ดร.การุณ รุจนเวชช์
ดร.การุณ รุจนเวชช์



ตอน ๒ สงเคราะห์ผู้ยากไร้

เป็นที่รู้กันอยู่ว่า “ไม่มีใครเลือกเกิดได้” ถ้าเลือกเกิดกันได้ ก็คงไม่มีคนจน เช่น ชุมชนใต้สะพาน ที่ได้เห็นในสารคดีวิถีชีวิตของคนจนในกรุงเทพ ด้วยความเวทนา

ในเวลาใกล้เคียงกัน ก็ได้ทราบข่าวจาก กร นักดนตรีหนุ่มที่รู้จักกันเมื่อ ๓ ปีก่อนว่า ไม่มีงานทำตั้งแต่โควิดระบาด อยากขายกีต้าร์ (guitar) แต่ก็ไม่อาจช่วยได้ จึงส่งเช็คไปให้ ๑๐๐ ดอลล่าร์ และก็ได้ทราบว่า ทางธนาคารจะหักค่าธรรมเนียมมากเสียจนเหลือไม่เท่าไร จึงบอกเขาไปว่า เมื่อมาถึงกรุงเทพ จะเอาเงินสดมาให้ (ไม่ใช่ให้ยืม) โดยจะขอให้เขาช่วยหาชุมชนยากจน เมื่อมาถึงจะได้ไปสงเคราะห์ได้ถูกที่

เมื่อมาถึงกรุงเทพเวลาเที่ยงคืน สิ่งแรกที่ทางโรงแรม Courtyard จัดเตรียมให้ คือพาไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจโควิด แม้ว่าจะตรวจมาแล้วก่อนเดินทางก็ตาม ถนนในยามนี้เงียบสงัด รถเข้ามาจอดที่ซุ้มทางด้านข้างโรงพยาบาล มีนางพยาบาลทำงานอยู่คนเดียว บอกว่าจะส่งผลไปที่โรงแรม

ใกล้เวลาตี ๑ ถึงโรงแรม ชำระเงิน ๑ วันเป็นค่ากักตัว (Quarantine) ๖ น. ก็มีจดหมายสอดใต้ประตู เป็นผลการตตรวจโควิด ว่า Negative ทั้งคู่ เราจึงออกจากห้อง ลงไปทานอาหารเช้าที่ห้องอาหารได้ และเริ่มติดต่อญาติมิตร รวมทั้ง กร

วันต่อมา ได้มอบเงินสดให้กร ๕๐๐๐ บาท ที่เป็นธุระหาข้อมูลชุมชนยากจน ๒๐ หลังคาเรือน มีครูดูแลชุมชน และให้การศึกษาเพิ่มเติมในช่วงบ่าย กรแนะให้ซื้อข้าวสารไปบริจาค ๕ กระสอบ และติดต่อหาคนขับรถแท็กซี่ ชื่อ สุชีพ ที่ขาดรายได้ให้ช่วยจัดนำข้าวสารไปแจก สุชีพ ขอคิดค่าบริการตามมิเตอร์ ก็ตกลง และเมื่อเสร็จงาน ก็จะให้เงินรางวัล อีก ๑๐๐๐ บาท เพื่อช่วยเหลือในยามขัดสนนี้

หลังจากที่ได้ข้าวสาร ๕ กระสอบ และถุงสำหรับแบ่งให้ครบทุกบ้าน ที่ครูดูแลจะจัดการต่อไป ในตรอกที่ไม่มีใครคิดจะเลือกมาเกิด หญิงชรานั่งตอกไม้ซ่อมพื้น ยังติดตาด้วยความเวทนา วันนั้น ได้ทำสิ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำในโอกาสที่มาเยือนบ้านเกิด

กลับมาถึงโรงแรม เพื่อพักผ่อน ให้ห้องสะอาด สบาย ต่างจากชุมชนคนจน ที่เขาเลือกเกิดไม่ได้ เราเอง ก็ไม่ได้เลือกที่จะเกิดมาในครอบครัวที่มั่งมี บุพการี ส่งเสริม ส่งเสียให้มีการศึกษาสูงสุดที่ปัญญาเราจะแสวงหา และให้มีความเมตตาต่อผู้ยากไร้