เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



กระบวนการฟอกเงิน

สืบเนื่องจากที่ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง FATCA หรือกฏหมายเกี่ยวกับการรายงานบัญชีนอกประเทศไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ที่รัฐบาลสหรัฐก็ให้ความสนใจมากเช่นกันคือ เรื่องของการฟอกเงิน สหรัฐเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเส้นทางและที่มาที่ไปของธุรกรรมทางการเงินที่เข้าออกประเทศอย่างมาก ทำให้มีการตรากฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินขึ้นมาหลายฉบับ ซึ่งหลายคนที่ไม่ได้ทำงานทางด้านที่เกี่ยวกับการเงินคงไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัดกับกระบวนการลักษณะนี้ วันนี้ก็เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังกันเพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่ต้องทำธุรกรรมกับเงินสดหรือเงินอิเลคทรอนิคจำนวนมากค่ะ

การฟอกเงิน (Money Laundering) ก็เหมือนอย่างชื่อนี่แหละค่ะ คือทำจากเงินสกปรก (ไม่ถูกกฏหมาย) ให้เป็นเงินสะอาด (ถูกกฏหมาย) ตามคำจำกัดความที่ให้ไว้ในวิกิพีเดีย กระบวนการฟอกเงินเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงผลกำไรของอาชญกรรมและการคอรัปชั่นไปสู่ทรัพย์สินที่ “ถูกกฏหมาย” อย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตามในระบบของกฏหมายและกฏระเบียบนั้นคำว่า “ฟอกเงิน” ได้กลายไปผสมรวมกันกับอาชญากรรมทางการเงินและธุรกิจในรูปแบบอื่น และบางครั้งก็ถูกใช้ไปกล่าวโดยทั่วไปถึงการใช้ระบบการเงิน (รวมถึงสิ่งเช่น หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เงินอิเลคทรอนิค บัตรเครดิตและเงินธนบัตร) ไปเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายทางการเงินและการแทรกแซงของการกีดกันระหว่างประเทศอีกด้วย กฏหมายเกี่ยวกับการปราบปรามการฟอกเงินส่วนใหญ่จะรวมเอาส่วนของการฟอกเงิน (ซึ่งมุ่งพิจารณส่วนแหล่งที่มาของเงิน) เข้ากับธุรกรรมการเงินของผู้ก่อการร้าย (ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ปลายทางของเงิน) เมื่อมีการควบคุมสอดส่องดูแลระบบการเงิน ซึ่งอาชญากรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการฟอกเงิน ได้แก่ การค้ายาเสพติด การก่อการร้าย การค้ามนุษย์ เป็นต้น

กระบวนการฟอกเงินนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอนคือ การหาที่เก็บเงิน การแบ่งแยกเงิน และการรวมเงิน

1. การหาที่เก็บเงิน (placement) หมายถึงการกระทำที่นำเอา “เงินสกปรก” (เงินที่ได้รับมาจากแหล่งที่ผิดกฏหมายหรือจากอาชญากรรม) ฝากเข้าไปอยู่ในระบบการเงินในทางใดทางหนึ่ง

2. การแบ่งแยกเงิน (layering) หมายถึง การกระทำที่ปิดบังแหล่งที่มาของเงินโดยการใช้การโอนเงินหลาย ๆ ครั้งและใช้การตกแต่งบัญชี

3.การรวมเงิน (integration) หมายถึง การกระทำที่เกี่ยวกับการนำเอาเงินจากขั้นตอนที่ 2 มารวมกันแล้วทำให้เห็นว่าเป็นเงินที่ถูกกฏหมาย

ทางหนึ่งที่มีเกิดการฟอกเงินเกิดขึ้นก็คือเมื่อองค์กรอาชญากรรมส่งผ่านเงินสดที่ได้รับมาโดยผิดกฏหมายไปยังธุรกิจที่ซื้อขายโดยใช้เงินสดเป็นหลัก โดยจะเพิ่มมูลค่าเงินที่ได้รับต่อวันขึ้นนิดหน่อย องค์กรเหล่านี้จะเป็นที่รู้จักกันในนามของ “หน้าร้าน” อย่างที่เห็นในทีวี เช่น คนค้ายาส่งต่อรายได้จากการขายยาผิดกฏหมายผ่านทางธุรกิจล้างรถซึ่งมีการรับเงินสด เป็นต้น

รูปแบบทั่วไปที่พบในกระบวนการฟอกเงินอีกอย่างหนึ่งก็คือการแยกเงินก้อนใหญ่แล้วส่งต่อไปทีละน้อยในระยะเวลาหนึ่งที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า smurfing หรือบางทีก็รวมถึงการขนเงินสดจำนวนมากข้ามพรมแดนเพื่อนำไปฝากในบัญชีนอกประเทศซึ่งกฏหมายการปราบปรามการฟอกเงินหละหลวมกว่า

ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลของสหรัฐมีกฏหมายการฟอกเงินในระดับของตัวเอง โดยในระดับรัฐบาลกลางจะเน้นปราบปรามอาชญากรรมในสเกลใหญ่ซึ่งมักจะเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์และการปลอมแปลงเงิน

โทษของคดีฟอกเงินนั้นจะมีผลกับใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการโอนถ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นการโอนทรัพย์สิน การใช้สถาบันทางการเงิน หรือการถ่ายโอนเงินที่ได้ หากว่าบุคคลนั้นรู้หรือควรจะรู้ว่าเงินเหล่านั้นมาจากกิจกรรมที่ผิดกฏหมาย บทลงโทษจะแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของอาชญากรรม โดยทั่วไปอาจจะมีค่าปรับที่สูงถึง 5 แสนเหรียญหรือมีการจำคุกถึง 20 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีอายุความตามกฏหมายสหรัฐ 5 ปี

ดังนั้นหากท่านหรือใครที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับเงินสดจำนวนมาก ไม่ว่าจะจากการค้าขายหรือการโอนเงินผ่านตลาดมืดที่ไม่เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด ก็ให้ลองคิดหนัก ๆ นะคะ เพราะการที่ท่านประหยัดค่าใช้จ่ายในการโอน หรือการประหยัดภาษีโดยการแอบซ่อนเงินนั้นอาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจคิดสงสัยว่าท่านกำลังเกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงินซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมก็ได้ ซึ่งโทษหรือค่าปรับที่ได้รับนั้นหนักหนาสาหัสมากอย่างที่เห็น เพราะฉะนั้นทำถูกไว้ดีกว่า หลับสบายได้ทุกคืน แต่หากท่านห่วงเรื่องว่าทำถูกต้องไม่ได้เพราะต้องเสียภาษีเยอะไป ก็ขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาการเงินที่สามารถแนะนำวิธีในการวางรูปแบบของเงินและทรัพย์สินตามหลักที่ถูกต้องตามกฏหมาย ด้วยความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจะทำให้ท่านสามารถทำให้เงินงอกเงยจนเงินเฟื้อก็วิ่งตามกัดกินเงินของท่านไม่ทัน หรือนำเงินไปใส่ในบัญชีประเภทปลอดภาษีซึ่งจะทำให้ท่านประหยัดภาษีได้จำนวนมากได้โดยไม่ต้องเอาเงินไปซ่อนแอบที่ไหนค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือ (626)999-4751 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง

อ้างอิง: http://www.investopedia.com/terms/m/moneylaundering.asp


วลัยพรรณ เกษทอง

20 มิถุนายน 2562