ดร.การุณ รุจนเวชช์
ดร.การุณ รุจนเวชช์



ตอนที่ ๕ พระปรางค์

เป็นชื่อพระปรางค์ที่ยาว เยี่ยงประวัติวัฒนธรรมไทยสืบสมัยมาแต่โบราณ โบราณสถานแห่งนี้ เป็นหนึ่งที่เชิดชูชาติให้ชาวโลกประจักษ์ในอัจฉริยะของปฏิมากรไทย ผู้ไม่ได้มีอุปกรณ์การก่อสร้างที่ใช้ในโลกปัจจุบัน แต่ด้วยมีปัญญาที่พามือทั้งสอง ก่อสร้าง แกะสลัก ได้ตรงเป็นรูปลักษณ์งดงามตามศิลป์ไทย โดดเด่นอยู่ด้านตะวันตกของน่านน้ำเจ้าพระยามานานปี มีปรางค์รองสี่ปรางค์ ขนาบข้าง สร้างความเด่นงามองค์พระปรางค์ อยู่ทุกยาม แต่รุ่งอรุณ จนอัสดง

ถิ่นนี้เดิมเป็น “วัดมะกอก” หรือเที่เรียกว่า “วัดแจ้ง” ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงย้ายพระราชฐานมา เพราะพระราชวังอยุธยาถูกเผาผลาญเกินกอบกู้ และทรงสร้างพระราชวังมาที่อาณาจักรธนบุรี โดยผนวกวัดนี้ ซึ่งมีพระปรางค์องค์เล็กขนาด ๑๖ เมตร ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ปีพ.ศ ๒๓๑๐ ถึงปีพ.ศ. ๒๓๒๕ รวมเวลา ๑๕ปี สิ้นสุดอาณาจักรธนบุรี

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริยศึก ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงย้ายพระราชวังมาตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นกรุงเทพมหานครปัจจุบัน

ในปีพ.ศ. ๒๓๖๓ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงให้รื้อพระปรางค์องค์เดิม ด้วยทรงหวังสร้างใหม่ แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ดำเนินการสร้างต่อ จนแล้วเสร็จในปีพ.ศ. ๒๓๙๔ รวมเวลา ๙ ปี และได้รับการบูรณะเสมอมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนได้แบบที่เห็นในปัจจุบัน

องค์พระปรางต์ก่อด้วยอิฐ ฉาบด้วยปูน ประดับด้วยเปลือกหอย กระเบื้องและ เศษจานเบญจรงค์หลากสี เป็นรูปลายดอกและใบ ที่แตกหักในเรือสินค้าเดินสมุทรจากประเทศจีน องค์พระปรางค์รายรอบด้วย กินนร กินนรี เทวดา พญาครุฑ และยักษ์ จากฐานถึงยอด ที่ตั้งนภศูล หรือ เครื่อง ประดับยอดปรางค์ เป็นรูปดอก ทำด้วยโลหะ มีกิ่งเป็นรูปดาบแตกเป็น ๔ ทิศ,/

พระปรางคัวัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด ๘๑.๘๕ เมตร เป็นพระปรางค์ที่สูงสุดของไทยและโลก

ประเทศใดที่มีกษัตริย์ ผู้ทรงเปี่ยมปัญญา อัจฉริยะ และวิสัยทัศน์ ประเทศนั้นมีวัฒนธรรม ศิลปกรรม และปฏิมากรรม ตามพระราชดำริ ไว้ ไม่เพียงเพื่อประดับพื้นโลก แต่เพื่อจรรโลงความภาคภูมิใจในอารยะธรรมของพงษ์เผ่าตน ประเทศไทย ไม่เพียงงามด้วย พระราชวัง วัดวาอาราม ชาวไทยยังเปี่ยมด้วยความอ่อนโยน และจรรยาที่สั่งสมมาในวัฒนธรรมอันยาวนาน โดดเด่นเช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร