เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



เอ เอ อาร์ พี (AARP) องค์กรเพื่อคนวัยเกษียณ

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ในช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนได้เจอกับลูกค้าในวัยก่อนเกษียณและวัยเกษียณหลายคนซึ่งเป็นสมาชิกของ เอ เอ อาร์ พี (AARP) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งเป้าในการให้ความรู้และช่วยเหลือบุคคลในวัยนี้ ซึ่งเท่าที่คุยกับพี่น้องชาวไทยแล้ว ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักเท่าไหร่ ดังนั้นวันนี้ก็เลยอยากจะขอมาแนะนำองค์กรนี้ให้กับท่านผู้อ่านไทยแอลเอได้รู้จักกันค่ะ

AARP (อ่านว่า เอ เอ อาร์ พี) เป็นองค์กรที่หลายคนโดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุของประเทศสหรัฐรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยชื่อเต็ม ๆ มาจากคำว่า “American Association of Retired Person” หรือสมาคมผู้เกษียณอายุของชาวอเมริกันนั่นเอง องค์กรนี้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการสมาชิกในปี 1985 โดย ดร. Ethel Percy Andrus นักการศึกษาจากรัฐแคลิฟอร์เนียและ Leonard Davis โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจะพัฒนาคุณภาพของชีวิตให้กับชาวอเมริกันเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นผ่านการให้ความรู้และบริการแก่สมาชิก ซึ่งในขณะนี้มีสมาชิกมากกว่า 38 ล้านคนแล้ว ทำให้ AARP เป็นองค์กรใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างมากในประเทศสหรัฐอเมริกา

AARP มีองค์กรมากมายที่อยู่ภายใต้ ซึ่งจะประสานงานกันเพื่อช่วยในการประกอบกิจการช่วยเหลือสมาชิกขององค์กรอันได้แก่

- มูลนิธิ AARP ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีอายุมากกว่า 50 ปีและมีความเสี่ยงต่อสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ

- กลุ่ม AARP Experience Corps สนับสนุนให้ผู้มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ไปให้การอบรมและสอนนักเรียนในโรงเรียน

- สถาบัน AARP Institute เป็นผู้ดูแลกองทุนจากการบริจาคบางส่วน

- บริษัท AARP Services ให้บริการควบคุมคุณภาพและการวิจัย

- ศูนย์ให้คำปรึกษากฏหมายแก่ผู้สูงอายุ (Legal Counsel for the Elderly) ให้ความช่วยเหลือทางกฏหมายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งที่อยู่นครวอชิงตัน ดีซี

- บริษัท AARP Financial Services จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ AARP ถือครอง

- องค์กร AARP Insurance Plan จัดการประกันสุขภาพแบบกลุ่มในบางส่วนให้กับ AARP

รายได้หลักนอกจากจะมาจากค่าสมาชิกแล้วยังมาจากค่าใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ชื่อและโลโก้ และค่าโฆษณาที่อยู่บนเอกสารที่แจกให้กับสมาชิก ในปัจจุบันองค์กรได้ขยายการให้บริการไปสู่ผู้ที่อายุน้อยกว่า 50 ปีนอกเหนือไปจากกลุ่มสมาชิกดั้งเดิมซึ่งมีอายุมากกว่า 50 ด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปีจะเป็นสมาชิกประเภท “associate” และเมื่ออายุครบ 50 ปีสถานะของสมาชิกภาพจะเปลี่ยนเป็นสมาชิกประเภท “full”

AARP นั้นให้บริการที่หลากหลายแก่สมาชิก เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ให้ส่วนลดในบริการต่าง ๆ และเป็นช่องทางเชื่อมต่อกับบริการอื่น ๆ แก่สมาชิก เป็นต้น หากท่านสนใจสามารถเข้าไปหารายละเอียดได้เพิ่มเติมจากเวบไซด์ http://www.aarp.org/benefits-discounts/

ในส่วนของผู้เขียนนั้นทางบริษัทนิวยอร์คไลฟ์ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ด้วย ได้มีส่วนร่วมในการให้บริการสมาชิกทางด้านประกันชีวิตและประกันคุ้มครองการเจ็บป่วยระยะยาว รวมทั้งให้ความรู้ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลวัยเกษียณด้วย ดังนั้นหากท่านผู้อ่านสนใจอยากทราบเรื่องเกี่ยวกับองค์กรนี้เพิ่มเติมหรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันดังกล่าวท่านก็สามารถติดต่อผู้เขียนได้โดยตรงเช่นกันค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือ (626)999-4751 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง


อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/AARP

วลัยพรรณ เกษทอง

23 สิงหาคม 2560