เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง
การซื้อกรมธรรม์เงินบำนาญเพื่อสำรองเงินมาใช้ระหว่างการเจ็บป่วยระยะยาว

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ฉบับนี้มาพูดถึงวิธีการสำรองเงินมาใช้ระหว่างการเจ็บป่วยระยะยาวซึ่งจะเป็นตัวเลือกอื่นกันต่อค่ะ ซึ่งหนึ่งในวิธีนั้นก็คือ การใช้กรมธรรม์เงินบำนาญ หรือรู้จักกันในท้องตลาดในชื่อของอนูอิตี้ (Annuities) มาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายกันค่ะ

เจ้ากรมธรรม์เงินบำนาญหรืออนูอิตี้นี้เป็นกรมธรรม์ที่ออกให้โดยบริษัทประกันชีวิต บางท่านอาจจะเคยซื้อกับธนาคารหรือว่าบริษัทอื่น ๆ แต่ถ้าดูตัวกรมธรรม์กันดี ๆ คนที่ทำสัญญากับท่านคือบริษัทประกันชีวิตนะคะ ไม่ใช่ธนาคารหรือบริษัทที่ท่านซื้อ ธนาคารหรือบริษัทที่ท่านซื้อด้วยเป็นเพียงตัวกลางที่ช่วยในการซื้อเท่านั้นค่ะ การซื้อกรมธรรม์เงินบำนาญพวกนี้ก็ไม่ยุ่งยากอะไรค่ะ ท่านสามารถซื้อโดยสะสมเงินเข้าทีละน้อยๆ ในกรมธรรม์จนกว่าวันที่ท่านจะขอให้บริษัทประกันจ่ายเงินให้ท่านคืน หรือใส่เงินเป็นก้อนเข้าไปทิ้งไว้เป็นระยะเวลาตามสัญญาเพื่อสะสมดอกเบี้ย รอวันที่ท่านจะเอาออกมาใช้ก็ได้ค่ะ เมื่อถึงวันที่ท่านต้องการใช้เงินท่านสามารถเลือกได้ว่าจะเอาเงินที่สะสมไว้ออกมาเป็นก้อนหรือให้เขาจ่ายเป็นรายเดือน รายปี ตามระยะเวลาที่ท่านเลือก และท่านสามารถเลือกให้จ่ายเงินทันทีหลังจากทำสัญญาหรือว่าจะเอาเงินทิ้งไว้สะสมดอกเบี้ยก่อนแล้วค่อยให้จ่ายคืนภายหลังก็ได้ค่ะ

ในช่วงของการรับเงินท่านจะได้เงินเป็นจำนวนที่เท่ากัน บริษัทจะคำนวณเงินที่จะจ่ายให้ท่านจากอายุของท่านขณะที่รับเงินและแบบที่ท่านจะเลือกขอรับเงิน โดยท่านสามารถเลือกได้ว่าจะขอให้บริษัทจ่ายเงินให้ท่านตลอดชีวิต (Life Annuities) จ่ายจนกว่าจะครบช่วงเวลา เช่น จนครบ 10 ปีหรือ 20 ปี (Period Certain) จ่ายเป็นเงินจำนวนเท่ากันไปจนกว่าจะเงินหมด (Fixed Amount) จ่ายจนกว่าท่านจะเสียชีวิตและจ่ายต่อให้กับผู้รับผลประโยชน์จนครบเวลา (Life and Period Certain) จ่ายเงินทั้งหมดคืนเป็นก้อน (Lump Sum Payment) หรือจ่ายแบบทยอยรับเงินทั้งหมดคืน (Installment refund) ก็ได้ค่ะ ซึ่งกรมธรรม์พวกนี้ก็จะมีผลประโยชน์ให้กับทายาทของท่าน (Death Benefit) ด้วยหรือสามารถถ่ายโอนให้กับคู่สมรสของท่านให้สะสมต่อหลังจากท่านเสียชีวิตได้ด้วยค่ะ เนื่องจากการสะสมเงินแบบนี้เป็นการสะสมเงินระยะยาวซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจะมีผลกับเรื่องภาษีของท่าน รวมทั้งเมื่อท่านเลือกแบบการจ่ายเงินแล้ว ท่านจะไม่สามารถกลับไปเปลี่ยนได้ ดังนั้นการจะเลือกรับเงินแบบไหน เท่าไหร่ ควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ก่อนจะเลือกแบบกรมธรรม์และเลือกแบบการรับเงินนะคะ ซึ่งการที่เขาจะให้คำแนะนำได้เขาก็จะต้องถามข้อมูลเกี่ยวกับความตั้งใจของท่านที่จะใช้เงินและสภาพการเงินของท่านค่ะ ถ้าท่านพบแต่คนที่ไม่ถามข้อมูลอะไรเลย พูดแต่เรื่องในส่วนของการขาย แสดงว่าเขาไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ดีที่สุดเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของท่านค่ะ

เรื่องกรมธรรม์เงินบำนาญหรืออนูอิตี้นี้มีรายละเอียดปลีกย่อยมาก รวมทั้งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้อยู่พอสมควร เพราะได้ดูแลลูกค้าเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 10 ปี ดังนั้นจึงอยากจะขอพูดถึงเรื่องนี้อย่างละเอียดสักหน่อย ซึ่งคงจะต้องใช้พื้นที่ในหลายฉบับ ดังนั้นจึงขอยกยอดเรื่องของประเภทของกรมธรรม์เงินบำนาญ 2 ประเภทแรกคือ แบบที่จ่ายเงินให้หลังทำสัญญาทันที (Immediate Annuities) และแบบที่จ่ายเงินภายหลัง (Deferred Annuity) ไปพูดถึงกันในฉบับหน้ากันค่ะ

ก่อนจากไปในสัปดาห์นี้ ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านหลายท่านที่ติดตามบทความนี้นะคะ เวลาผู้เขียนไปเจอท่านผู้อ่าน หรือมีผู้อ่านโทร.เข้ามาสอบถามและได้รับทราบว่าบทความนี้มีประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย ทำให้ผู้เขียนมีกำลังใจในการสร้างสรรผลงานหาเรื่องที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวันของพี่น้องชาวไทยในเมืองลุงแซมมาเขียนกันทุกสัปดาห์ค่ะ เจอกันฉบับหน้าและขอให้ผู้อ่านทุกท่านใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องกับวันมาร์ติน ลูเธอ คิง ในวันจันทร์หน้าค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง


วลัยพรรณ เกษทอง
17 มกราคม พ.ศ. 2562