เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



วันประกาศอิสรภาพ (Independence Day)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน วันหยุดสุดสัปดาห์นี้เป็นวันหยุดเพื่อเฉลิมฉลองวันที่ถือว่าเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของชาวเมืองลุงแซมเลยก็ได้ แน่นอนว่าจะเป็นวันอะไรไปไม่ได้นอกจาก “วันประกาศอิสรภาพ (Independence Day)” ของสหรัฐฯ ค่ะ

วันประกาศอิสรภาพนี้บางทีก็มีเรียกกันทั่วไปเป็นภาษาอังกฤษว่า Fourth of July หรือ July 4th (อ่านว่าจุลลาย โฟร์ธ) เป็นวันหยุดทางราชการของประเทศเพื่อเฉลิมฉลองการนำคำประกาศอิสรภาพมาใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม ค.ศ. 1776 รัฐสภาคองเกรสในขณะนั้นประกาศอิสรภาพของอาณานิคมทั้ง 13 แห่ง ยกสถานะขึ้นเป็นประเทศใหม่โดยให้ชื่อว่า “สหรัฐอเมริกา” และไม่ขึ้นตรงกับสหราชอาณาจักรอีกต่อไป

ระหว่างช่วงปฏิวัติอเมริกัน การแยกตัวออกของอาณานิคมทั้ง 13 แห่งจากสหราชอาณาจักรจริงแล้วเกิดขึ้นในวันที่ 2 กรกฏาคม เมื่อสภาคองเกรสในขณะนั้นลงมติให้อนุมัติคำประกาศอิสรภาพซึ่งได้ถูกเสนอขึ้นโดยริชาร์ด เฮนรี่ ลี จากเวอร์จิเนีย ที่ประกาศให้สหรัฐฯ เป็นอิสระจากการปกครองของสหราชอาณาจักร หลังจากการลงมติ ฯ สภาคองเกรสก็ได้พุ่งความสนใจไปที่คำประกาศอิสรภาพซึ่งเป็นคำกล่าวที่อธิบายถึงการตัดสินใจนี้ คำประกาศอิสรภาพ (Declaration of Independence) ดำเนินการร่างโดยคณะกรรมการ 5 ท่านโดยมีโธมัส เจฟเฟอร์สันเป็นหัวหน้าหลัก คองเกรสได้มีการถกเถียงและแก้ไขคำพูดในคำประกาศและได้ทำการอนุมัติในวันที่ 4 กรกฏาคม 2 วันหลังจากวันประกาศตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร

นักประวัติศาสตร์มีการถกเถียงกันยาวนานเกี่ยวกับสมาชิกของคองเกรสที่ลงนามในคำประกาศอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 กรกฏาคมนั้น แม้ว่าทั้งโธมัส เจฟเฟอร์สัน จอห์น อดัมส์ และเบนจามิน แฟรงคลินจะออกมาให้ข้อเขียนว่าพวกเขาได้ลงนามในวันนั้นจริง แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ให้ความเห็นสรุปไปในทางที่ว่าคำประกาศอิสรภาพได้ถูกลงนามเกือบ 1 เดือนก่อนที่จะมีการนำมาใช้ในวันที่ 2 สิงหาคม 1776 ไม่ใช่วันที่ 4 กรกฏาคมตามความเชื่อทั่วไป

มีเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตรงกันอย่างหน้าประหลาดที่เกี่ยวข้องกับวันนี้คือ ทั้งจอห์น อดัมส์และโธมัส เจฟเฟอร์สัน ซึ่งเป็นผู้ลงนามและได้เป็นผู้ที่เข้ามารับใช้ประเทศในฐานะประธานาธิบดีทั้งคู่ ได้เสียชีวิตลงในวันเดียวกันคือวันที่ 4 กรกฏาคม ค.ศ. 1826 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีของการประกาศฯ และเจมส์ มอนโร ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นผู้ลงนามแต่ก็ถือว่าเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนซึ่งก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเช่นกัน ก็เสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฏาคม ค.ศ. 1831 ทำให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ซึ่งเสียชีวิตในวันฉลองครบรอบการประกาศอิสรภาพ คาลวิน คูลลิดจ์ ประธานาธิบดีคนที่ 30 ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม ค.ศ. 1782 ก็เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวในขณะนี้ที่ถือกำเนิดในวันประกาศอิสรภาพด้วย

ในวันประกาศอิสรภาพ จะมีการจัดกิจกรรมขึ้นในเมืองลุงแซมมากมาย อันได้แก่ การจุดพลุไฟ งานพาเหรด การปิ้งบาร์บีคิว งานเทศกาล งานออกร้าน การออกไปปิคนิคกับครอบครัว งานคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬาเบสบอล การสังสรรค์ของครอบครัว รวมทั้งจะมีการปราศรัยทางการเมืองและเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ของประเทศที่จัดขึ้นในชุมชนต่าง ๆ วันนี้จึงถือได้ว่าเป็น “วันชาติ” ของประเทศสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้

ในปีค.ศ. 2019 หรือ พ.ศ.2562 นี้ วันประกาศอิสรภาพ ตรงกับวันพฤหัสที่ 4 กรกฏาคม ในช่วงเช้าก่อนที่ผู้เขียนจะส่งต้นฉบับนี้ก็ได้เกิดแผ่นดินไหวทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียในระดับ 6.6 ริกเตอร์ ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงที่สุดในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ในรอบ 20 ปี แต่โชคดีที่ยังไม่มีรายงานความเสียหายหรือการเสียชีวิต ก็ขอให้ช่วงวันหยุดปีนี้เป็นวันหยุดที่เหมือนทุกปี คือมีความสนุกสนานกับครอบครัวเพื่อนฝูงกันถ้วนหน้าค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือ (626)999-4751 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Independence_Day_(United_States)


วลัยพรรณ เกษทอง

4 กรกฏาคม 2562