ดร.การุณ รุจนเวชช์
ดร.การุณ รุจนเวชช์



ตอนที่ ๔ เพื่อน

“เพื่อนเก่า ดีกว่าสองคนใหม่” สุภาษิต ที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เด็กหนุ่มสาวจากทุกภาค เดินทางมารวมตัวกันที่มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ที่เพิ่งเปิดรับนิสิตที่สอบเข้ากันมาเป็นปีแรก

นับแต่ปีนั้นมาจนปัจจุบัน รวมเวลา ๕๘ ปี จากอายุ ๑๙ มาจนเข้าเลข ๗ นำด้วยกันทุกคน ความสัมพันธุ์ฉันท์เพื่อน กลายเป็นความผูกพันราวฉันท์พี่น้อง

๕๘ ปีก่อน หญิงสาวใบหน้าคม กิริยาสำรวม สมชาติตระกูล “โกมารกุล” เชื้อสายที่ ๗ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มี พล.อ.ท. ดร. ศุภกฤต อริยะปรีชา อยู่เคียง ไศลโสภิณ พาเราชมบ้าน ล้อมรอบสนามด้วยไม้ดอกไทย และ”ชวนชม” (desert rose) สีต่างๆ

สี่ปีที่อยู่ร่วมสถาบัน แล้วแปรผันกันไปตามความรู้ที่ปูทางให้สร้างอาชีพและเพิ่มประสบการณ์ต่อ แปรสภาพจากหนุ่มสาวพร้อมพัฒนา มาเป็นผู้ใหญ่เปี่ยมด้วยฐานะและคุณธรรม

วันนั้นเป็นวันครบรอบปีเกิด เธอนัดเราไปร่วมฉลอง และเป็นธุระสั่งอาหารมากมาย ล้วนเป็นอาหารที่เธอทราบว่าเราชอบและ หาทานยากในฮาวายที่เราย้ายมาอยู่ มี อาหารว่าง (appetizers) หมี่กรอบ ปั้นสิบ อาหารหลัก (main course) ข้าวคลุกกะปิ ของหวาน (desserts) ตะโก้ ลูกชุบ ถั่วแปบ ขนมเปียกปูน ข้าวเหนียวมะม่วง เค้กวันเกิด ทานแต่ละอย่างแค่พอเพียงที่ร่างกายกำหนด ไม่ได้อาศัยปลายลิ้นคะนองรส

อิ่มหนำ ไปเดินสำราญที่ “วัดอรุณราชวรารามมหาวิหาร” หรือ “วัดอรุณ”ใกล้บ้านเธอ เดิมคือ “วัดมะกอก” หรือ “วัดแจ้ง”

พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงทำศึกเสร็จ กรุงศรีอยุธยา ถูกเผาผลานเกินการกู้ จึงทรงย้ายราชธานีมาที่กรุงธนบุรี ในปี ๒๓๑๐ ทรงให้สร้างพระราชวังที่ประทับ และขยายเขตพระราชฐาน รวมวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง และอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. ๒๓๔๗ มาประดิษฐาน

เราเข้าไปในวัดเพื่อสักการะพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งรูปปั้น และภาพต่างๆ ไม่ละม้ายกัน แต่ด้วยความศรัทธาและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ทรงกอบกู้อิสระภาพให้ประเทศไทยได้พัฒนามาจนทุกวันนี้ การกราบไหว้จึงเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

เป็นความปิติที่ได้มาพบญาติและมิตร ดังสุภาษิตว่า “ไม่มีเพื่อน เหมือนต้นไม้ไม่มีราก”