เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



มูลค่าของบ้านที่ท่านพักอาศัยที่จะนำมาคำนวณในการขอเมดิเคดหรือเมดิแคล (ในรัฐแคลิฟอร์เนีย)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ครบ 1 สัปดาห์ผู้เขียนก็ได้กลับมาพบท่านผู้อ่านอีกครั้ง ฉบับนี้เรายังจะพูดถึงเรื่องทรัพย์สินที่จะนำมาคำนวณในการขอเมดิแคตหรือเมดิแคล (ในรัฐแคลิฟอร์เนีย) กันต่อค่ะ จากที่กล่าวไปแล้วว่าทรัพย์สินที่ท่านถือครองไม่ได้ถูกนำมาคิดในการพิจารณาว่าท่านจะสามารถได้รับผลประโยชน์นี้ทั้งหมด จะมีเพียงทรัพย์สินบางกลุ่มเท่านั้นที่จะถูกนำมาพิจารณานะคะ สรุปง่าย ๆ ก็คือ เมดิเคดยินยอมให้ท่านถือครองทรัพย์สินที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้ค่ะ ซึ่งทรัพย์สินประเภทนี้ก็คือส่วนทรัพยสินที่ “ไม่นำมาคำนวณ” สำหรับการพิจารณาเมดิแคด อันได้แก่ บ้านที่ท่านพักอาศัยอยู่ (primary residence) ทรัพย์สินส่วนบุคคลที่ท่านถือครอง รถหรือพาหนะจำนวน 1 คัน ประกันชีวิตที่มีมูลค่าการคุ้มครองต่ำกว่า $1,500 เงินเก็บเพื่อใช้ในพิธีศพไม่เกิน $1,500 เงินออมเพื่อจัดการฝังศพบางประเภทและทรัพย์สินที่ถือครองในทรัสต์บางประเภท เป็นต้น รวมทั้งเมดิเคดอนุญาตให้ท่านมีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายได้ $2,000 (ขั้นต่ำสำหรับคนโสด) หรือ $3,000 (ขั้นสูงสำหรับคู่สมรสที่อาศัยอยู่ด้วยกัน) บางรัฐที่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพสูงจะใช้ตัวเลขของค่าใช้จ่ายที่ยอมให้มีได้ขั้นสูงแทนค่ะ

ในเรื่องของบ้านที่ท่านพักอาศัยอยู่ (primary residence) เมดิเคดจะพิจารณาจากทุนของบ้าน (home equity) ซึ่งหมายถึงมูลค่าหลังจากนำหนี้สินที่ท่านติดอยู่ในบ้านหลังนั้นหักออกจากราคาขายที่ประเมินในท้องตลาดขณะนั้น เช่น เช่น บ้านมีมูลค่าในท้องตลาด $200,000 เหรียญ แต่ติดหนี้แบงค์อยู่ $100,000 เหรียญ ทุนของบ้านของท่านก็จะเป็น $100,000 เป็นต้นค่ะ

ในปี 2020 ทุนของบ้านขั้นต่ำคือ $595,000 หมายถึงท่านจะต้องมีมูลค่าทุนของบ้านที่ท่านพำนักอาศัยอยู่เกินกว่า $595,000 เมดิเคดถึงจะปฏิเสธคำขอรับผลประโยชน์นี้กับท่าน แต่บางรัฐก็ใช้กฏการดูทุนของบ้านขั้นสูงสุดแทนซึ่งในปี 2020 นี้ทุนของบ้านขั้นสูงคือ $893,000 ซึ่งก็หมายถึงว่าในรัฐที่ใช้กฏนี้ถ้าบ้านใครไม่มีทุนของบ้านเกินกว่า $893,000 ก็สามารถมีโอกาสได้รับเมดิเคดได้ค่ะ ส่วนใหญ่รัฐที่มีมูลค่าของบ้านราคาแพงก็จะใช้กฏของทุนบ้านขั้นสูงแทนค่ะ ซึ่งมูลค่านี้ก็จะปรับเปลี่ยนไปทุกปีตามสภาพของเงินเฟ้อค่ะ แต่กฏนี้ก็มีข้อยกเว้นนะคะถ้าหากว่าบ้านหลังนั้นมีคู่สมรสหรือบุตรของท่านมีอายุต่ำกว่า 21 ปีหรือว่าตาบอดหรือว่าทุพพลภาพอาศัยอยู่ รวมทั้งถ้าหากว่ารัฐเห็นว่าการปฏิเสธให้สิทธิประโยชน์กับท่านเนื่องจากเงื่อนไขข้อนี้จะทำให้ท่านมีความเดือดร้อน เขาก็จะอาจพิจารณายกเว้นได้ค่ะ

เพราะฉะนั้นเท่าที่กล่าวมาสองฉบับแล้ว ถ้าท่านเป็นเจ้าของบ้านอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องขายบ้านแล้วไปเช่าอยู่เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เมดิเคดหรือเมดิแคล (ในรัฐแคลิฟอร์เนีย) นะคะ ท่านสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ตราบใดที่ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นค่ะ ผู้เขียนเห็นผู้เกษียณจำนวนมากไม่เข้าใจในเรื่องนี้ รีบร้อนขายบ้านที่ผ่อนมาจนหมดหรือผ่อนมาจนเกือบหมดกันไป แล้วไปเช่าอยู่แทนเพราะเข้าใจว่าถ้ามีบ้านเป็นของตัวเองจะไม่ได้รับเมดิเคด จากคนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านหรือผ่อนบ้านจำนวนน้อย ก็กลายเป็นว่าต้องหาเงินมาจ่ายค่าเช่าบ้านแทน ลองนึกดูนะคะว่าท่านอยู่ในวัยเกษียณ โอกาสและพละกำลังในการหาเงินก็น้อยลง เกิดท่านหาเงินมาจ่ายค่าเช่าบ้านไม่ได้ท่านจะลำบากมากขึ้นไปอีกค่ะ จำได้ใช่ไม๊คะว่าเมดิเคดเขากำหนดเงินในบัญชีไว้ว่าต้องไม่เกิน $2,000 สำหรับรัฐที่ใช้ค่าขั้นต่ำและ $3,000 เหรียญสำหรับรัฐที่ใช้ค่าขั้นสูง ในหลายรัฐค่าเช่าบ้านนี้ไม่ใช่น้อย ๆ อย่างในรัฐแคลิฟอร์เนียส่วนใหญ่ถ้าอยากได้อยู่ในบริเวณที่สะดวกสะบายค่าเช่าก็เกินพันเหรียญแน่นอน เพราะฉะนั้นเก็บเงินจำนวนที่เมดิเดคยอมให้มีในบัญชีได้เอาไว้สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นดีกว่าค่ะ

แต่ก็อีกนะคะ อย่างที่ทุกคนทราบของฟรีเกินจริงไม่มีในโลก ใช่ค่ะที่เมดิเคดยอมให้ท่านถือครองทรัพย์สินคือบ้านที่อยู่อาศัยแล้วขอรับประโยชน์ได้ในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่หากว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว บ้านจะถูกขาย เมดิเคดสามารถมาขอเคลมค่าใช้จ่ายที่เขาช่วยเหลือท่านไปในเรื่องของการรักษาพยาบาลระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่ได้ค่ะ ซึ่งในกรณีถ้ามองในแง่ของผลประโยชน์ที่ท่านได้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ก็คงไม่เป็นอะไร อย่างน้อยระหว่างที่ท่านต้องการความช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลก็ยังได้รับสิทธิ์ประโยชน์นี้มาช่วยนะคะ เหมือนเขาให้ท่านกู้เงินไปใช้ยามขัดสนจำเป็นก่อน หลังจากนั้นเมื่อบ้านถูกขายเพราะท่านไม่ได้อยู่แล้ว ก็แค่คิดว่าเขาก็มาขอเอาเงินส่วนที่เขาให้ยืมช่วยเหลือไปคืนก็คงจะสมเหตุผลอยู่

กรณีนี้ว่าไปก็คล้ายกับ reverse mortgage program ค่ะ หลายท่านคงจะเคยได้ยินคำนี้อยู่ เห็นโฆษณากันอยู่บ่อยกันในโทรทัศน์ โปรแกรมที่ว่านี้ก็คือว่าบริษัทที่ให้กู้เงินเขาจะมาประเมินมูลค่าทุนของบ้านท่านแล้วก็จะเอาเงินสดให้ท่านตามมูลค่าทุนของบ้านไปใช้ก่อนเลย ท่านสามารถอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้นโดยไม่ต้องผ่อนจ่ายเงินที่ท่านติดเขาได้ จนกว่าเมื่อท่านเสียชีวิตบ้านก็จะตกไปเป็นของบริษัทที่ท่านให้กู้เงินค่ะ โปรแกรมนี้เหมาะกับผู้เกษียณที่ไม่ได้วางแผนจะมอบโอนส่งต่อบ้านให้กับทายาทหรือไม่มีทายาทที่จะมารับช่วงต่อ มีความจำเป็นต้องการใช้เงินในระหว่างที่มีชีวิตและไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จำนำมาใช้ได้ ผู้เกษียณหลายคนที่เจ็บป่วยระยะยาว จนเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปเป็นจำนวนมาก ไม่มีลูกหลานช่วยเหลือค่าใช้จ่ายหรือดูแลทรัพย์สินเงินสดไม่เหลือก็ใช้โปรแกรมพวกนี้นะคะ ดังนั้นถ้าท่านไม่อยากจะต้องถูกบังคับให้อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หรือมีทายาทในใจที่อยากจะส่งต่อบ้านที่ท่านรักให้หลังจากท่านไม่อยู่แล้ว นอกจากการวางแผนเก็บเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณให้มากขึ้นเผื่อค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้หากท่านเกิดเจ็บป่วยระยะยาวไม่มีคนดูแล การซื้อประกันพวก long term care (ที่ได้เคยพูดเรื่องนี้ไปเมื่อหลายเดือนก่อน) เสริมไว้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยท่านได้ค่ะ

วันนี้พื้นที่หมดแล้ว ฉบับหน้ายังขอเอาใจผู้อ่านในวัยเกษียณกันอยู่ ซึ่งจากสัมนาที่ผ่านมามีคนมาถามเรื่องของการคุ้มครองของเมดิแคร์เมื่อไปเกษียณอยู่ที่เมืองไทยกันมาก ไว้ฉบับหน้าจะเอาข้อเขียนของเมดิแคร์ที่ได้อธิบายไว้ในเวบไซด์มาเล่าสู่กันฟังค่ะ อย่าลืมรอติดตามอ่านนะคะ

ก่อนจากไปในวาระดิถีกำลังจะขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2563 นี้ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกจงดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป สุขภาพแข็งแรงในปีใหม่ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ แล้วเจอกันอีกครั้งในปีหน้า ปีหนูเหล็กค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ความรู้ทั่วไปมิใช่เป็นการแนะนำทางกฏหมายหรืออื่นใดเฉพาะ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไปภายหลัง ส่วนใครอยากอ่านบทความย้อนหลังก็หาอ่านได้ในคอลัมน์ “เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม” ทางเวบไซด์ของนสพ.ไทยแอลเอได้เลยค่ะ

อ้างอิง : http://longtermcare.gov/medicare-medicaid-more/medicaid/medicaid-eligibility/financial-requirements-assets/

https://www.medicaid.gov/medicaid/eligibility/downloads/spousal-impoverishment/ssi-and-spousal-impoverishment-standards.pdf


วลัยพรรณ เกษทอง

27 ธันวาคม 2562