ข่าวจากกงสุล



ข่าวจากกงสุล 25 กุมภาพันธ์ 2560

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้เชิญนาย Brandon L. Menancio ผู้แทน U.S.Citizenship and Immigration Services (USCIS) มาบรรยายและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับใบเขียวและสัญชาติสหรัฐฯ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ณ สถานกงสุลใหญ่ฯ โดยมีผู้แทนชุมชนไทยเข้าร่วมรับฟังกว่า 80 คน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ประเด็นสำคัญที่คนไทยควรทราบและถือปฏิบัติ

1. ผู้ถือใบเขียวหรือผู้ที่ได้รับสัญชาติสหรัฐฯ แล้วสามารถเดินทางออกนอกสหรัฐได้ตามปกติ โดยผู้มีใบเขียวสามารถเดินทางออกนอกสหรัฐฯ ได้ไม่เกิน 1 ปี สำหรับผู้ที่ได้รับสัญชาติสหรัฐฯ แล้วสามารถเดินทางออกนอกสหรัฐฯ ได้ไม่จำกัดระยะเวลา ถ้าเกิน 1 ปี ต้องขออนุญาตตามแบบฟอร์ม I-131 และถ้าเกิน ๒ ปี ต้องขอวีซ่า SB-1 ที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ

2. เมื่ออยู่ระหว่างกระบวนการต่ออายุใบเขียว แต่ยังไม่ได้รับบัตรใบใหม่และมีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกสหรัฐฯ ควรติดต่อ USCIS เพื่อขอ I-551 STAMP ในหนังสือเดินทาง เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีถิ่นพำนักถาวรในสหรัฐฯ หากไม่มีหลักฐานดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ อาจปฏิเสธการเดินทางกลับเข้าสหรัฐฯ ได้

3. ผู้ประกอบการในสหรัฐสามารถนำลูกจ้างชาวต่างชาติเข้ามาทำงานและขอใบเขียวให้ลูกจ้างได้ โดยนายจ้างต้องยื่นใบสมัคร Application for Permanent Labor Certification และได้รับการอนุมัติจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ก่อน และยื่นแบบฟอร์ม I-140 ต่อหน่วยงาน USCIS โดยลูกจ้างต้องมีทักษะพิเศษในสาขาวิชาชีพ อาทิ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ อาจารย์ นักวิจัย ฯลฯ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.uscis.gov

4. การพำนักเกินกำหนด (over stay) ไม่ว่าจะระยะเวลาเท่าใดถือเป็นความผิดอย่างไรก็ตามหากผู้ที่พำนักเกินกำหนดเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย มีเอกสาร I-94 จะยังมีสิทธิในการยื่นขอใบเขียวได้หากมีคุณสมบัติครบถ้วนและมีบุคคลในครอบครัว/คู่สมรสที่มีใบเขียวหรือมีสัญชาติสหรัฐฯ เป็นผู้ยื่นคำร้องให้

5. ผู้ถือสองสัญชาติควรเดินทางเข้า-ออกสหรัฐฯ ด้วยหนังสือเดินทางสหรัฐ เนื่องจากการได้รับสัญชาติสหรัฐฯ หมายถึงบุคคลผู้นั้นเป็นพลเมืองสหรัฐฯ แล้ว (จึงควรปฏิบัติตนในฐานะที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ในทุกกรณี และไม่แสดงตนว่าเป็นบุคคลสัญชาติอื่น)

6. เหยื่อจากคดีความรุนแรงในครอบครัว (Domestic Violence) ยังสามารถยื่นคำร้องขอใบเขียวได้แม้จะหย่าร้างจากคู่สมรสสัญชาติสหรัฐฯ แล้ว โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.uscis.gov

7. คนไทยหรือผู้เข้าเมือง (immigrants) ไม่ควรเชื่อถือข้อมูลหรือข่าวลือในโซเชียลมีเดีย ขอให้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมและข้อมูลเพื่อป้องกันการถูกล่อลวงจากมิจฉาชีพได้ที่ www.uscis.gov, www.whitehouse.gov, www.uscis.gov/avoidscams

การขอใบเขียวและสัญชาติสหรัฐฯ

1. ผู้ขอมีถิ่นที่พำนักถาวรในสหรัฐฯ (ใบเขียว) จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด โดยต้องเป็นบุคคลในครอบครัวของผู้ถือสัญชาติสหรัฐ และเป็นผู้เดินทางเข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือเป็นผู้เดินทางเข้าสหรัฐฯ อย่างถูกต้องภายใต้กฎหมาย Provision of the Legal Immigration Family Equity Act (LIFE Act) มาตรา 245 (i) ซึ่งได้ยื่นคำร้องก่อนวันที่ 30 เมษายน 2544

2 สิทธิประโยชน์ของการได้ใบเขียวและการถือสัญชาติสหรัฐฯ

2.1 สิทธิประโยชน์ของใบเขียว อาทิ

- ผู้มีใบเขียวสามารถอาศัยและประกอบอาชีพในสหรัฐฯ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีสิทธิในการเดินทางออกนอกสหรัฐฯ ได้แต่ไม่เกิน 1 ปี ถ้าเกิน 1 ปี ต้องมีแบบฟอร์ม I-131 ถ้าเกิน 2 ปี ต้องขอวีซ่า

SB-1 ที่สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ

- ผู้มีใบเขียวสามารถยื่นคำร้องขอใบเขียวให้แก่คู่สมรส บุตรที่อายุไม่เกิน 21 ปี และยังไม่ได้สมรสได้

2.2 สิทธิประโยชน์ของผู้ได้รับสัญชาติสหรัฐฯ (US Citizen) อาทิ

- บุคคลที่ได้สัญชาติสหรัฐฯ แล้วสามารถเดินทางออกนอกสหรัฐฯ ได้ระยะเวลาไม่จำกัด

- สามารถยื่นคำร้องขอใบเขียวให้แก่ครอบครัวเช่นเดียวกับผู้ถือใบเขียว รวมถึงพ่อ-แม่ บุตรที่แต่งงานแล้ว หรือยังไม่แต่งงาน และพี่-น้อง ที่เกิดจากพ่อ-แม่เดียวกัน

- มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้ง

- ปฏิบัติหน้าที่ในคณะลูกขุน

- ทำงานในหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ

3 ผู้ที่ได้รับใบเขียวและบุคคลที่ได้สัญชาติสหรัฐฯ สามารถยื่นคำร้องขอวีซ่า (Family Sponsored Visa) ให้แก่สมาชิกในครอบครัวที่เป็นคู่สมรส บุตรที่เป็นผู้เยาว์และพ่อแม่ (ประเภท F1 F2A F3 และ F4)

4. ขั้นตอนในการขอสัญชาติสหรัฐฯ (แบบฟอร์ม N-400) ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งเริ่มจากการตรวจสอบคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน การยื่นใบสมัคร การสัมภาษณ์ และการเข้าพิธีสาบานตน ในกรณีที่สอบครั้งแรกไม่ผ่าน ผู้ร้องสามารถขอสอบใหม่ได้ 1 ครั้ง ภายในระยะเวลา 60 วัน และสำหรับผู้ป่วย (Disability Exceptions) ที่มีข้อจำกัดไม่สามารถเรียนวิชาที่เป็นข้อกำหนดในการสอบได้ จะต้องมีใบรับรองแพทย์ตามแบบฟอร์ม N-648

ด้วยมลรัฐแคลิฟอร์เนียมีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติหลายรูปแบบ โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิสจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือเหตุภัยพิบัติ โดยจัดเตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน เตรียมแผนการติดต่อสื่อสารกับบุคคลในครอบครัวและชุมชน ดังนี้

๑. ชาวไทยสามารถศึกษาข้อมูลการเตรียมความพร้อมรับมือได้จาก http://readyla.org, www.emergency.lacity.org

๒. ประชาชนในพื้นที่ควรลงทะเบียนรับข่าวสาร ข้อมูลการเตรียมความพร้อม และการเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ http://notifyla.org/ http://preparelanow.org http:/twitter.com/readyla http://www.facebook.com/readyla

๓. แต่ละชุมชนควรเข้าร่วมการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมจาก Community Emergency Response Team Training (http://www.cert-la.com/) หรือหลักสูตรออนไลน์ http://training.fema.gov/is/crslist.aspx

๔. โดยที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยอาจไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย/ ผู้ประสบภัยทันทีหลังเกิดภัยพิบัติ

ทุกชุมชนจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นอย่างน้อย ๗ วัน – หลายสัปดาห์ นครลอสแอนเจลิสจึงได้จัดเตรียมเครื่องมือในการจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติสำหรับชุมชน 5 Steps Neighborhood Preparedness โดยขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมครอบคลุมสาระสำคัญ ได้แก่

๔.๑ ประชาชนต้องทำความรู้จักกับชุมชนของตนเอง

๔.๒ คัดเลือกผู้นำเพื่อการประสานงานในการเตรียมความพร้อมก่อนภัยพิบัติ การจัดการใน ระหว่างเกิดภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ จัดเตรียมการประชุม จัดระบบการติดต่อประสานครอบครัวต่าง ๆ ในชุมชน จัดตั้งศูนย์/ เครือข่ายการดูแลเด็ก คนชรา คนพิการ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ในชุมชน

๔.๓ มีความเข้าใจปัจจัยเสี่ยงของชุมชนต่อภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ อาทิ สึนามิ น้ำท่วม ไฟป่า แผ่นดินไหว ฯลฯ และผลกระทบต่อชุมชน

๔.๔ รวบรวมข้อมูลสำหรับการติดต่อบุคคลในชุมชน และข้อมูลเกี่ยวกับทักษะความเชี่ยวชาญของคนในชุมชน อาทิ แพทย์ พยาบาล สัตวแพทย์ ช่างสาขาต่าง ๆ เพื่อจะได้จัดเตรียมการฝึกอบรมชุมชนในสาขาที่จำเป็น

๔.๕ จัดหาสถานที่สำหรับการเป็น “จุดรวม (Gathering Place)” ของทุกคนในชุมชนหากเกิดภัยพิบัติ เพื่อประสานงานการให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดรายละเอียดข้อมูลได้จาก http://5steps.la/