม่เข้ากับยุคสมัย

“ตอนเด็กๆ ก็เคยคิดว่าสิ่งนี้เชยมาก แต่ก็อยู่ที่ตัวเราด้วยว่าจะปรับรูปแบบอย่างไรให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคใหม่

“เราไม่ได้ต้องการให้มันเท่เพราะความเท่เป็นแฟชั่นที่มีขึ้นมีลงอยู่เสมอ เราอยากให้ชาตรามือคงความคลาสสิกนี้ไว้ เป็นสัญลักษณ์ของคุณภาพ ความไว้วางใจได้ ความอร่อย ความคุ้มค่า เราอาจจะแต่งตัวอื่นๆ จะดัดแปลงเป็นสินค้าอะไร ด้วยหน้าตาแบบไหน แต่สิ่งที่เป็นแก่นของชาตรามือยังต้องคงอยู่ เราเป็นคนทำชา เป็นสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ เราก็ต้องตั้งใจรักษาคุณภาพ ราคาที่เข้าถึงได้ ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่คุ้มค่า ขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่หยุดพัฒนา เพราะเราต้องมีสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าต่อไป”

ชาตรามือ

พราวนรินทร์ยังเสริมเรื่องการทำงานกับครอบครัวให้ฟังอีกว่า บางเรื่องพ่อจะปล่อยให้เธอคิดทำและตัดสินใจ เช่น การทำไอศกรีม แต่บางเรื่องอย่างการออกแบบซึ่งพ่อของเธอจะให้ความสำคัญมาก เพราะท่านชอบเรื่องงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งบางผลิตภัณฑ์คุณพ่อเป็นคนออกแบบด้วยตัวเอง “ท่านจะมีไอเดียเยอะ ก็จะให้นักออกแบบร่างแบบขึ้นมาให้ แต่เราก็ต้องคุยกันนิดนึงว่าลวดลายเยอะไปไหม ผลิตจริงจะขายได้หรือเปล่า”

นอกจากเรื่องการทำงานด้วยกัน ถามคุณพราวนรินทร์ถึงแนวคิดและวิธีการทำงานสมัยรุ่นพ่อแม่ที่เคยได้ผลมากๆ ในอดีต แต่ปัจจุบันต้องเปลี่ยนใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย

“หนึ่งคือ การทำงานแบบทีม ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปและเพื่อรองรับการเติบโต คนหนึ่งคนไม่อาจจะทำทุกหน้าที่ได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีทีมเข้ามาช่วยในส่วนต่างๆ ที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่องานที่ดีขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น

“สองคือ เรื่องการสื่อสาร สมัยก่อนยังไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือการเข้าถึงข้อมูลที่กว้างขึ้น ตัวเลือกและพฤติกรรมการเลือกซื้อไม่หลากหลายเท่าสมัยนี้ จำเป็นต้องมีตัวกลางอย่างยี่ปั๊วช่วยขายสินค้าและช่วยเชียร์ แต่สมัยนี้ผู้บริโภคมีทางเลือก มีข้อมูล และรู้ว่าจะหาสิ่งที่ต้องการได้จากที่ไหน ผู้ผลิตเองจึงต้องรู้จักสื่อสารให้ข้อมูลกับผู้บริโภค เมื่อก่อนผู้ผลิตคิดสินค้ามาขายผู้บริโภคก็ซื้อไป แต่ปัจจุบันผู้ผลิตสามารถขอข้อมูลจากผู้บริโภคเพื่อเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ มันเป็นเรื่องการสื่อสาร”

สิ่งที่ทายาทรุ่นสองของชาตรามือส่งต่อแนวคิดแก่ทายาทรุ่นสามเสมอ คือเรื่องความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความยั่งยืนที่ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตามจะคิดถึงผลในระยะยาวเสมอ การพยายามแข่งกับตัวเอง และเมื่อเกิดความผิดพลาดก็ต้องรู้จักแสดงความรับผิดชอบ ปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น รักลูกค้าและคู่ค้า คำนึงถึงการให้อยู่เสมอ

“โชคดีที่แม่เราเป็นคนกล้าเปิดให้เราลองผิดลองถูก แต่สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ปล่อยให้ลูกทำอะไรเองเราก็ต้องเข้าใจเหตุผล เช่น เขาอาจจะกลัวความผิดพลาด กลัวว่าปล่อยให้คิดและตัดสินใจทุกอย่างสิ่งที่สร้างมาจะพังทลายลง ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือต้องพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้ หรือเจอกันครึ่งทางคือการลองทำสิ่งที่เล็กๆ ก่อน ค่อยๆ เรียนรู้เป็นประสบการณ์ แม่สอนเราเสมอให้รู้จักวิ่งเข้าหางานไม่ใช่รอให้คนอื่นมาสอน หมั่นเสนองานหรือไอเดีย และหากความคิดไม่ตรงกันก็ต้องไม่ท้อถอยเพราะพ่อแม่เขาเจออะไรมามากกว่าเรา เราต้องอย่าคิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ เขาอาจจะเห็นโลกที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน”

ชาตรามือ พ.ศ. 2488

“ชาตรามือ” ก่อตั้งโดยซาเหล่าแปะและพี่น้อง เริ่มผลิตชาโดยมีตัวเด่นเป็นชาจีนซึ่งเป็นยี่ห้อดังในสมัยนั้น ก่อนจะเริ่มทำชาชงหรือชาตรามือ ในปี ค.ศ. 1945 และส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นที่สอง ซึ่งได้แก่พ่อและแม่ของพราวนรินทร์

“พอมาสู่ยุคพ่อและแม่ เป็นยุคที่คนดื่มชาจีนน้อยลงมาก ชาตรามือจึงหันมาโฟกัสชาชงมากขึ้น และเริ่มทำตลาดส่งเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ภาพจำที่คนดื่มมีต่อชาตรามือค่อยๆ จางหายไป จนเมื่อตลาดการขายส่งเริ่มอยู่ตัว เป็นช่วงเดียวกับที่พ่อกลับมาคิดว่าเราน่าจะมีหน้าร้านเพื่อสร้างการจดจำ”

ทายาทรุ่นสองผู้ทันบรรยากาศความเป็นไปตั้งแต่สมัยอากงไปจนถึงทำงานร่วมกับลูกๆ ทายาทรุ่นสามมองว่าความท้าทายจากคู่แข่งใหม่ๆ ทำให้ชาตรามือต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ “โลกหมุนเร็วขึ้น วันนี้คนอาจจะชอบ พรุ่งนี้เขาก็อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว” ก่อนจะเล่าความภูมิใจที่มีต่อทายาทรุ่นสามทั้งสองคน และการได้เห็นชาตรามือเป็นแบรนด์ที่ทุกคนรัก

“รู้สึกดีใจที่เห็นทุกคนรักแบรนด์เรา เพราะเป็นความมุ่งมั่นของเราที่อยากให้ลูกค้ามีความมั่นใจในชาตรามือ และเราอยากให้ลูกๆ รักษาคุณภาพและความสำเร็จนี้สืบเนื่องไปตลอด เราจะสอนลูกเสมอว่าให้ซื่อสัตย์กับลูกค้า อย่าคิดเอาเปรียบลูกค้าเด็ดขาด เราจะต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดในราคายุติธรรมกับลูกค้า”