เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง
ภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (ตอนที่ 2)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน 2 ฉบับก่อนเราได้พูดถึงเรื่องประวัติความเป็นมาของเดือนแห่งความตื่นตัวของภาวะเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care Awareness Month) และเรื่องที่ควรทราบเมื่อท่านอยู่ในภาวะนี้ไปแล้ว ฉบับนี้เราจะพูดถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเมื่อท่านอยู่ในภาวะนั้น ซึ่งก็เป็นเหตุผลหลักที่เราจะต้องคิดวางแผนกันแต่เนิ่น ๆ กันค่ะ

จากเวบ Longtermcare.gov ซึ่งให้ข้อมูลถึงค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสำหรับการพยาบาลสำหรับการเจ็บป่วยระยะยาว (Long Term Care) ในปี 2010 พบว่าผู้ที่ต้องเข้าไปอยู่ในสถานพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับห้องพักรวมวันละ 205 เหรียญต่อวันหรือ 6,235 เหรียญต่อปี หากต้องการอยู่ส่วนตัวเป็นสัดส่วนคนเดียวก็ต้องจ่ายกันวันละ 229 ต่อวันหรือ 6,965 ต่อเดือนกันทีเดียวค่ะ สถานพยาบาลพวกนี้จะสำหรับผู้ที่เจ็บป่วยและต้องการพยาบาลดูแลตลอดเวลา ถ้าหากว่าผู้ที่ไม่ได้ต้องการพยาบาลเพียงแต่ต้องการแค่ให้มีคนดูแลท่านในการเดินเหินลุกนั่ง อาบน้ำอาบท่าทั่วไปก็ไปอยู่ที่บ้านพักคนชราก็ได้ ซึ่งก็พบว่ามีค่าใช้จ่ายกันประมาณเดือนละ 3,293 เหรียญต่อเดือนสำหรับห้องเดี่ยว บางท่านที่ไม่อยากไปอยู่ที่อื่นก็สามารถอยู่ที่บ้านได้ แต่ถ้าหากว่าดูแลตัวเองไม่ได้และต้องจ้างคนมาช่วยดูแลก็มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 21 เหรียญต่อชั่วโมงสำหรับการดูแลทั่วไป หรือถูกหน่อยแค่มาทำกับข้าว ซักผ้าให้ หยิบจับเรื่องทั่ว ๆ ไปก็มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 19 เหรียญต่อชั่วโมงเลยทีเดียว หลายคนที่มีเพื่อนสนิทหรือครอบครัวดูแลอยู่ แต่ระหว่างที่ผู้ดูแลเหล่านั้นต้องไปทำงานและพาท่านไปฝากดูแลที่ adult day health care center ก็จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 67 เหรียญค่ะ ไม่แพงเท่ากับสถานที่รับเลี้ยงเด็กแต่ก็มีค่าใช้จ่ายอยู่นะคะ

ค่าใช้จ่ายที่ว่านี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละท่านต้องการความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน รวมถึงสภาพของสถานบริการ ผู้ดูแลหรือบริเวณที่ท่านอาศัยอยู่ก็มีผลกับราคาค่าใช้จ่ายที่ว่าค่ะ ส่วนใหญ่การให้บริการในเวลาช่วงเย็นหรือวันหยุดจะแพงกว่าช่วงเวลาอื่น ก็เพราะว่าเป็นช่วงที่มีความต้องการของการบริการมาก อย่างว่าค่ะประเทศนี้เป็นประเทศในระบบเศรษฐกิจแบบใช้หลักเศรษฐศาสตร์นะคะ ถ้าหากว่ามีคนให้บริการมาก แต่คนให้บริการน้อย ราคาก็จะสูงขึ้น ถ้าหากว่ามีบริการมากกว่าจำนวนคนที่ต้องการได้รับการบริการ ราคาก็จะถุกกว่าค่ะ ซึ่งขณะนี้ประเทศสหรัฐอยู่ในช่วงของกลุ่มคนที่เรียกว่า baby boomer (อ่านว่า เบบี้บูมเมอร์) ประมาณ 8 ล้านคนเริ่มเข้าวัยเกษียณอายุซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ความต้องการในเรื่องของการบริการเกี่ยวกับภาวะเจ็บป่วยระยะยาวมากขึ้นไปเรื่อยในอีก 20 ปีข้างหน้าเลยทีเดียวค่ะ

สำหรับการบริการในสถานพยาบาล ถ้าหากท่านเลือกอยู่ห้องที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากหน่อยก็ต้องจ่ายเพิ่มนะคะ เช่น ห้องที่มีอาหารบริการ มีคนมาทำความสะอาดบ่อย ๆ มีเคเบิลทีวี มีห้องเตรียมอาหาร ห้องพักแขกเป็นสัดส่วน เป็นต้น แม้แต่การบริการในชุมชนก็จะมีอัตราการคิดค่าบริการที่ต่างกันไป ถ้าหากเป็นช่วงที่มีกิจกรรมพิเศษก็อาจจะมีการให้บริการในราคาที่ถูกลงกว่าปกติได้ค่ะ

ในแต่ละรัฐที่ท่านอาศัยอยู่ก็มีค่าใช้จ่ายในการพยาบาลตนเองระยะยาวที่ต่างกันเช่นกัน รัฐที่มีสถานบริการน้อยถึงแม้ค่าเช่าบ้าน ค่าซื้อบ้านจะไม่แพง ก็อาจจะมีค่าบริการเหล่านี้แพงกว่ารัฐที่ค่าซื้อบ้านแพงกว่าก็ได้นะคะ ซึ่งถ้าท่านสนใจอยากจะเข้าไปหาข้อมูลเอาไว้วางแผนค่าใช้จ่ายในอนาคตก็สามารถเข้าไปดูได้ในเวบไซด์ http://longtermcare.gov/costs-how-to-pay/costs-of-care-in-your-state/ หรือที่ https://www.genworth.com/about-us/industry-expertise/cost-of-care.html ได้ค่ะ โดยส่วนตัวผู้เขียนชอบของเวบอันหลังมากกว่า เพราะมีตัวเลือกให้เราประเมินค่าใช้จ่ายในอนาคตได้ด้วย ทั้งแบบรายวัน รายเดือนหรือรายปี แต่ลองเลื่อน ๆ ดูแล้วก็รู้สึกกังวลขึ้นมาเหมือนกัน เพราะค่าใช้จ่ายที่ก็ดูว่ามากอยู่แล้วในวันนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นไปเกือบเท่าตัวเลยเชียว ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการหาคนมาช่วยดูแลพยาบาลที่บ้านในปี 2016 นี้ประมาณ 3,861 เหรียญต่อเดือน แต่พอไปถึงปี 2026 (อีก 10 ปีข้างหน้า) ค่าใช้จ่ายอย่างเดียวกันนี้ขึ้นไปถึง 5,189 เหรียญต่อเดือนกันทีเดียว!!

ผู้เขียนได้นำเอากราฟิคที่แสดงถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างภาวะเจ็บป่วยระยะยาวมาให้ดูกัน ดูกันแล้วก็น่าหวั่นใจจริง ๆ นะคะ เพราะฉะนั้นวางแผนเอาไว้กันเสียเนิ่น ๆ จะมีเวลาและทางเลือกมากกว่ารอจนถึงเวลาแล้วค่อยหาทางออกค่ะ ฉบับหน้าเราจะไปพูดถึงทางเลือกว่าเราจะตระเตรียมวางแผนสำหรับภาวะเจ็บป่วยระยะยาวและค่าใช้จ่ายกันอย่างไรค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง


อ้างอิง : www.longtermcare.gov
วลัยพรรณ เกษทอง
28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561