เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



การคุ้มครองของเมดิแคร์นอกประเทศ (ต่อ)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องการคุ้มครองของเมดิแคร์นอกประเทศกันต่อ ขอสรุปเนื้อหาจากฉบับที่แล้วไว้ว่า เมดิแคร์เป็นโครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเมดิแคร์จะไม่จ่ายค่าบริการทางการแพทย์หรือเครื่องมือเมื่อเราไปทำการรักษานอกประเทศ แต่จะให้การคุ้มครองตามข้อยกเว้นใน 3 กรณีเท่านั้นคือ เกิดเหตุการฉุกเฉินทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐ แต่โรงพยาบาลนอกประเทศที่สามารถรักษาอาการท่านได้อยู่ใกล้กับท่านมากกว่ารพ.ในประเทศ เกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างการเดินทางผ่านประเทศแคนาดาและโรงพยาบาลของประเทศแคนาดาใกล้กว่าโรงพยาบาลของสหรัฐซึ่งสามารถรักษาท่านได้ หรือท่านอาศัยอยู่ในสหรัฐและโรงพยาบาลต่างชาติอยู่ใกล้กับบ้านของท่านมากกว่าโรงพยาบาลของสหรัฐที่สามารถรักษาพยาบาลท่านใด้ ก็สามารถได้รับการคุ้มครองแม้ไม่เป็นเหตุฉุกเฉินเช่นกัน

การคุ้มครองในสภาพที่อยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าวมีดังนี้ พาร์ท เอ จะคุ้มครองการรักษาพยาบาลเมื่อแพทย์รับตัวท่านเป็นคนไข้ในของโรงพยาบาลต่างประเทศ ส่วนพาร์ท บี จะคุ้มครองบริการ เช่น รถพยาบาลหรือการพบแพทย์ก่อนหรือระหว่างการเป็นคนไข้ใน แต่อย่างไรก็ตามหากเมดิแคร์ไม่คุ้มครองการเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคุณได้รับการบริการรถพยาบาลนอกโรงพยาบาลหลังจากที่การคุ้มครองระหว่างเป็นคนไข้ในหมดไป เมดิแคร์ส่วนใหญ่จะไม่จ่ายค่าบริการเหล่านี้ เช่น เมดิแคร์ไม่จ่ายค่ารถพยาบาลขากลับไปส่งที่บ้าน ดังนั้นเมดิแคร์พาร์ทบีจึงจะคุ้มครองในส่วนของบริการของแพทย์และรถพยาบาลที่เกิดขึ้นและระหว่างการเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลของต่างประเทศเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามหากเมดิร์ไม่คุ้มครองค่าบริการในโรงพยาบาลและคุณไปหาหมอนอกโรงพยาบาล เมดิแคร์ก็จะไม่จ่ายค่าบริการเหล่านี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เมดิแคร์ไม่คุ้มครองค่าบริการของแพทย์ที่คุณไปรักษาในประเทศแคนาดาหลังจากที่คุณไม่ได้เป็นคนไข้ในของโรงพยาบาลที่แคนาดาแล้ว ดังนั้นจึงต้องจำไว้ว่าเมดิแคร์จ่ายเพียงแค่ค่าใช้จ่ายส่วนที่คุ้มครองโดยเมดิแคร์ปกติเท่านั้น ซึ่งหากคุณมีเพียงแคร์พาร์ท เอ ก็จะคุ้มครองแค่ส่วนของการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้นค่ะ

สำหรับผู้ป่วยฟอกไต เว้นแต่มีเหตุตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เมดิแคร์จะไม่จ่ายค่าฟอกไตเมื่อคุณเดินทางนอกประเทศ รวมทั้งไม่จ่ายค่ายาที่แพทย์สั่งซึ่งซื้อนอกประเทศด้วย

สำหรับท่านที่ไปท่องเที่ยวในเรือสำราญ เมดิแคร์อาจคุ้มครองค่าบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นในบางกรณี เช่น แพทย์ที่ให้การรักษาได้รับการอนุญาตให้ทำการรักษาบนเรือนั้นได้ เรือนั้นอยู่บริเวณท่าเรือของสหรัฐหรือออกจากท่าเรือมาไม่เกิน 6 ชั่วโมงในขณะที่คุณได้รับการรักษาพยาบาล (โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุฉุกเฉินเท่านั้น) ซึ่งหากออกจากฝั่งเกิน 6 ชั่วโมงไปแล้วเมดิแคร์ไม่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลค่ะ

หากท่านเกิดไปได้รับการรักษาพยาบาลนอกประเทศในขณะที่ได้รับเมดิแคร์ และไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นข้างต้น เมดิแคร์จะไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ท่านได้รับนอกประเทศ โดยท่านจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยตัวท่านเอง แต่หากว่ากรณีของท่านเข้าข่ายที่เมดิแคร์จะช่วยจ่ายในค่ารักษาพยาบาล ท่านก็ยังต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่า co-pay และ deductible ตามแบบของประกันที่ท่านมีอยู่ในแบบเดียวกับที่ทำการรักษาในประเทศอยู่ ปกติเวลารักษากับโรงพยาบาลของสหรัฐเขาจะยื่นเคลมค่ารักษาพยาบาลให้ท่านแต่โรงพยาบาลในต่างประเทศจะไม่ยื่นเคลมให้ ดังนั้นท่านจะต้องทำการยื่นเคลมและแสดงรายละเอียดบิลค่ารักษาพยาบาลกับเมดิแคร์เอง แต่ในกรณีที่มีการรักษาบนเรือส่วนใหญ่แพทย์มักจะยื่นเคลมให้กับท่านค่ะ มีเพียงบางรายที่ท่านก็ต้องยื่นเคลมเอง

หากท่านมีประกันเมดิแกป (Medigap หรือ Medicare Supplement Insurance) ซึ่งเป็นประกันเสริมของผู้มีเมดิแคร์ ประกันนี้จะมีขายเสริมให้ท่านสามารถรับการคุ้มครองเพิ่มขึ้นจากที่มีเสนอในเมดิแคร์อยู่ ซึ่งแพลน ซี ดี เอฟ จีและเอ็น จะคุ้มครองการรักษาฉุกเฉินนอกประเทศเมื่อท่านเดินทางในต่างประเทศ โดยแพลน อี เอช และเจในขณะนี้ไม่มีการขายให้ท่านแล้วแต่หากท่านมีแพลนนี้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2010 ท่านสามารถมีการคุ้มครองอย่างต่อเนื่องได้อยู่ค่ะ แพลนดังกล่าวจะให้การคุ้มครองการรักษาพยาบาลฉุกเฉินระหว่างการเดินทางนอกประเทศ โดยเมดิแกปแพลน ซี ดี อี เอฟ จี เอช ไอ เจ เอ็มและเอ็นจะจ่ายค่าใช้จ่าย 80 % สำหรับการรักษาในกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นนอกประเทศหลังจากที่ท่านจ่าย deductible ไปแล้ว 250 เหรียญในปีนั้น โดยประกันเมดิแกปนี้จะคุ้มครองการรักษาหากได้เริ่มต้นแพลนในช่วง 60 วันแรกของการเดินทางและเมดิแคร์ไม่คุ้มครองการรักษา โดยจะให้คุ้มครองค่าใช้จ่ายสูงสุด 50,000 เหรียญตลอดชีวิตของผู้เอาประกันค่ะ ดังนั้นหากท่านมีประกันเมดิแกปควรจะตรวจสอบข้อมูลการคุ้มครองกับตัวแทนของท่านก่อนการเดินทาง ผู้ที่สนใจประกันเมดิแกป สามารถหาข้อมูลได้ที่หมายเลข 1-800-633-4227 หรืออ่านเอกสารที่มีแจกจากเมดิแคร์ก็ได้ค่ะ

สำหรับผู้ที่มีประกันสุขภาพที่ไม่ใช่เป็นเมดิแคร์แบบเบื้องต้น เช่น มีประกันที่เรียกว่า เมดิแคร์แอนแวนเทจ (เช่น เอชเอ็มโอ หรือพีพีโอ) หรือประกันสุขภาพที่เป็นเมดิแคร์อย่างอื่นนั้น อาจจะมีการคุ้มครองสำหรับการรักษาเพิ่มเติมนอกประเทศก็ได้ ดังนั้นจึงควรจะตรวจสอบการคุ้มครองในแพลนของท่านกับตัวแทนก่อนการเดินทางค่ะ

อ่านดูแล้วถ้าไม่มั่นใจว่าเมดิแคร์ของท่านคุ้มครองในกรณีไหนบ้าง ท่านก็สามารถซื้อประกันที่คุ้มครองระหว่างการเดินทางที่เรียกว่า Travel Insurance ได้ โดยสามารถซื้อก่อนการเดินทางกับตัวแทนหรือบางทีก็มีนำเสนอมาให้เวลาที่ท่านซื้อตั๋วเครื่องบินหรือตั๋วเรือสำราญก็มี แต่ก่อนซื้อก็ควรจะอ่านให้ละเอียดว่ามีการคุ้มครองประเภทไหนอย่างไรบ้างนะคะ

ฉบับนี้จบเรื่องการคุ้มครองของเมดิแคร์สำหรับการรักษาพยาบาลนอกประเทศกันแล้ว หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปอ่านได้ที่เวบไซด์ Medicare.gov หรือโทร.ไปสอบถามที่หมายเลข 1-800-MEDICARE (1-800-633-4227) ค่ะ ก่อนจากไปขอยำอีกครั้งว่าท่านสามารถเข้าไปลงทะเบียนกับเมดิแคร์ได้ 3 เดือนก่อนเดือนเกิดของท่าน ในเดือนเกิดของท่านและหลังจากเดือนเกิดของท่าน 3 เดือน ในปีที่ท่านอายุครบ 65 ปี ถ้าพลาดโอกาสลงทะเบียนใน 7 เดือนนี้เบี้ยประกันของท่านจะเพิ่มขึ้นตลอดชีวิต จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก วิธีการลงทะเบียนก็ไม่ยากสามารถลงทะเบียนออนไลน์หรือไปที่สำนักงานโซเชี่ยลซีคิวริตี้ในเขตที่ท่านอยู่ได้เลยค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ความรู้ทั่วไปมิใช่เป็นการแนะนำทางกฏหมายหรืออื่นใดเฉพาะ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง ส่วนใครอยากอ่านบทความย้อนหลังก็หาอ่านได้ในคอลัมน์ “เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม” ทางเวบไซด์ของนสพ.ไทยแอลเอได้เลยค่ะ

อ้างอิง: https://www.medicare.gov/Pubs/pdf/11037-Medicare-Coverage-Outside-United-Stat.pdf


วลัยพรรณ เกษทอง

10 มกราคม 2563