เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



ภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (ตอนที่ 1)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ต่อจากฉบับที่แล้วที่ได้พูดถึงเรื่องเดือนแห่งความตื่นตัวของภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care Awareness Month) ไป ฉบับนี้ผู้เขียนจึงอยากจะเขียนให้ความรู้ท่านผู้อ่านกันต่อถึงเรื่องภาวะเจ็บป่วยระยะยาวกันค่ะ

เมื่อฉบับที่แล้วได้พูดกันไปคร่าว ๆ ถึงว่าภาวะเจ็บป่วยระยะยาว ไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาวะที่เราต้องดูแลเกี่ยวกับการรักษาความเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังจะต้องพิจารณาถึงการที่เราจะต้องมีคนมาดูแลเราเพื่อให้ดำรงชีวิตประจำวันได้ อยากจะเน้นย้ำว่าไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุเท่านั้นนะคะที่จะอาจเข้าสู่ภาวะที่ว่านี้ แต่ในหลายกรณีก็มีคนวัยหนุ่มสาวเกิดอุบัติเหตุหรือโรคร้ายแรงเกิดสภาพทุพพลภาพทำให้สูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองก็จะต้องการมีคนมาดูแลเราในภาวะเจ็บป่วยระยะยาวเช่นกัน ผู้ที่ให้บริการดูแลเรานั้นก็ไม่ใช่มีแต่คนในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่บ่อยครั้งจะเป็นเพื่อนฝูงลูกหลานของเรานี้แหละค่ะที่จะมาช่วยเราในยามที่ต้องการคนดูแลระยะยาว

จากสถิติพบว่าการให้บริการสำหรับภาวะเจ็บป่วยระยะยาวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่บ้านพักอาศัยของผู้ป่วย เพราะคนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากจะทิ้งบ้านไปอยู่ที่ไหน ผู้ที่ต้องเสียสละมาดูแลก็มีตั้งแต่ลูกหลานเพื่อนฝูงมาดูแลกันให้ซึ่งส่วนใหญ่ไม่คิดค่าบริการ แต่คนพวกนี้ก็จะต้องเสียรายได้ ขาดงานกัน ทำให้ผู้ป่วยบางท่านยังมีการจ้างให้พยาบาลหรือบุคคลากรทางการแพทย์มาดูแลกันถึงบ้านก็มีค่ะ

ในบางกรณีที่ดูแลกันที่บ้านไม่สะดวกก็อาจจะมีการไปให้ดูแลกันที่สถานที่ให้บริการของชุมชนหรือบ้านพักคนชรา เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้ได้แก่ศูนย์ดูแลผู้ใหญ่ในระหว่างวันหรือที่เรียกว่า Adult Day Care service center บริการช่วยเหลือเกี่ยวกับเดินทาง หรือบางครั้งในชุมชนก็จะมีบริการของอาสาสมัครมาดูแลให้กันถึงบ้านก็มีค่ะ ซึ่งบริการเหล่านี้จะช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลของครอบครัวและเพื่อนฝูงไปได้มากเลยทีเดียว

แต่ถ้าหากว่าผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือที่มากขึ้นโดยเฉพาะต้องการการดูแลรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ก็จะย้ายไปอยู่สถานพยาบาลที่เรียกว่าเนิสซิ่งโฮม (Nursing Home) ซึ่งจะให้บริการที่นอกเหนือไปจากการดูแลชีวิตประจำวัน อันได้แก่ การมีพยาบาลมาดูแลตลอดเวลา เป็นต้น สถานพยาบาลประเภทอื่นก็ได้แก่ บ้านพักคนชรา (พวกนี้จะไม่มีพยาบาลหรือแพทย์มาดูแลใกล้ชิดเท่ากับสถานพยาบาลประเภทแรก) ซึ่งจะมีห้องพักให้อยู่ มีการดูแลชีวิตประจำวัน มีกิจกรรมสันทนาการให้กับผู้ที่เข้ามาพัก โดยสภาพความเป็นอยู่ก็จะขึ้นกับว่าเรามีเงินจ่ายมากน้อยแค่ไหนนะคะ

พูดถึงเรื่องจ่ายเงิน เท่าที่ทราบมา คนหลายคนเข้าใจผิดว่าประกันสุขภาพ หรือประกันสำหรับผู้สูงอายุที่เรียกว่า เมดิแคร์ จะจ่ายค่าบริการในการดูแลแบบภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care) กัน ซึ่งจริงแล้วมีหลายส่วนที่ไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองค่ะ ฉบับนี้จึงอยากจะเคลียร์ข้อสงสัยกันค่ะ

เมดิแคร์ (Medicare) จะจ่ายในส่วนของภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care) ถ้าหากว่าคุณต้องการใช้บริการจากผู้ที่ได้รับการฝึกฝนจนมีความชำนาญหรือเรียกง่าย ๆ ว่าต้องมีไลเซ่นเท่านั้น เช่น ในบ้านพักคนชราหรือเนิสซิ่งโฮม (Nursing Home) ที่จะคุ้มครองสูงสุด 100 วัน โดยเฉลี่ยแล้วเมดิแคร์จะคุ้มครองการอยู่ในนั้นเพียงแค่ 22 วันเท่านั้น หรือที่บ้านถ้าหากคุณต้องการให้ผู้ดูแลแบบวิชาชีพมาดูแลหรือการให้บริการอย่างอื่นที่บ้าน โดยส่วนใหญ่จะให้การคุ้มครองเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้นค่ะ เมดิแคร์ไม่จ่ายให้กับการช่วยเหลือการดำรงชีวิตประจำวัน (Activities of Daily Living หรือ ADL) จากผู้ที่ไม่ได้มีไลเซ่นหรือไม่ได้เป็นผู้ดูแลแบบวิชาชีพ เช่น คุณให้คนในครอบครัวดูแลหรือคนดูแลที่ไม่ได้มีไลเซ่น เมดิแคร์ก็จะไม่จ่ายให้ค่ะ ซึ่งอย่างที่บอกไว้เบื้องต้นว่าผู้ป่วยภาวะเจ็บป่วยระยะยาวมักจะได้รับการช่วยเหลือจากคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงในการดูแลมากกว่า หรือถ้าหากว่าจะจ้างคนมีไลเซ่นคุณจะต้องจ่ายค่าบริการในส่วนที่เมดิแคร์ไม่ได้ครอบคลุมโดยใช้เงินส่วนตัวหรือต้องมีประกันไม่ว่าจากรัฐหรือเอกชนค่ะ

ส่วน เมดิเคด (Medicaid) หรือ เมดิแคล (Medical) ซึ่งเป็นประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือมีความทุพพลภาพตามเงื่อนไขของรัฐที่ให้การคุ้มครอง จะจ่ายค่าใช้จ่ายในการดูแลแบบระยะยาวหรือ Long Term Care เป็นส่วนใหญ่ แต่ในการที่จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้รายได้ของคุณจะต้องต่ำกว่าเงื่อนไขที่เขากำหนดและต้องมีฐานะการเงินและอื่น ๆ ตามเงื่อนไขการขอมีสิทธิ์ด้วยค่ะ ส่วนโปรแกรมของรัฐอื่น ๆ เช่น Older Americans Act และสิทธิ์ประโยชน์ของทหารผ่านศึก จาก Department of Veterans Affairs จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care) สำหรับคนกลุ่มเฉพาะเท่านั้น ไม่ใช่ชาวเมืองลุงแซมทุกคนจะได้สิทธิ์ประโยชน์นี้นะคะ

สำหรับประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพที่ซื้อผ่านนายจ้างหรือประกันสุขภาพที่ซื้อส่วนบุคคล พวกนี้ก็จะคุ้มเพียงบางส่วนเช่นเดียวกับเมดิแคร์ค่ะ ถ้าหากประกันสุขภาพของคุณมีการคุ้มครองภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care) ส่วนใหญ่ก็จะคุ้มครองแค่ส่วนของการให้บริการโดยผู้ดูแลวิชาชีพและจะให้การคุ้มครองเพียงระยะสั้นตามแต่ความจำเป็นเท่านั้น

เนื่องจากโปรแกรมที่คนมีส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเมดิแคร์ เมดิแคลหรือประกันสุขภาพไม่ได้ให้ความคุ้มครองภาวะเจ็บป่วยระยะยาวเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเราจึงควรจะพิจารณาดูว่ามีทางเลือกอื่นบ้างไหมที่พอจะมาช่วยเหลือในค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้บ้าง แต่ก่อนจะพูดถึงทางเลือกนะคะ ฉบับหน้าเราจะไปพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในระหว่างที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยระยะยาวกันค่ะ

ก่อนจากไปขอเตือนท่านผู้อ่านคนใดที่จะต้องมีประกันสุขภาพแต่ยังไม่ได้มีประกันสุขภาพ หรือไม่ได้มีเมดิแคล เมดิแคร์ และกลัวว่าปีหน้าจะต้องโดนปรับก็ยังสามารถลงทะเบียนได้อยู่นะคะ สามารถลงได้ถึงวันที่ 15 ธันวาคม สำหรับท่านที่ต้องการให้ประกันเริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2021 ค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง รวมทั้งถ้าอยากจะติดตามบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามได้ที่เวบไซด์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ คอลัมน์ “เรียนรู้เมื่อต้องอยู่เมืองลุงแซม”

อ้างอิง: http://longtermcare.gov/

วลัยพรรณ เกษทอง

4 ธันวาคม พ.ศ. 2563