เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



การรับเงินโซเชี่ยลเมื่ออยู่นอกประเทศ (ต่อ)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ฉบับที่แล้วคงจะได้ทราบถึงเงื่อนไขในการรับเงินโชเชี่ยลเมื่ออยู่นอกประเทศที่แตกต่างกันไป ทั้งในด้านของประเทศที่เราไปอาศัยอยู่ เงื่อนไขด้านเวลาที่เราอยู่นอกและในประเทศ รวมทั้งเงื่อนไขทางด้านสถานะพลเมืองไม่ว่าจะเป็นกรีนการ์ดหรือซิติเซ่นซึ่งจะมีเงื่อนไขในการรับที่แตกต่างกัน โดยฉบับนี้จะขอพูดต่อถึงเรื่องของเงื่อนไขของการจ่ายเงินและการรายงานสถานะของท่านกันค่ะ

เมื่อท่านไปอยู่นอกประเทศ หากท่านเป็นซิติเซ่นท่านสามารถรับเงินเมื่ออยู่นอกประเทศได้ตราบใดที่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับและอยู่ในประเทศที่โซเชี่ยลสามารถส่งเงินไปได้ (ไม่ได้เป็นประเทศในลิสต์ต้องห้าม-ผู้เขียน) แต่หากว่าไม่ได้เป็นซิติเซ่น (ถือใบเขียว) นอกจากคุณลักษณะข้างต้นแล้วท่านจะต้องถูกพิจารณาคุณลักษณะเงื่อนไขของการอยู่ในประเทศสหรัฐเป็นเวลา 6 เดือนเต็มเพิ่มเข้ามาด้วย (วิธีการนับโดยละเอียดกล่าวไปในฉบับที่แล้ว) โดยรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าข่ายหรือไม่ที่ได้ระบุในเอกสารที่ให้ความรู้กับชุมชนค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นผู้เขียนคิดว่าทางง่ายที่สุดที่จะทราบว่าท่านเข้าเงื่อนไขหรือไม่คือการไปที่สำนักงานโซเชี่ยลซีเคียวริตี้ในเขตของท่านและถามเจ้าหน้าที่โดยตรง หรือหากท่านไม่สะดวกในการเดินทางก็สามารถโดยเข้าไปที่ลิงค์ www.socialsecurity.gov/international/ payments_outsideUS.html และกรอกข้อมูลเข้าไปตรวจสอบด้วยตัวเองค่ะ

ระหว่างที่เรารับเงินโซเชี่ยล เมื่ออยู่นอกประเทศเราจะต้องรายงานข้อมูลต่าง ๆ อาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ การทำงานนอกประเทศ หากท่านที่รับเงินจากสภาวะทุพพลภาพแล้วสภาพดีขึ้นสามารถกลับไปทำงานได้ท่านจะต้องแจ้งเช่นกัน หากท่านมีการแต่งงาน การหย่า การรับรองบุตรบุญธรรม บุตรบรรลุนิติภาวะไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของคู่สมรสอีกต่อไปแล้ว บุตรอายุใกล้ 18 ปีซึ่งยังเป็นนักเรียนเต็มเวลาหรือทุพพลภาพ การเสียชีวิตของบุคคลที่รับเงิน หรือหากมีปัญหาในการจัดการกับเงินก็ต้องรายงาน นอกจากนี้หากมีการถูกเนรเทศจากประเทศ เปลี่ยนสถานะความเป็นบิดามารดา หรือเกิดได้รับเงินบำนาญจากที่ทำงานที่ไม่ได้อยู่ภายใต้โซเชี่ยล ซิเคียวริตี้ ก็ต้องรายงานด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งหากว่าการที่ไม่ได้รายงานแล้วทำให้เงินที่เราได้มากเกินกว่าที่ควรเป็น ทางโซเชี่ยลเขาจะสามารถมาขอเงินที่จ่ายเงินไปได้ และหากเขามองว่าท่านจงใจที่จะไม่รายงานในเวลาที่เหมาะสมหรือจงใจที่จะไม่รายงาน เขาก็อาจปฏิเสธหยุดจ่ายเงินให้ท่านได้เช่นกันค่ะ (รายละเอียดที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องสามารถเข้าไปหาอ่านได้ในเวบไซด์อ้างอิงข้างล่าง ทางผู้เขียนจะไม่นำมากล่าวไว้ตรงนี้เพื่อให้เกิดความกระชับกับบทความ)

การรายงานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น สามารถทำได้ทั้งการเข้าไปรายงานด้วยตัวเองโดยตรง โดยทางจดหมายหรือทางโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 1-800-772-1213 ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และเมื่อเวลาที่จะรายงานท่านจะต้องระบุข้อมูล เช่น ชื่อของบุคคลที่ต้องการรายงาน เรื่องและวันเวลาที่เหตุเกิด หมายเลขเคลม (9 หลัก) หรือเลข BNC# ซึ่งเป็นเลขอ้างอิงที่ปรากฏบนจดหมายที่ทางโซเชี่ยลส่งไปให้ท่าน

ฉบับนี้พื้นที่หมดแล้วฉบับหน้ามาพูดถึงเรื่องของการตอบแบบสอบถาม เรื่องของการหักเงินพรีเมี่ยมของเมดิแคร์จากเงินโซเชี่ยลที่ได้ การแจ้งภาษีเงินได้ และวิธีการติดต่อโชเชี่ยล ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายของบทความนี้ค่ะ

ก่อนจากไปขอบอกว่าสวัสดีปีใหม่สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีน ต้อนรับปีหนูเหล็กในวันนี้ ขอให้ทุกท่านโชคดี ปรารถนาสิ่งใดก็สมปรารถนา มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แล้วเจอกันฉบับหน้านะคะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ความรู้ทั่วไปมิใช่เป็นการแนะนำทางกฏหมายหรืออื่นใดเฉพาะ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง ส่วนใครอยากอ่านบทความย้อนหลังก็หาอ่านได้ในคอลัมน์ “เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม” ทางเวบไซด์ของนสพ.ไทยแอลเอได้เลยค่ะ

อ้างอิง: https://www.ssa.gov/pubs/EN-05-10137.pdf


วลัยพรรณ เกษทอง

24 มกราคม 2563