ข่าวกงสุล



ข่าวกงสุล 17 กุมภาพันธ์ 2561

สรุปผลกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า”

เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๑ สำนักนายกรัฐมนตรีได้จัดกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ในหัวข้อ “กฎหมายหลายรสกับอนาคตประเทศไทย” และ “Countdown แผนปฏิรูปประเทศ” เป็นครั้งแรกเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาล โดยสรุปผลกิจกรรมดังกล่าว ดังนี้

๑. หัวข้อเรื่อง “กฎหมายหลายรสกับอนาคตประเทศไทย” โดย ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และดำเนินรายการโดย น.ส. นารากร ติยายน

๑.๑ รัฐบาลปัจจุบันได้ออกกฎหมายกว่า ๒๘๐ ฉบับ ตามความต้องการของส่วนราชการและประชาชน และเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ในขณะที่รัฐบาลหลายชุดก่อนหน้านี้ออกกฎหมายเพียง ๑๒๐ ฉบับ ในห้วง ๗ ปีที่ผ่านมา เนื่องจากติดขัดด้านกระบวนการและสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย

๑.๒ กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ รัฐบาลได้ออกและแก้กฎหมายหลายฉบับเพื่อเอื้อต่อการประกอบธุรกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ หลักประกันทางธุรกิจ การส่งเสริมการลงทุน การแก้ปัญหาสินค้าไม่เป็นธรรม ผลงานสำคัญคือ การออกพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพราะ ได้กำหนดให้ส่วนราชการต้องจัดทำคู่มือกำหนดระยะเวลาและหลักฐานที่ประชาชนต้องใช้เมื่อต้องการติดต่อขอเอกสาร จากส่วนราชการ เช่น การขอใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และลดโอกาสในการทุจริต / ให้สินบนเพื่อลัดขั้นตอน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกกฎหมายหลายฉบับที่ล้าสมัย ไม่เป็นประโยชน์พร้อมกันในคราวเดียวตามหลัก Regulatory Guillotine

๑.๓ กฎหมายปราบปรามทุจริต ปัจจุบัน มีการตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานปราบปรามทุจริต อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งราชอาณาจักรไทย (Department of Special Investigation : DSI) นอกจากนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่ระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนได้ออกพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างซึ่งช่วยลดปัญหาการทุจริตได้ ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีตอบคำถามผู้ดำเนินรายการเกี่ยวกับการเอาผิดกับผู้มีอำนาจที่ทุจริตหรือจงใจปกปิดทรัพย์สินว่า กฎหมายมิได้เว้นการบังคับใช้กับผู้ใดเป็นการเฉพาะ โดยประเด็นอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย

๑.๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) (๑) ร่างโดยคณะกรรมการ ร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งรัฐบาลมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ โดยในชั้นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการคัดค้านและปรับแก้ในหลายประเด็น อาทิ การดำเนินการต่อข้าราชการที่ไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมถึงการกำหนดระยะเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จะมีผลใช้บังคับภายหลังจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๒) ผู้ดำเนินรายการตั้งประเด็นว่า พรรคการเมืองเห็นว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเอื้อต่อพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีตอบว่าทุกพรรคได้เวลาเท่ากัน ปัญหาเป็นเรื่องการปลดล็อคทางการเมืองมากกว่า ทั้งนี้ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ ๕๓/๒๕๖๐ ข้อ ๘ ระบุว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรประกาศใช้แล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจเชิญพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาหารือเพื่อพิจารณาความพร้อมและวางโรดแมปสำหรับการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ตนไม่คิดว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก ๑ – ๒ ปี ตามที่เป็นข่าว


๒. ช่วงถาม – ตอบ

๒.๑ ผู้สื่อข่าว Nation สอบถามว่าในการจัดทำคำสั่ง คสช. ที่ ๕๓/๒๕๖๐ นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่าอาจส่งผลให้กฎหมายเลือกตั้งขยายเวลาบังคับใช้ต่อไป รองนายกรัฐในตรีตอบว่าไม่ทราบ โดยคำสั่งฯ ต้องการคลายล็อคทีละขั้น เนื่องจากอาจประสบปัญหา เช่น การกำหนดให้มีการประชุมใหญ่ของพรรคซึ่งต้องมีผู้แทนสาขาเข้าร่วม ซึ่งพรรคที่ไม่มีสาขาอาจมีข้อขัดข้อง จึงระบุให้อาจมีการหารือและดูความพร้อม อีกทั้งยังมีเรื่องการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป และอาจกระทบต่อการจัดเลือกตั้งด้วย นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเพิ่มเติมกรณีที่การหารือตามข้อ ๘ ของคำสั่งฯ ได้ข้อสรุปว่าไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ทันกำหนด ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีวิษณุฯ กล่าวว่า ต้องแก้กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง แต่คาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น และแม้มีการปรับแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็จะไม่มีผลให้เลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะการมี ส.ว. ไม่เป็นเงื่อนไขในการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. เพียงแต่การแต่งตั้ง ส.ว. ต้องดำเนินให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

๒.๒ ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ สอบถามเรื่องการจัดเลือกตั้ง รองนายกรัฐมนตรีอธิบาย scenario ดังนี้ (๑) เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้ง ส.ส. เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะมีเวลาพิจารณาภายใน ๒ เดือน (ธันวาคม – มกราคม) (๒) หากมีการแก้ใขเพิ่มเติม ต้องตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่วมกันสามฝ่าย จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาภายใน ๑ เดือน (กุมภาพันธ์) (๓) นำขึ้นทูลเกล้าฯ (มีนาคม) ซึ่งจะอยู่ในพระราชอำนาจ ๓ เดือน และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป (มิถุนายน) (๔) เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจจัดประชุมตามคำสั่ง คสช. ๕๓/๒๕๖๐ และกำหนดวันเลือกตั้ง ในกรณีที่มีการแก้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีผลใช้บังคับ ๙๐ วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับในเดือนกันยายน ๒๕๖๑ และต้องจัดเลือกตั้งภายในกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ (๑๕๐ วัน) อย่างไรก็ดี หากที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้จัดเลือกตั้งเร็วกว่า ๑๕๐ วัน ก็สามารถทำได้

๒.๓ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย สอมถามความเป็นไปได้ในการปลดล็อคกิจกรรมทางการเมือง รองนายกรัฐมนตรีตอบว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งทราบว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติประเมินสถานการณ์เป็นระยะ

๒.๔ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเยอรมนี สอบถามว่า Joint statement ไทย – สหรัฐฯ และ Statement ของ EU ที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยมีข้อผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีตอบว่าไม่มี และไม่มีการลงนามใด ๆ และคำถามของผู้สื่อข่าว BBC ไทยเกี่ยวกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่ามีเหตุผลเบื้องหลังเกี่ยวกับมิติความมั่นคงและอาจมีปัจจัยที่เหนือการควบคุมทำให้โรดแมปผิดไปจากเวลาที่ตั้งไว้ รองนายกรัฐมนตรีตอบว่า ขอไม่อธิบายเรื่องปัจจัยเพราะอาจเป็นการชี้นำ

๓. หัวข้อเรื่อง “Countdown แผนปฏิรูปประเทศ” โดยรองนายกรัฐมนตรีวิษณุฯ และนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

๓.๑ ปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ๑๓ ด้าน (เดิมมี ๑๑ ด้าน ต่อมาได้เพิ่มด้านการศึกษาด้านตำรวจ) ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูป ๑๑ ด้านแรกได้ทำแผนปฏิรูปเสร็จแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ตรวจสอบความสอดคล้องของแผนปฏิรูปกับยุทธศาสตร์ชาติและระหว่างแผนปฏิรูปแต่ละด้านแล้ว

๓.๒ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สรุปแผนปฏิรูปทั้ง ๑๑ ด้านเป็นเอกสารเล่มเดียว หลักจากนี้ คณะกรรมการชุดต่าง ๆ จะเปิดเวทีประชาสัมพันธ์ / แถลงรายละเอียด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชน ก่อนเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ และเสนอคณะรัฐมนตรีในดือนมีนาคม ๒๕๖๑ ก่อนจะประกาศใช้ในเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ซึ่งเมื่อประกาศใช้แล้วทุกส่วนราชการต้องถือปฏิบัติ โดยแผนดังกล่าวจะมีอายุ ๕ ปี

๓.๓ รองนายกรัฐมนตรี สรุปถึงความจำเป็นในการปฏิรูป โดยแผนฯ เป็นวิธีการไปสู่เป้าหมาย คือ ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแผนฯ จะระบุวิธีการ หน่วยงานรับผิดชอบ งบประมาณ และห้วงเวลาปฏิบัติ หากหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกตักเตือน ถูกรายงานไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรืออาจถูกมาตรการบังคับทางบริหารโดยคณะรัฐมนตรี เป็นลำดับ


การให้บริการกงสุลสัญจร ณ เมืองลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ขอเชิญชวนคนไทยในมลรัฐเนวาดาและพื้นที่ใกล้เคียง เข้ารับบริการกงสุลสัญจร ณ เมืองลาสเวกัส ตามกำหนดวันเวลาและสถานที่ ดังนี้ วันเสาร์ที่ ๓ และ วันอาทิตย์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๑ เวลา ๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ วัดศรีเจริญธรรม เมืองลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา 5929 Duncan Dr., Las Vegas, NV 89108 โทรศัพท์ ๗๐๒ – ๘๓๙ – ๐๒๖๘, ๗๐๒ – ๔๓๙ – ๓๖๘๐

บริการกงสุลสัญจรในครั้งนี้ ประกอบด้วย (๑) การทำหนังสือเดินทาง (passport)

(๒) การทำบัตรประจำตัวประชาชน (๓) งานนิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ เช่น การรับรองลายมือชื่อ การทำหนังสือมอบอำนาจ การขอสูติบัตรไทย เป็นต้น และ (๔) การให้คำปรึกษาด้านกงสุล

ผู้ประสงค์จะทำหนังสือเดินทางควรทำนัดหมาย เพื่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ว่าท่านสามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางได้หรือไม่ (เพื่อไม่ให้เสียเวลาเดินทางมา) ระบบนัดหมายจะเปิดบริการตั้งแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เป็นต้นไป จนครบจำนวนที่จะให้บริการได้

ท่านสามารถทำนัดหมายได้ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

- ระบบนัดหมายออนไลน์ที่ www.thaiconsulatela.org (กดเลือกแบนเนอร์ “นัดหมายทำหนังสือเดินทางที่กงสุลสัญจร” ด้านขวามือของหน้าเว็บไซต์ และกดเลือกสถานที่และวันเวลาที่ต้องการ)

- โทรศัพท์ ๓๒๓ – ๙๖๒ – ๙๕๗๔

- อีเมล์ passport@thaiconsulatela.org

ทั้งนี้ ในกรณีที่ท่านมิได้ทำนัดหมายล่วงหน้า ท่านยังสามารถเดินทางไปทำหนังสือเดินทาง (walk-in) ณ วัดศรีเจริญธรรมได้ แต่อาจใช้เวลาในการรอคิวทำหนังสือเดินทาง ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้นัดหมายทำหนังสือเดินทางล่วงหน้าที่มีการสำรองไว้แล้ว และความพร้อมและความสมบูรณ์ของเอกสารที่ท่านต้องเตรียมมาประกอบการยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง

สำหรับบริการทำบัตรประจำตัวประชาชนและนิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ไม่ต้องทำนัดหมาย

ท่านสามารถตรวจสอบเอกสารที่ต้องจัดเตรียมสำหรับการทำหนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชน และนิติกรณ์และงานทะเบียนราษฎร์ได้ที่เว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ฯ (www.thaiconsulatela.org) หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลที่ ๓๒๓ – ๙๖๒ – ๙๕๗๔ รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Facebook (Royal Thai Consulate – General, Los Angeles) และ Twitter (ThaiCGLA)


สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสจัดกิจกรรมกงสุลสัญจร ณ วัดพุทธจักรมงคลวราราม เมืองเพิร์ลซิตี มลรัฐฮาวาย

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ และวันอาทิตย์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๑ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่วัดพุทธจักรมงคลวราราม เมืองเพิร์ลซิตี มลรัฐฮาวาย โดยมีชุมชนไทยในพื้นที่ดังกล่าวมารับบริการ จำนวน ๑๕๖ คน

ภารกิจกงสุลสัญจรที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ให้บริการประกอบด้วยการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรประชาชน งานนิติกรณ์และทะเบียนราษฏร์ ตลอดจนให้คำปรึกษางานกงสุลด้านอื่น ๆ แบ่งโดยแยกเป็นรายประเภท ดังนี้

๑. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ๑๔๓ ราย

๒. บัตรประจำตัวประชาชน ๔๑ ราย

๓. งานนิติกรณ์และงานทะเบียนราษฏร์ ๖ ราย

๔. ปรึกษาด้านงานกงสุลอื่น ๆ ๒๘ ราย

สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอขอบคุณวัดพุทธจักรมงคลวราราม รวมถึงอาสาสมัครในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดี ส่งผลให้การให้บริการกงสุลสัญจรในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนได้รับความสะดวกในการบริการ

อนึ่ง สถานกงสุลใหญ่ฯ มีกำหนดการจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรในรัฐต่าง ๆ ในเขตอาณา อาทิ มลรัฐยูทาห์ มลรัฐโคโลราโด ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ (ตุลาคม ๒๕๖๐ – กันยายน ๒๕๖๑) โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมกงสุลสัญจรทางเว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ฯ (www.thaiconsulatela.org) Facebook (Royal Thai Consulate – General Los Angeles และ Twitter (ThaiCGLA) หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลที่ ๓๒๓ – ๙๖๒ – ๙๕๗๔


สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสจัดกิจกรรมกงสุลสัญจร ณ วัดพรหมคุณาราม เมืองวัดเดล มลรัฐแอริโซนา

เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ และวันอาทิตย์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่วัดพรหมคุณาราม เมืองวัดเดล มลรัฐแอริโซนา โดยมีชุมชนไทยในพื้นที่ดังกล่าว มารับบริการ จำนวน ๑๘๘ คน

ภารกิจกงสุลสัญจรที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ให้บริการประกอบด้วยการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรประชาชน งานนิติกรณ์และทะเบียนราษฏร์ ตลอดจนให้คำปรึกษางานกงสุลด้านอื่น ๆ แบ่งโดยแยกเป็นรายประเภท ดังนี้

๑. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ๑๔๙ ราย

๒. บัตรประจำตัวประชาชน ๕๕ ราย

๓. งานนิติกรณ์และงานทะเบียนราษฏร์ ๓ ราย

๔. ปรึกษาด้านงานกงสุลอื่น ๆ ๒๒ ราย

สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอขอบคุณวัดพรหมคุณาราม รวมถึงอาสาสมัครในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดี ส่งผลให้การให้บริการกงสุลสัญจรในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนได้รับความสะดวกในการบริการ

อนึ่ง สถานกงสุลใหญ่ฯ มีกำหนดการจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรในรัฐต่าง ๆ ในเขตอาณา อาทิ มลรัฐยูทาห์ มลรัฐโคโลราโด ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ (ตุลาคม ๒๕๖๐ – กันยายน ๒๕๖๑)


ไทยเดินหน้าจำกัดส่งออกยางช่วง ๓ เดือน ร่วมกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย อย่างจริงจัง ย้ำพร้อมประสาน พณ.ตรวจสอบปริมาณยางในสต๊อก พร้อมหาราคาต้นทุนที่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการกรณีได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการส่งออก

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ขอประชาสัมพันธ์ข้อมูลการจำกัดการส่งออกยางพาราจากไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามที่ได้รับจากฝ่ายการเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ดังนี้

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ร่วมกับประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ๒๕๖๑ คิดเป็นจำนวนรวมประมาณ ๓๕๐,๐๐๐ ตัน เป็นการลดปริมาณยางพาราในตลาดโลกลงอย่างเฉียบพลัน โดยทั้งสามประเทศจะใช้กฎหมายในการดำเนินการของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างจริงจัง อย่างกรณีประเทศไทย ได้ออกประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๑ เรื่อง กำหนดปริมาณจัดสรรเนื้อยางสำหรับการส่งออก พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. ๒๕๔๒ และประเทศมาเลเซียจะดำเนินการภายใต้ Malaysia Rubber Board ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการส่งออกเช่นเดียวกับประเทศไทย และด้านประเทศอินโดนีเซีย ดำเนินการโดย Gabungan Perusahaan Karet Indonesia Rubber Association of Indonesia: GAPKINDO ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ ทั้งนี้ แต่ละประเทศจะมีสัดส่วนในการควบคุมการส่งออกซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณพื้นที่ปลูกและผลิตของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย จะลดสัดส่วนการส่งออกยางอยู่ที่ประมาณ ๒.๓ แสนตัน ทั้งสามประเทศจะดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้กฎหมายในการควบคุมที่ใช้มาตรการดังกล่าวของแต่ละประเทศ

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะเดียวกัน ทั้งประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก มีเป้าหมายในการเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศตนเองมากขึ้น จะเห็นได้ว่า ด้านมาเลเซียนำร่องเป็นประเทศผู้ผลิตที่นำร่อง

แปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากขึ้น จนเป็นผู้นำด้านการส่งออกถุงมือยางของโลก และทางรัฐบาลไทยมีนโยบายเร่งส่งเสริมนวัตกรรม และสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ มีหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐที่ตอบรับนำยางพาราไปใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ถนนยางพารา

สนามกีฬา บล็อกปูพื้น ปูสระน้ำ รวมถึงที่นอน และหมอนจากยางพารา เป็นต้น ตั้งเป้าการใช้ยางของหน่วยงานรัฐประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน ในปี ๒๕๖๑ นี้

“ระหว่างการจำกัดลดส่งออกยาง ใน ๓ เดือนนั้น (มกราคม-มีนาคม ๒๕๖๑) มีมาตรการออกมาผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการในมาตรการต่าง ๆ อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน ๒ หมื่นล้านบาท โดยชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน ๓ % ต่อปี และโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานของรัฐ เป้าหมาย ๒ แสนตัน โดยมาตรการต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้เกิดการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น ย้ำว่าบริษัทใดได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ขอให้แจ้งมาที่รัฐมนตรีได้โดยตรง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะประสานกระทรวงพาณิชย์เข้าไปตรวจสอบปริมาณยางในสต๊อก พร้อมทั้งหาราคาต้นทุนที่เป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการที่ร้องเรียนขอความเป็นธรรมที่รับผลกระทบจากนโยบายลดการส่งออกด้วยทุกราย” นายกฤษฎา กล่าวย้ำ


เมื่อวันที่ ๙ ก.พ. ๒๕๖๑ กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส พร้อมด้วยนายชัชวาล หรยางกูร กงสุล นางศรีวงศ์ อาญาสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการไทยนิวเยียร์ สงกรานต์เฟสติวัล และนายคิด ฉัตรประภาชัย ที่ปรึกษาสมาคมนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้เข้าพบหารือนาง Laura Friedman สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เขต ๔๓ ซึ่งครอบคลุมเขต ไทยทาวน์สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

๑. นาง Friedman ยินดีที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานไทยนิวเยียร์สงกรานต์เฟสติวัล ซึ่งจะจัดในวันที่ ๒๒ เม.ย. ๒๕๖๑ และจะเปิดคูหาภายในงานฯ เพื่อพบปะกับประชาชนและเปิดรับให้ลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่ผู้จัดงานเชิญชวน

๒. นาง Friedman ยินดีจัดการประชุมทาวน์ฮอลล์ที่ไทยทาวน์ตามที่กงสุลใหญ่ฯ เสนอเพื่อพบปะและรับฟังความคิดเห็นของชุมชนไทย และเชิญวิทยากรมาให้ความรู้และพูดคุยในประเด็นที่อยู่ในความสนใจ เช่น การพัฒนาไทยทาวน์และกัญชา

๓. กงสุลใหญ่ฯ ขอให้ช่วยผลักดันให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ แปลข้อสอบใบอนุญาตพนักงานนวดเป็นภาษาไทย และขอให้ช่วยเหลือกรณีนักธุรกิจไทยขอใบอนุญาตเปิดโรงเรียนสอนนวดแต่มีความล่าช้ามาก ซึ่งนาง Friedman รับจะผลักดันและช่วยเหลืออย่างเต็มที่

๔. นาง Friedman ยินดีรับผู้เข้าร่วมโครงการผู้นำเยาวชนไทยอเมริกัน ( http://www.thaiconsulatela.org/TALP.html) ของสถานกงสุลใหญ่ฯ เข้าฝึกงานในสำนักงานของตน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยอเมริกันมีความรู้และความเข้าใจในการบริหารรัฐกิจและเปิดโอกาสการเข้าสู่งานด้านการเมืองต่อไป


เมื่อวันที่ ๙ ก.พ. ๒๕๖๑ กงสุลใหญ่ฯ และภริยา เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำที่บ้านพักเพื่อเป็นเกียรติแก่นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และคณะ โดยมีนายโกศล สถิตธรรมจิตร รองกงสุลใหญ่ฯ นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท. นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศฯ และข้าราชการทีมประเทศไทย ณ นครลอสแอนเจลิส พร้อมด้วยนางศรีวงศ์ อาญาสิทธิ ประธานคณะกรรมการไทยนิวเยียร์ สงกรานต์เฟสติวัล เข้าร่วมด้วย

กงสุลใหญ่ฯ และผู้เข้าร่วม แสดงความยินดีกับ ททท. ที่เมื่อปี ๒๕๖๐ มีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันเดินทางไปประเทศไทยครบ ๑ ล้านคน และยืนยันการสนับสนุนการทำงานของทีมประเทศไทยทุกสำนักงานอย่างเต็มที่

รองผู้ว่าการ ททท. และคณะได้หารือเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยโดยใช้อาหารไทยเป็นสื่อ ผ่านการประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มไทย (Thai Signature Drink) สมุนไพรไทย และร้านอาหารไทย ตลอดจนเรื่องการท่องเที่ยวไทยแบบคนรุ่นใหม่ และเรื่องการสนับสนุนการจัดงานไทยนิวเยียร์ สงกรานต์เฟสติวัล ๒๐๑๘ ในวันที่ ๒๒ เมษายน ศกนี้ ที่ถนน Hollywood ไทยทาวน์ นครลอสแอนเจลิส