ข่าวจากกงสุล



ข่าวจากกงสุล 31 ธันวาคม 2559

เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ นายธานี แสงรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้เข้าร่วมการสัมมนา “แนวทางปฏิบัติของคนไทยที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” จัดโดยศูนย์บริการข้อมูลและสุขภาพไทย (Thai Health and information Services) ร่วมกับ National Immigration Law Center โดย Ms. Shiu – Ming Cheer, Senior Staff Attorney and Field Coordinator เป็นวิทยากรในการบรรยายและตอบข้อซักถาม และมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ ๖๐ คน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

๑. การจับกุมตัวผู้ที่พำนักในสหรัฐฯ อย่างไม่ถูกกฎหมายจะมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้กระทำผิดในคดีอาญาที่มีความรุนแรง ตามด้วยกลุ่มที่กระทำผิดในคดีลหุโทษและกลุ่มที่ทำผิดกฎหมายคนเข้าเมือง และกลุ่มที่ถูกศาลสั่งให้เดินทางออกนอกประเทศสหรัฐฯ ในวันที่/ หลังวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗

๒. หากมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ Immigration and Custom Enforcement (ICE) บุคคลที่พำนักในสหรัฐมีสิทธิที่จะไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับสถานะตามกฎหมายและสถานะการพำนักในสหรัฐฯ ของตน (right to remain silent และ right to an attorney) อาทิ เกิดที่ไหน เดินทางมาสหรัฐฯ ได้อย่างไร ฯลฯ และสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ ICE ว่าขอปรึกษากับทนายความก่อนจะตอบคำถามใด ๆ อย่างไรก็ตาม ในบางมลรัฐอาจต้องบอกชื่อของตนเองให้เจ้าหน้าที่ทราบ

๓. เมื่อเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ ICE บุคคลที่พำนักในสหรัฐฯ มีสิทธิที่จะไม่ลงนามในเอกสารที่ตนไม่เข้าใจข้อความหรือไม่เข้าใจเนื้อหาของเอกสารนั้น ควรรอปรึกษาทนายความก่อนการลงนามในเอกสารใด ๆ ทั้งนี้ ผู้ถูกตรวจค้นต้องไม่แจ้งข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือใช้เอกสารปลอมแปลง/ บัตรปลอม ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินคดีในภายหลัง

๔. การขอตรวจค้นบ้านพักของบุคคลที่พำนักในสหรัฐ โดยเจ้าหน้าที่ ICE จะต้องมีหมายค้น/หมายศาล ซึ่งลงนามโดยผู้พิพากษาเท่านั้น

๕. บุคคลที่พำนักในสหรัฐฯ อย่างไม่ถูกกฎหมายควรจัดเตรียมแผนฉุกเฉิน อาทิ หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ ชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของทนายความ ประสานกลุ่มเพื่อนที่สามารถให้ความช่วยเหลือ ดูแลบุคคลในครอบครัวในกรณีที่คนใดคนหนึ่งถูกจับกุมตัวชั่วคราว และรวบรวมจัดเก็บเอกสารสำคัญต่าง ๆ ในที่ปลอดภัย

๖. จัดตั้งเครือข่ายเพื่อน ครอบครัว เพื่อนบ้าน ในการให้ความช่วยเหลือกัน และ หากเกิดเหตุการณ์บุกจับกุมตัว โปรดแจ้ง United We Dream’s hotline โทร.1-844-363-1423 หรือส่งข้อความ ภาพถ่าย วีดีโอคลิป ที่หมายเลข 877877