เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



ปัจจัยอื่นที่มีผลกับเงินโซเชี่ยลของผู้เกษียณและภาษี

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน หลายสัปดาห์แล้วที่ผู้เขียนได้นำเอาความรู้จากเวบโซเชี่ยลซีเคียวริตี้มาเล่าให้ฟังกันไปในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิ์ประโยชน์ของเงินโซเชี่ยลสำหรับคนเกษียณ เรื่องของเครดิตสะสม รับเงินเกษียณแล้วทำงานไปด้วยได้หรือเปล่า จะเลือกรับเงินโซเชี่ยลสำหรับผู้เกษียณกันตอนไหนดี การรับเงินโซเชี่ยลนอกประเทศ เป็นต้น ฉบับนี้จะขอพูดถึงเรื่องปัจจัยอื่นที่มีผลกับเงินโซเชี่ยลของผู้เกษียณกันค่ะ

การเกษียณของแต่ละคนเป็นเรื่องเฉพาะตัว นอกจากที่เราจะต้องคิดถึงว่าเมื่อไหร่เราจะเริ่มรับเงินโซเชี่ยลในส่วนของผู้เกษียณดี ยังมีปัจจัยอื่นซึ่งมีผลกระทบกับสิทธิประโยชน์ที่เราได้รับอีก เช่น การทำงานต่อหลังเกษียณ ประเภทของงานก่อนเกษียณ หรือมีเงินบำนาญ (pension) จากงานก่อนเกษียณหรือไม่

ท่านสามารถทำงานหลังจากถึงอายุเกษียณเต็มได้ (full retirement age) หากท่านทำงานต่อหลังจากนั้นเงินโซเชี่ยลที่จะได้รับในอนาคตก็ยิ่งมากขึ้นไปด้วย โดยในทุกปีที่ทำงานเพิ่มก็จะไปเพิ่มรายได้ในบันทึกข้อมูลชองโซเชี่ยลซิเคียวริตี้ขึ้นอีกปี ยิ่งมีรายได้ในระหว่างช่วงทำงานมากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับก็จะยิ่งมากขึ้นไปด้วย (รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องการทำงานพร้อมกับการรับเงินโซเชี่ยลไปด้วย หรือการทำงานหลังอายุเกษียณเต็ม หรือการเลื่อนการรับเงินเกษียณออกไปมีอยู่ในบทความฉบับก่อนหน้านี้-ผู้เขียน)

ในขณะที่รายได้ซึ่งนำมาคำนวณสำหรับเงินโซเชี่ยลของคนส่วนใหญ่จะมีวิธีคิดที่เหมือนกัน แต่ก็มีรายได้จากการทำงานบางประเภทจะมีกฏพิเศษที่ไม่เหมือนกับรายทั่วไป อันได้แก่ รายได้จากงานในฟาร์ม รายได้จากการทำงานให้กับรัฐบาลกลาง รายได้จากการทำงานในครอบครัว รายได้จากการเป็นทหาร รายได้จากงานองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือองค์กรทางศาสนา รายได้จากธุรกิจเกี่ยวกับระบบทางรถไฟ (railroad industry) รายได้จากการประกอบอาชีพส่วนตัว ค่าแรงจากการทำงานให้กับรัฐบาลของมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น และรายได้จากการทำงานนอกประเทศ โดยรายได้พวกนี้มักจะไม่เสียภาษีโซเชี่ยลหรือมีการเสียในอัตราที่แตกต่างไปจากค่าจ้างทั่วไป ดังนั้นการคำนวณเครดิตสะสมแบบที่บอกไปในสัปดาห์ก่อนจะไม่ได้ใช้กับรายได้พวกนี้ หากท่านมีรายได้พวกนี้จะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษี หรือผู้ที่ทำเรื่องการวางแผนการเกษียณอายุ เพื่อจะได้ทราบว่าเงินได้ของท่านนั้นจะเป็นเท่าไหร่กันแน่ค่ะ

นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้วเงินบำนาญและภาษีก็มีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเงินโซเชี่ยลที่ผู้เกษียณจะได้รับ หากท่านได้เงินบำนาญจากงานที่เคยทำและไม่ได้เสียภาษีโซเชี่ยลในเงินส่วนนี้ จะทำให้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับก็อาจน้อยลงไปด้วย หรือหากท่านเป็นคู่สมรสของผู้เกษียณและได้รับเงินบำนาญจากงานที่เป็นลูกจ้างของรัฐซึ่งท่านไม่ได้เสียภาษีโซเชี่ยลก็จะมีผลทำให้สิทธิประโยชน์ลดลงไปด้วยเช่นกัน

สำหรับเรื่องของภาษีเงินได้นั้น หลายท่านอาจต้องจ่ายภาษีเงินได้ของรัฐบาลกลาง (Federal Income Tax) กับเงินโซเชี่ยลที่ได้รับ ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่อท่านมีรายได้ทางอื่นเพิ่มเติมจำนวนมากในปีนั้น ๆ (เช่น ค่าจ้าง รายได้จากการประกอบอาชีพส่วนตัว ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีอื่นซึ่งต้องนำมารายงานในใบแสดงภาษีเงินได้ของท่าน

การจ่ายภาษีในส่วนของเงินโซเชี่ยลที่ได้รับขึ้นอยู่กับกฏของไอ อาร์ เอส ในเรื่องของสถานะการยื่นภาษีและรายได้รวมทั้งหมด (รายได้รวมทั้งหมด (combined income) = รายได้ทั้งหมดหลังปรับแล้ว (adjusted gross income)+ดอกเบี้ยปลอดภาษี (nontaxable interest) +1/2 ของเงินโซเชี่ยลที่ได้รับ) โดย

- หากท่านยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้ในสถานะ “โสด (single) ” และรายได้รวมทั้งหมดอยู่ระหว่าง 25,000-34,000 เหรียญ ท่านอาจต้องเสียภาษีเงินเพียงได้ไม่เกิน 50 % ของสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ แต่หากรายได้รวมทั้งหมดมากกว่า 34,000 เหรียญ ท่านอาจต้องเสียภาษีมากถึง 85% ชองสิทธิประโยชน์ที่ได้รับค่ะ

- หากท่านยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้ในสถานะ “สมรสยื่นร่วมกัน (joint return)” และท่านและคู่สมรสมีรายได้รวมกันทั้งหมดอยู่ระหว่าง 32,000-44,000 เหรียญ ท่านอาจต้องเสียภาษีเงินเพียงได้ไม่เกิน 50 % ของสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ แต่หากรายได้รวมทั้งหมดมากกว่า 44,000 เหรียญ ท่านอาจต้องเสียภาษีมากถึง 85% ชองสิทธิประโยชน์ที่ได้รับค่ะ

- หากท่านมีสถานะสมรสแต่แยกกันยื่นภาษี (married filing separately) ท่านน่าจะต้องจ่ายภาษีในสิทธิประโยขน์ในส่วนของท่านค่ะ

ในเดือนมกราคมของทุกปี ท่านจะได้รับเอกสารแสดงการได้รับเงินโซเชี่ยล (Social Security Benefit Statement) ที่เรียกว่า Form SSA-1099 เพื่อแสดงจำนวนเงินสิทธิประโยชน์ที่ท่านได้รับในปีก่อนหน้านั้น โดยท่านสามารถใช้ฟอร์มนี้ในการคำนวณและแนบไปกับการยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ค่ะ

หากปัจจุบันท่านอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐและหาแบบฟอร์มเหล่านี้ไม่เจอหรือไม่ได้รับฟอร์ม SSA-1099 หรือ SSA-10425 ของปีภาษีก่อนหน้านี้ ท่านสามารถไปขอใบแทนได้โดยทำการที่บัญชีที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเวบไซด์ของ ssa.gov ซึ่งหากท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนมีบัญชีก็สามารถเข้าไปทำการได้ที่ https://www.ssa.gov/myaccount/

หากท่านคิดว่าท่านต้องเสียภาษีสำหรับเงินโซเชี่ยลที่ได้รับ ท่านสามารถขอจ่ายภาษีจากการประเมินคร่าว ๆ ทุกสามเดือน หรือเลือกให้ทางโซเชี่ยลหักภาษีของท่านออกไปก่อนจะจ่ายเงินให้ท่านก็ได้ค่ะ

คุยกันมาหลายฉบับคิดว่ามาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะมีความรู้ในเรื่องของเงินโซเชี่ยลเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย ในอดีตผู้เขียนเคยจัดสัมมนาให้ความรู้ชุมขนไทยที่วัดอยู่หลายครั้ง จริงตั้งใจว่าจะจัดขึ้นอีกครั้งในปีนี้แต่ก็มาติดที่เกิดการปิดสถานที่ทางศาสนา ห้ามการชุมชนเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้เขียนกำลังพิจารณาว่าถ้าหากมีการปิดเมืองในระยะยาวอาจจะจัดทางออนไลน์หากจะมีผู้สนใจเข้าฟัง หรืออาจจะพิจารณาจัดอีกครั้งหลังจากสถานการณ์ดีขึ้น ยังไงรอติดตามข่าวสารอัพเดทในคอลัมน์นี้ค่ะ และหากผู้อ่านท่านใดสนใจอยากฟังสัมมนาเรื่องอะไรหรืออยากจะให้เอาเรื่องอะไรมาเขียน สามารถติดต่อผู้เขียนเพื่อมาเสนอแนะได้ค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง รวมทั้งถ้าอยากจะติดตามบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามได้ที่เวบไซด์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ คอลัมน์ประจำฉบับ “เรียนรู้เมื่อต้องอยู่เมืองลุงแซม”

อ้างอิง: https://www.ssa.gov/benefits/retirement/planner/taxes.html


วลัยพรรณ เกษทอง

17 กรกฏาคม 2563