ปณิธานปีหนูทอง 2563/2020

ในปีหนูทองนี้ เหลือเชื่อว่าเดือนมกราคม กำลังสิ้นสุดไปอย่างรวดเร็วจริงๆ เลยรู้สึกว่า ท่านที่เป็นผู้สูงวัย (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ก็ได้เสียชีวิตลงถี่ขึ้นๆ ทำให้พวกเราที่เป็นรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomers) คนที่เกิดในปี 1946-1964 อายุระหว่าง 56-74 ปี ชักจะรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ กลัวว่า เมื่อไร จะถึงคิวเราเนอะ เพราะทุกคนต่างก็ชินหน้า คุ้นหูคุ้นตากันทั้งนั้น

หรืออีกนัยหนึ่ง ที่น่าจะเรียกชื่อผู้สูงวัย (ส.ว.) เสียใหม่ว่า “ผู้เชี่ยวชาญชีวิต” หรือ ช.ช. ซึ่งดูแล้วน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะ ช.ช. นั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย เฉกเช่น เมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถูกย้ายแบบฟ้าผ่า ด้วยคำสั่งให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบให้เป็น “ที่ปรึกษา” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอยู่เสมอๆ ”

ฉะนั้น พวกเราชาว ส.ว. หรือ ช.ช. ควรจะมีความภาคภูมิใจในคำศัพท์ “ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ” ให้รู้สึกสำคัญและพิเศษจริงๆ

ระดับอายุของพวกผู้เชี่ยวชาญชีวิต (ช.ช.) มีดังนี้

ช.ช.1. (60-69 ปี)

ช.ช.2. (70-79 ปี)

ช.ช.3. (80-99 ปี)

ช.ช.4. (100 ปีขึ้นไป)

ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55-59 ปี เตรียมตัวเตรียมใจเข้าสู่ตำแหน่ง ช.ช. นะครับ

ในศุภวาระขึ้นปีใหม่นี้ จึงอยากให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจ อยู่อย่างไรให้มีสุขภาพที่แข็งแรง อยู่กันนานๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะ ต้องย้ำว่า “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” ที่เป็นความหวังของทุกคน จึงเป็นตีม (THEME) ในปีใหม่นี้

ต้องยอมรับว่า ในปี 2562/2019 เป็นปีที่รู้สึกว่า ทำไมเพื่อนๆ พี่ๆ ที่รู้จัก อยู่ๆ ก็ลาโลกกันไป และพอเริ่มปีใหม่มา ก็ล่วงลับไปอีก 3 ราย ครูเล็ก สุดหล่อ พี่วิจารณ์ จันทระวิบูลย์ และคุณพี่พิจิตร สิงหเนตร ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจและอาลัยอย่างสุดซึ้งกับทุกครอบครัว เลยมีโอกาสได้ไปงานสวดพระอภิธรรมบ่อยเป็นพิเศษ ได้รับการฟังเทศน์ของพระในงานสวดพระอภิธรรม ที่เตือนแขกที่มาร่วมงานได้ตั้งสติ ปรับปรุงพฤติกรรม เพื่อให้การดำรงชีพ มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ครั้งที่ประทับใจ เป็นการเทศน์ของผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานของพี่เล็ก ‘ติงลี่’ หรือ ศุภชัย จิวะไพบูลย์ศักดิ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยรัฐ และเป็นคนเก่าแก่แอลเอ เป็นที่นับถือของทุกคน ทั้งยังเป็นแรงสำคัญอีกท่านหนึ่งในโครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาเยือนแผ่นดินแม่ ซึ่งพระท่านได้เทศน์ถึงการสำรวจคนที่กำลังจะตายว่า มีสิ่งใดที่เสียดาย เสียใจ ยังไม่ทำ เมื่อตอนยังมีโอกาส ก็พอสรุปได้ ดังนี้

1. เสียใจที่ไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว พ่อ แม่ ภรรยา ลูก หลาน ญาติพี่น้อง หรือ คนที่เรารักทุกคน เพราะเรามัวแต่ทำงาน หาเงิน จนลืมไปว่า ร่างกายไม่ใช่เครื่องจักรยนต์ ต้องได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ เงินเป็นเพียงปัจจัยในการดำรงชีพ แต่ไม่สำคัญที่สุด หาเงินเสร็จ แล้วมาจ่ายค่าหมอ เหลือให้คนอื่นใช้แทน คงไม่ดีแน่แท้

2. เสียใจที่ตั้งใจที่จะทำอะไร ก็ไม่ได้ทำสักที ผลัดไปเรื่อยๆ จนตอนนี้ก็หมดเวลาแล้ว นอนติด เตียง รอวันตายอย่างเดียว คิดอยากจะเที่ยวไหน ก็ไม่ได้ไปแล้ว

3. เสียใจที่ไม่ได้เอาใจใส่กับการรักษาสุขภาพร่างกาย นึกว่าตัวเองแข็งแรงเสมอ อยู่อย่างประมาท ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารที่เป็นบ่อเกิดของโรคสารพัดชนิด คือไม่เลือกทาน แต่ทานทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่มีการออกกำลังกาย จนล้มป่วย สายเกินไปกว่าที่หมอจะเยียวยาได้

4. เสียใจที่ไม่ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่น สังคม หรือชาติ เมื่อมีโอกาส เพราะมัวแต่หาเงิน เพื่อซื้อของแบรนด์แนมที่ราคาแพง เกินความจำเป็น พวกวัตถุนิยม แทนที่จะเก็บสตางค์ไว้ใช้พักผ่อน ท่องเที่ยวหาความสุข ในตอนที่ยังไปได้

ชอบคตินี้ที่สอนให้มีสติ คือ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง”

ช่วงกลับไปเยี่ยมกรุงเทพฯ ผมยังได้รู้จักกับแม่ค้าขายข้าวแกง ที่ ‘ร้านข้าวแกงแม่น้อย’ ตลาดวงเวียนใหญ่ แม่ลูกสองท่าน คุณแม่ชื่อ ศุภาการต์ (น้อย) สัตย์ซื่อ อายุ 78 ปี และลูกสาวชื่อ ชุติภา (แอ๊ด) สัตย์ซื่อ อายุ 57 ปี ขยันทำมาหากินในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดในขณะนี้ ทำกันเองในครอบครัว มีลูกจ้างพม่าช่วยคนหนึ่ง จ่ายค่าจ้าง 400 บาทต่อวัน แต่ละวันจะทำอาหาร 30 อย่าง อาหารอร่อย ราคาถูก ระหว่าง 20-50 บาท ก็ทานอิ่มได้

รายได้เมื่อก่อนเกือบหมื่น ทำกันตั้งแต่สาวจนสูงวัย (ช.ช.) คุณแอ๊ดสามารถส่งลูกสาวเรียนจบปริญญาถึงสองคน ทุกวันนี้ มีรายได้เหลือเพียงวันละ 7,000 - 8,000 บาท ช่วยกันกับคุณแม่ทำอาหารตั้งแต่เที่ยง จนถึงบ่าย 3 โมงก็เริ่มขายได้ ขายจนถึงตี 5 หรือหมดก่อน กำไรสุทธิทุกวันนี้ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ตกประมาณ 1,000-2000 บาท สรุปทำงานเกือบ 17 ชั่วโมง เหนื่อยแทน

คุณแอ๊ดบอกว่า แต่ก่อนขายดี แต่ตั้งแต่มีการปฏิวัติเมื่อหลายปีก่อน เศรษฐกิจก็ตกสะเก็ด ตอนนี้คนทานน้อยลง กำลังซื้อก็น้อยลง ราคาอาหารก็ไม่ได้ขึ้นเลย 20 บาทต่อกับข้าว 1 อย่าง ถ้า 2 อย่างก็ราคา 30-40 บาท ถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับทานที่อเมริกานะครับ ผมมาเป็นลูกค้าประจำ บางวันฝากท้องมื้อเย็น และอุดหนุนซื้อเผื่อทานตอนเช้า คุณแม่น้อยผัดกับข้าว 30 อย่างได้อย่างเอร็ดอร่อย มีข้าวต้มไรซ์เบอรรี่ ข้าวต้มขาวร้อนๆ ให้ทานด้วย มีโอกาสพูดคุยประสบการณ์การทำมาหากิน เป็นแม่ค้ามากว่า 30 ปี โดยคติประจำตัวของคุณแม่น้อย ที่ให้กับลูกสาวคือ ‘ประหยัด ขยัน อดทน’

คุณแอ๊ด ตัดพ้อ ฝากบอกรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มา 3 ข้อ

1. ปรับปรุงโรงพยาบาลของรัฐ ให้มีการบริการที่ดีขึ้น ไปที ต้องรอนานมาก ต้องหยุดขายหนึ่งวันเลย ควรมีการจัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้พอเพียง ดีกว่าไปซื้อเรือดำน้ำเป็นไหนๆ เห็นใจคนยากคนจน ที่มาใช้บริการยามป่วยไข้เป็นจำนวนมาก และจัดหาเจ้าหน้าที่บุคลากรให้เพียงพอ

2. การจัดระเบียบคนต่างด้าวที่มาทำงานให้รัดกุมขึ้น ตม. ต้องจับกุมคนที่หลบหนีเข้ามา หรืออยู่เกินวีซ่าที่กำหนด และที่สำคัญคนต่างด้าวที่มาคลอดบุตรในประเทศไทย ยังได้รับการดูแลรักษา จนถึง 2 ขวบเลย ขณะที่ประชาชนคนไทยยังตกยากลำบากอยู่

3. รีบๆ ทำอะไรที่จะสร้างงาน เพื่อให้คนมีสตางค์มาจับจ่ายใช้สอย มากินอาหารจานด่วนของครัว “แม่น้อย” ด้วย


โชคดีครับ

คิด ฉัตรประภาชัย