เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



การทำสำมะโนประชากรของสหรัฐ (U.S. Census)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปประชุมกับนักการเมืองในกลุ่ม API Caucus ของรัฐแคลิฟอร์เนียที่เดินทางมารับฟังปัญหาและหาความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น โดยหนึ่งในหลายเรื่องที่เรามีการพูดถึงในการประชุมที่ถือว่ามีความสำคัญสำหรับประชาชนเมืองลุงแซมก็คือ เรื่องของการทำสัมโนประชากรในปี 2020 ซึ่งปีหน้านี้ ซึ่งก็อยากจะเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังกันค่ะ

การทำสำมะโนประชากรของสหรัฐหรือที่เรียกว่า Census อ่านว่า “เซ็นซัส” นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากการเกิดปฏิวัติอเมริกันในรัฐเวอร์จิเนียในปีค.ศ. 1790 ในสมัยที่ธอมัส เจฟเฟอร์สันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนการสำมะโนประชากรแห่งชาติครั้งล่าสุดได้ทำในปีค.ศ. 2010 และจะจัดครั้งต่อไปในปีค.ศ. 2020 ซึ่งจะทำส่วนใหญ่ทางอินเตอร์เนต ในระหว่างช่วงเวลา 10 ปีทางหน่วยงาน Census Bureau จะมีการประเมินจำนวนประชากรคร่าว ๆ โดยใช้แบบสอบถามและโมเดลทางสถิติโดยเฉพาะจากแบบสอบถามที่ชื่อว่า American Survey

ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ ความจำเป็นและความสนใจของประเทศมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นมาก ทำให้สถิติกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือให้คนเข้าใจว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในประเทศและถูกใช้เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการวางแผน ทำให้ข้อมูลที่อยู่ในแบบสอบถามมีความเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ โดยในปีค.ศ. 1810 มีการถามข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต ปริมาณและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ในปี 1840 มีการเพิ่มเติมคำถามเกี่ยวกับการประมง และในปี 1850 มีการรวมเอาเรื่องทางสังคม เช่น ภาษี ศาสนา ความยากไร้และอาชญากรรม มาถามด้วย รวมทั้งการสำมะโนประชากรนี้ยังขยายการจัดทำออกไปยังบริเวณอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากในครั้งแรก ๆ ทำกันในรัฐที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฏษ แต่ภายหลังก็มีการขยายออกไปจนขณะนี้มีการทำสำมะโนประชากรแห่งชาติกันในทุกรัฐท่วประเทศ

ตามกฏหมายรัฐบาลจะต้องจัดทำสำมะโนประชากรขึ้นทุก 10 ปี โดยมีระบุบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดทำการสำมะโนประชากรนี้คือ US Census Bureau (หรือชื่อเป็นทางการว่า The Bureau of Census) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงพาณิชย์

วิธีการทำสำมะโนประชากรและวิธีนำเอาข้อมูลไปใช้นั้นมีระบุไว้ในกฏหมายของประเทศ โดยข้อมูลที่ได้มาจะต้องรักษาไว้เป็นความลับ การปฏิเสธหรือไม่ใส่ใจที่จะตอบคำถามในแบบฟอร์มถือเป็นการทำผิดกฏหมายและต้องโทษปรับ 100 เหรียญ การไม่ให้ข้อมูลชื่อที่ถูกต้องต้องโทษปรับ 500 เหรียญ ตัวแทนธุรกิจที่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะต้องโทษปรับ 10,000 เหรียญ

วัตถุประสงค์หลักของการทำสำมะโนประชากรนี้ก็เพื่อแบ่งจำนวนที่นั่งของตัวแทนในสภาของสหรัฐตามจำนวนของประชากร นอกเหนือจากนั้นข้อมูลที่เก็บได้ยังนำไปใช้ในทางสถิติอีกด้วย อย่างที่บอกไว้เบื้องต้นว่าข้อมูลจะต้องเป็นความลับ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างของรัฐหรือใครก็ตามไม่ได้รับการอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยผู้ที่อยู่ในประเทศอย่างไม่มีสถานะไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่ง

เห็นแล้วใช่ไม๊คะว่าการกรอกแบบสำมะโนประชากรเป็นเรื่องที่จะต้องทำตามกฏหมาย หากท่านได้รับแบบสอบถามดังกล่าวก็จะต้องกรอกให้ข้อมูลที่เป็นจริง มิฉะนั้นท่านอาจจะถูกลงโทษก็ได้ค่ะ รวมทั้งข้อมูลที่ได้ก็เป็นความลับและจะถูกนำไปใช้ในการกำหนดจำนวนตัวแทน ซึ่งก็หมายถึงการแบ่งทรัพยากรหรืองบประมาณที่ทางรัฐบาลกลางจะส่งมาให้กับรัฐของท่านด้วย ดังนั้นท่านจึงควรจะให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ยังมีโอกาสสำหรับการจ้างงานผู้ที่จะมาช่วยทำแบบสอบถามดังกล่าวสำหรับผู้ที่สามารถพูดได้ทั้งไทย-อังกฤษ ใครสนใจติดต่อผู้เขียนได้นะคะ จะได้ช่วยติดต่อหน่วยงานที่รับสมัครงานดังกล่าวให้ค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือ (626)999-4751 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_Census


วลัยพรรณ เกษทอง

26 มิถุนายน 2562