เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



โซเชี่ยลซิเคียวริตี้สามารถช่วยท่านได้อย่างไรหากมีคนในครอบครัวเสียชีวิต?

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน นอกจากโซเชี่ยลซีเคียวรีตี้จะช่วยเหลือประชาชนคนของสหรัฐในเรื่องของเงินยามเกษียณแล้ว เขายังช่วยเหลือในยามที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วย โดยฉบับนี้เราจะไปพูดถึงเรื่องว่าโซเชี่ยลฯ จะสามารถช่วยท่านเมื่อคนในครอบครัวของท่านเสียชีวิตได้อย่างไรค่ะ

เมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิตท่านควรจะแจ้งให้โซเชี่ยลซิเคียวริตี้ทราบ โดยทั่วไปแล้วเจ้าหน้าที่ของสุสานหรือผู้จัดงานศพจะเป็นผู้ที่รายงานการเสียชีวิตให้กับสำนักงานฯ ซึ่งท่านจะต้องสามารถบอกหมายเลขโซเชี่ยลของผู้ที่เสียชีวิตให้กับคนจัดงานศพเพื่อเขาจะสามารถช่วยรายงานให้ได้ค่ะ สมาชิกในครอบครัวของผู้เสียชีวิตบางคนอาจสามารถได้รับเงินโซเชี่ยลหากผู้ที่เสียชีวิตทำงานนานเพียงพอที่จะมีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนั้นท่านควรจะติดต่อสำนักงานโซเชี่ยลทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จะได้รับเงินอย่างรวดเร็ว

เมื่อมีผู้เสียชีวิตทางโซเชี่ยลจะจ่ายเงินครั้งเดียวจำนวน 255 เหรียญให้กับคู่สมรสของผู้เสียชีวิตหากว่าได้อาศัยอยู่ด้วยกันก่อนเสียชีวิต หากว่าแยกกันอยู่แต่มีชื่อในระบบว่ามีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ของผู้เสียชีวิตก็ยังอาจสามารถได้รับเงินที่จ่ายครั้งเดียวนี้ได้อยู่ค่ะ หากไม่มีคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่บุตรซึ่งมีสิทธิในผลประโยชน์ซึ่งอยู่ในข้อมูลในเดือนที่เสียชีวิตสามารถเป็นผู้ได้รับเงินจำนวนนี้เช่นกัน

สมาชิกในครอบครัวที่เข้าเกณฑ์จะได้รับสิทธิประโยชน์รายเดือน ได้แก่

- คู่สมรสหม้าย (ทั้งเพศหญิงและชาย) ซึ่งมีอายุอย่างน้อย 60 ปี (หากทุพพลภาพต้องมีอายุอย่างน้อย 50 ปี)

- คู่สมรสหม้าย (ไม่จำกัดอายุ) ที่ดูแลบุตรของผู้เสียชีวิตที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีหรือทุพพลภาพ

- บุตรที่ยังไม่ได้สมรสของผู้เสียชีวิตซึ่งอายุต่ำกว่า 18 (หรืออายุไม่เกิน 19 ปีหากเป็นนักเรียนเต็มเวลาในโรงเรียนระดับประถมหรือมัธยม) หรือบุตรที่อายุ 18 ปีขึ้นไปซึ่งมีภาวะทุพพลภาพก่อนอายุ 22 ปี ส่วนลูกเลี้ยง หลาน หรือหลานเลี้ยง หรือบุตรบุญธรรมก็อาจได้รับสิทธิ์ภายใต้สถานการณ์จำเพาะบางอย่าง

- พ่อแม่ที่อายุ 62 ปีหรือมากกว่า ผู้ซึ่งได้รับการอุปการะโดยผู้ที่เสียชีวิตอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง

- คู่สมรสในอดีตที่หย่าร้างไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ ภายใต้สถานการณ์จำเพาะบางอย่าง

หากผู้เสียชีวิตกำลังได้รับเงินโซเชี่ยลอยู่ ท่านจะต้องคืนเงินที่ได้รับต่อมาหลังจากเดือนที่เสียชีวิต ตัวอย่างเช่น หากมีการเสียชีวิตในเดือนกรกฏาคม ท่านจะต้องคืนเงินที่จ่ายมาให้ในเดือนสิงหาคม หากได้รับโดยการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยตรงให้ติดต่อกับสถาบันการเงินและขอให้เขาส่งคืนเงินที่ได้รับในเดือนที่เสียชีวิตหรือหลังจากนั้น หากได้รับเงินเป็นเช็คอย่าเอาเช็คที่ได้รับในเดือนที่เสียชีวิตหรือเดือนหลังจากนั้น แต่ให้ส่งเช็คคืนที่สำนักงานโซเชี่ยลทันที อย่างไรก็ตามสมาชิกในครอบครัวอาจสามารถได้รับเงินในส่วนของการเสียชีวิต (จ่ายครั้งเดียว) ในเดือนที่มีการเสียชีวิตได้

วิธีที่ง่ายที่สุดในการติดต่อสำนักงานโซเชี่ยลคือทางเวบไซด์ www.socialsecurity.gov. ซึ่งที่นั่นสามารถไปทำเรื่องขอรับเงินโซเชี่ยล เปิดบัญชีเพื่อดูสิทธิประโยชน์เพื่อสามารถขอเอกสารมาดูในแต่ละปีได้ สามารถยืนยันรายได้ที่ทำได้แต่ละปี และสามารถพิมพ์จดหมายยืนยันสิทธิประโยชน์ เปลี่ยนข้อมูลบัญชีที่ฝากเงินเข้า ทำเรื่องขอบัตรเมดิแคร์ และขอเอกสารแสดงการจ่ายเงินโซเชี่ยล (SSA-1099/1042S) ในระหว่างปี รวมทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และดูคำถามที่พบบ่อยได้

แต่หากท่านไม่สะดวกในการใช้อินเตอร์เนต ท่านสามารถติดต่อกับโซเชียลได้ทางโทรศัพท์ทุกวันที่หมายเลข 1-800-772-1213 หรือ 1-800-325-0778 (สำหรับผู้ที่หูหนวกหรือได้ยินไม่ชัดเจน) หากท่านต้องการพูดกับบุคคลจะต้องโทร.ไปในช่วงเวลา 7.00 – 19.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ ในช่วงเวลากลางวันอาจมีคนโทร.มาก ขอให้ท่านอดทนในการรอสายค่ะ

ก่อนจากไปในฉบับนี้ขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่ติดตามบทความนี้มาเป็นเวลานาน และได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามข้อมูล และให้กำลังใจในการเขียนบทความนี้ วันที่เขียนบทความนี้ผู้เขียนกำลังเข้าร่วมปฏิบัติธรรมออนไลน์เพื่อสร้างกุศลในวันแม่แห่งชาติกับพุทธศาสนิกชนของวัดป่าฯ ขอให้บุญกุศลนี้ส่งผลถึงท่านผู้อ่านทุกคนให้มีความสุขความเจริญเช่นกันค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง รวมทั้งถ้าอยากจะติดตามบทความย้อนหลังก็สามารถติดตามได้ที่เวบไซด์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ คอลัมน์ประจำฉบับ “เรียนรู้เมื่อต้องอยู่เมืองลุงแซม”

อ้างอิง: https://www.ssa.gov/pubs/EN-05-10008.pdf


วลัยพรรณ เกษทอง

7 สิงหาคม พ.ศ. 2563