เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



ระบบภาษีในเมืองลุงแซม

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน เข้าสู่เทศกาลยื่นแสดงรายการเสียภาษี (tax return filing) แล้วนะคะ ฉบับนี้ผู้เขียนก็เลยอยากจะเอาเรื่องของภาษีในเมืองลุงแซมมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนนะคะว่าผู้เขียนไม่ได้เป็นที่ปรึกษาหรือรับทำเกี่ยวกับภาษี เพียงแต่ด้วยสายงานที่ทำที่จะต้องรีวิวเอกสารให้กับลูกค้าและจัดการเรื่องของการฝากเงินที่ได้ประโยชน์ทางภาษีให้กับลูกค้าหลายราย จึงต้องมีความรู้ทางนี้บ้าง และบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้คำแนะนำในด้านภาษีนะคะ เรื่องของภาษีเป็นเรื่องจำเพาะส่วนบุคคล และมีรายละเอียดยุ่งยากเปลี่ยนแปลงไปตามกฏหมายภาษี หากว่าท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยต้องการคำแนะนำควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางภาษี เช่น ผู้ทำบัญชีที่ได้รับการรับรอง (Certified Public Accountant) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า CPA ทนายทางด้านภาษี (tax attorney) หรือปรึกษาผู้ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลให้สามารถให้คำแนะนำทางภาษีได้จะเรียกง่าย ๆ คือผ่านการเรียนวิชาความรู้ต่าง ๆ จนสอบใบไลเซ่นได้น่ะค่ะ เพราะหากปรึกษาผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญ หรือใช้ผู้ไม่ได้เชี่ยวชาญจริงทำการส่งแบบภาษีให้ท่าน ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือท่านผู้อ่านนะคะ หาใช่ผู้ที่แนะนำหรือผู้ยื่นภาษีให้ท่านค่ะ

เมืองลุงแซมหรือประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศที่มีระบบภาษีที่ยิบย่อยอย่างมาก เป็นประเทศแบบมลรัฐที่มีรัฐบาลกลางและรัฐบาลของมลรัฐ เพราะฉะนั้นจึงมีการเก็บภาษีทั้งสองระดับ ซึ่งภาษีที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ภาษีเงินได้ (income tax) ภาษีที่หักจากค่าจ้าง(Payroll) ภาษีที่ดิน (property) ภาษีการซื้อขาย (sales) ภาษีเงินได้จากการลงทุน (capital gains) ภาษีเงินได้จากเงินปันผล (dividends) ภาษีการนำเข้าสินค้า (imports) ภาษีมรดกและการถ่ายโอนสินทรัพย์ (estates and gifts) รวมทั้งค่าไลเซ่นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่รัฐบาลเก็บจากประชาชนอีก อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งเหนื่อยกันนะคะ ที่ภาษีมันเยอะก็เพราะว่าภาษีเป็นรายได้หลักของรัฐบาลที่จะเอาไปใช้จ่ายในการดูแลประชาชน ไม่ว่าเป็นถนนหนทาง ระบบความปลอดภัย การศึกษา รัฐบาลต้องใช้เงินมากก็ต้องเก็บภาษีมากค่ะ ดังนั้นการเสียภาษีจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำตามกฏหมายหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่าสิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ ความตายและภาษี ใช่ค่ะจะเป็นชาวเมืองลุงแซมก็ต้องทำใจที่จะต้องเสียภาษีตามกฏหมายของเขา แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะต้องเสียมากเสมอไป ลุงแซมก็ให้โอกาสลดหย่อนภาษีได้เยอะอยู่ ไว้จะมาเล่าให้ฟังกันต่อไปว่าจะมีอะไรพอมาให้ลดหย่อน ประหยัดเงินภาษีไว้ไปเป็นค่าขนมกันได้บ้างค่ะ

ผู้ที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลก็มีทั้งคนทำงานอย่างพวกเราที่เรียกว่า บุคคลธรรมดา ธุรกิจที่มีการจดทะเบียน กองมรดก ทรัสต์ หรือองค์กรที่มีการจัดตั้งเป็นรูปแบบตามกฏหมาย ทุกกลุ่มมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันแล้วแต่ปัจจัยที่หลากหลาย รายได้จากการเก็บภาษีของรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากรายได้ของบุคคลธรรมดาและจากภาษีของลูกจ้าง สำหรับภาษีภาคธุรกิจจะมีจำนวนน้อย เพราะส่วนใหญ่บริษัทที่ต้องเสียภาษีในระดับภาคธุรกิจมีไม่มาก (พวกที่เป็น C-Corporation) ธุรกิจส่วนใหญ่เสียภาษีที่ระดับของเจ้าของกิจการหรือหุ้นส่วน ธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในธุรกิจมาหักลดหย่อนการเสียภาษีได้มากกว่าบุคคลธรรมดา และบริษัทใหญ่ ๆ ก็มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งรูปแบบบริษัท ในการทำแบบแผนการใช้จ่าย การประกอบการ ทำให้สามารถประหยัดค่าภาษีปีนึงไปได้มากกว่าบุคคลธรรมดาเยอะเลย แถมปีนี้เป็นปีแรกที่อัตราภาษีของ C-Corp ก็ลดลงไปอีกจาก 35% เหลือเพียง 21% รวมทั้งมีการให้ลดหย่อนเพิ่มเติมของกลุ่มบริษัทที่เป็น S-Corp หรือการบริการ และมีการเปลี่ยนแปลงตารางภาษีเงินได้และส่วนหักของบุคคลธรรมดาตามกฏหมายภาษีใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งบางตัวก็จะมีผลกระทบไม่ตลอดไป งานนี้ถ้าใครมีกุนซือดีก็คงจะได้ประโยชน์ไป แต่ถ้าใครไม่ได้รับการแนะนำอย่างถูกต้องก็คงจะต้องเสียภาษีมากขึ้นโดยไม่เห็นทางเลือกค่ะ

จากข้อมูลของหน่วยงานชื่อ Economic Co-operation and Development หรือ OECD ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลของประเทศสมาชิก 34 ประเทศไว้ทุกปีและนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกัน ในปี 2014 ชาวเมืองลุงแซมควรจะดีใจเพราะเราถือว่าเสียภาษีต่ำในกลุ่มที่มีระดับภาษีต่ำ มีเพียงประเทศเม็กซิโก ชิลีและเกาหลีใต้ที่มีการเก็บภาษีต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาเท่านั้น สหรัฐอเมริกามีรายได้จากภาษี 26 เปอร์เซนต์ของดัชนีมวลรวมของประเทศหรือจีดีพี โดยกลุ่มประเทศในยุโรปส่วนใหญ่มีการเก็บภาษีมากกว่า 40 % ของจีดีพี เนื่องจากมีรัฐต้องใช้เงินไปกับระบบสวัสดิการของประชาชนที่มากกว่า โดยประเทศที่มีการเก็บภาษีสูงสุดคือประเทศเดนมาร์ค ซึ่งเก็บภาษีถึง 50.9 เปอร์เซนต์ของจีดีพีทีเดียว และถ้าเทียบกับประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นยังมีการเก็บภาษีมากกว่าอเมริกาเสียอีกคือ 30.3 % อ่านมาถึงตรงนี้ รู้สึกดีขึ้นไม๊คะว่าอย่างน้อยเราก็ยังมีหลายประเทศที่ประชาชนของเขาต้องจ่ายภาษีมากกว่าเรา แต่ก็ไม่แน่นะคะหากว่าเรามีการใช้จ่ายภาครัฐไปกับสวัสดิการทั้งหลายมากขึ้น เราก็อาจจะมีอัตราการเสียภาษีที่มากขึ้นไปใกล้เคียงกับประเทศยุโรปก็ได้ค่ะ มีได้มีเสียนะคะ ก็ต้องเลือกดูเอา

ฉบับนี้พื้นที่หมดแล้ว ฉบับหน้าเราจะพูดถึงเรื่องภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีที่ทุกท่านคงจะรู้จักดีกันเป็นประเภทแรกค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850) 598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง


อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Taxation_in_the_United_States

http://www.oecd.org/ctp/tax-policy/revenue-statistics-19963726.htm


วลัยพรรณ เกษทอง
13 มีนาคม พ.ศ. 2562