เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



การเตรียมตัวรับมือทางด้านสุขภาพกับภาวะไฟป่า

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้ไปคุยกับพี่หมอยศ นพ.จิรยศ จินตนดิลก คุณหมอผู้เชี่ยวชาญโรคปอด รุ่นพี่ของผู้เขียนมาให้ช่วยให้คำแนะนำถึงเรื่องการดูแลสุขภาพกับคนไทยที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องไฟป่า วันนี้เลยขอนำข้อแนะนำของพี่หมอมาลงในพื้นนี้ค่ะ

โลกนี้เริ่มอยู่ได้ยากขึ้นทุกวัน ทุกปีประชาชนในแคลิฟอร์เนียได้รับผลกระทบจากไฟป่า ปีนี้ค่อนข้างจะหนักหน่อยแต่มันก็ไม่ใช่วันสิ้นสุดในโลกหรอกนะครับ เราเป็นมนุษย์หน้าที่หลักของมนุษย์ก็คือต้องมีชีวิตรอดอยู่ได้แต่สิ่งหนึ่งที่เรามีแต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆไม่น้อยกว่าเราก็คือ ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือเลว ผมขออนุญาตนำความรู้จากหน่วยงานรัฐบาลในอเมริกามาเผยแพร่ให้กับชุมชนของคนไทยเราในระหว่างวิกฤติไฟป่านี้

เราสามารถแบ่งการเตรียมตัวออกเป็นสามขั้นตอนดังต่อไปนี้นะครับ

ขั้นที่หนึ่ง การเตรียมตัวก่อนที่จะเจอไฟป่า

- ติดตามข่าวในพื้นที่อย่างใกล้ชิด จากทางเว็บ www.airnow.com. www.enviroflash.info

- เรียนรู้แผนการอพยพในชุมชน ศึกษาทางหนีทีไล่และสถานที่ที่รัฐบาลจัดหาให้ ถ้ามีสัตว์เลี้ยงก็ต้องเตรียมตัวให้กับสัตว์เลี้ยงเช่นหมาแมวก็เตรียมปลอกคอหรือว่าใส่ไมโครชิพ และเตรียมข้อมูลของสัตว์เลี้ยง เช่น ประวัติวัคซีน เตรียมน้ำอาหารให้พอ 7 ถึง 10 วัน

- ปรับปรุงบ้านในกรณีที่ต้องเจอกับควันไฟจากไฟป่า ขณะกำลังเตรียมตัวควรติดตั้งไส้กรองอากาศหรือฟิลเตอร์ที่มีคุณภาพสูงพอที่จะป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดน้อยกว่า 100 ไมโครเมตร เตรียม air cleaner แต่ให้หลีกเลี่ยงชนิดที่จะทำให้เกิดก๊าซโอโซน สำหรับแคลิฟอร์เนียสามารถเข้าไปดูชนิดของเครื่องที่เหมาะสมได้ที่ www.arb.ca.gov/research/indoor/aircleaners/certified.htm โดยขนาดของเครื่องที่จะใช้ก็ให้เข้าไปดูในเว็บไซต์wwwahamdir.com

- เตรียมหน้ากากกรองฝุ่น respirator ซึ่งจะต้องเป็น ชนิดNIOSH N95 หรือ P100 Air purifying respirators ส่วนหน้ากากทั่วไปที่ใช้อยู่ในตามท้องถนนจะไม่สามารถป้องกันสารเคมีและแก๊สได้

- เตรียมยาสามัญประจำบ้านและผู้ใดที่มีโรคประจำตัวก็ให้เตรียมยาให้พร้อม

- ถ้าต้องเคลื่อนย้ายออกจากบ้านก็ต้องพร้อมที่จะออกทันทีเตรียมจัดกระเป๋าไว้พร้อมในกรณีที่ฉุกเฉิน

- เอกสารสำคัญทางกฏหมายและของมีค่าต้องจัดเก็บให้เรียบร้อยและพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายได้ตลอดเวลา

- สตรีมีครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษ ถ้ามีความเสี่ยงสูงก็ควรจะอพยพออกไปก่อนโดยเฉพาะในคนที่เคยมีประวัติการคลอดยากหรือมีโรคประจำตัว ถ้าจำเป็นต้องอยู่ที่บ้านก็ต้องระวังและเตรียมกระเป๋าเดินทางพร้อมที่จะหนีได้ตลอดเวลา หากเป็นคนที่ใกล้คลอด ต้องเรียนรู้สัญญาณการคลอด เช่น ปวดท้องถี่ขึ้น การนับจำนวนการปวด หรือถุงน้ำคร่ำแตก

ขั้นที่สอง ระหว่างที่หนีไฟป่า

- ปิดขอบประตูด้านหน้าต่างเพื่อไม่ให้ฝุนละอองเข้า ห้ามใช้ที่ส่องแสงสว่าง แก๊สโปรเพน สเปรย์ หรือเครื่องปั่นไฟที่ใช้แก๊สหรือน้ำมันภายในบ้าน

- ห้ามสูบบุหรี่หรือดูดฝุ่นภายในบ้านในระหว่างที่อากาศภายนอกยังจะไปด้วยฝุ่นละออง

- ติดตามข่าวภายในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด

ขั้นที่สาม หลังเกิดไฟป่า

- หลังไฟป่าผ่านไปแล้วก็จะเป็นช่วงเวลาที่จะต้องทำความสะอาด ในช่วงนี้จะต้องย้ายเด็กหรือผู้ที่มีความเสี่ยง เช่นผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังโรคหอบหืดและผู้สูงอายุให้ออกจากบ้านในระหว่างที่ต้องทำความสะอาด

- ในบ้านที่มีเด็กอยู่ไม่ควรให้เด็กมาช่วยทำความสะอาดเพราะเด็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการระคายเคืองทางเดินหายใจจากฝุ่นละออง

- ในคนไข้ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ และโรคหอบคือ จะต้องมีการเตรียมตัวที่ดีกว่าคนปกติ ต้องเตรียมยาไว้ให้พร้อมถ้าเป็นไปได้ก็ให้อพยพหนีออกไปจากพื้นที่จนกว่าจะปลอดภัยจากไฟป่าแล้ว

- ไฟป่าสามารถทำให้เกิดฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กและระคายเคืองกับระบบทางเดินหายใจตั้งแต่จมูกลงมาถึงหลอดลมและเนื้อเยื่อปอด ถึงแม้จะมีสุขภาพดีแค่ไหนคุณก็จะต้องประเชิญกับปัญหาของฝุ่นละอองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องของโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหอบหืดก็จะมีอาการมากกว่าคนปกติ

- ฝุ่นละออง จากไฟป่าสามารถทำให้เกิดอาการไอทั้งมีเสมหะและไอแบบแห้งแห้ง ระคายเคืองนัยน์ตาเจ็บคอน้ำมูกไหลเจ็บอก ทำให้เกิดมีปัญหาการหายใจหายใจหอบและรุนแรงมากขึ้น อาการที่เป็นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและปริมาณของฝุ่นละอองที่เข้าไปกระทบในทางเดินหายใจ ถ้าเป็นมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดอาการหลอดลมอุดตันและการหายใจล้มเหลวถึงกับต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเลยทีเดียว

- ในคนไข้ที่มีโรคหัวใจก็อาจจะทำให้เกิดอาการหัวใจวายกล้ามเนื้อหัวใจอุดตัน อาจจะเกิดการอุดตันในสมองหรืออาจจะทำให้ตายอย่างเฉียบพลันจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ

- สุดท้ายก็เตรียมโทรศัพท์มือถือพร้อมแบตเตอรี่ไว้ให้พร้อมจวนตัวเมื่อไหร่ก็โทรเข้า 911 ทันทีเลย

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง รวมทั้งถ้าอยากจะติดตามบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามได้ที่เวบไซด์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ คอลัมน์ประจำฉบับ “เรียนรู้เมื่อต้องอยู่เมืองลุงแซม”

อ้างอิง: การเตรียมตัวรับมือทางด้านสุขภาพกับภาวะไฟป่า โดย นพ.จิรยศ จินตนดิลก


วลัยพรรณ เกษทอง

4 กันยายน พ.ศ. 2563