เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



FATCA กฏหมายเกี่ยวกับการรายงานบัญชีนอกประเทศ

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ช่วงนี้สหรัฐเริ่มมีความเข้มงวดในการตรวจสอบคนที่จะมาทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับประเทศมากขึ้น อย่างที่เพิ่งประกาศมาว่าจะมีการขอให้ผู้มาขอวีซ่าเข้าประเทศแจ้งถึงบัญชีการใช้งานบัญชีโซเชี่ยลมีเดียต่าง ๆ ในแบบฟอร์มคำขอวีซ่าด้วย การที่สหรัฐต้องการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ก็เพราะเขาเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัยของประเทศในความเสี่ยงของผู้ก่อการร้าย หรือผู้ที่ทำธุรกิจผิดกฏหมายต่าง ๆ จริงแล้วการที่สหรัฐฯ ต้องการเข้าไปรับรู้เรื่องส่วนตัวของคนที่จะมาเกี่ยวข้องกับเขาก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากท่านเป็นพลเมืองของเขาแล้ว เขาก็อยากจะทราบว่าท่านมีทรัพย์สินอยู่ที่ไหนบ้างเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในความพยายามนั้นก็คือการใช้กฏหมาย FATCA (อ่านว่า แฟ๊ด-ก้า) ซึ่งสัปดาห์นี้เราจะมาพูดถึงกฏหมายฉบับนี้กันค่ะ

กฏหมาย FATCA มีชื่อเต็มว่า Foreign Account Tax Compliance Act ก็ตามอย่างชื่อที่บอกคือเป็นกฏหมายเกี่ยวกับการมีบัญชีการเงินอยู่ในต่างประเทศของประชาชนผู้เสียภาษีในประเทศสหรัฐอเมริกา กฏหมายนี้ได้ผ่านสภาคองเกรสถูกนำมาใช้ในปี 2010 กฏหมายที่ว่านี้ระบุให้สถาบันทางการเงินในต่างประเทศ (FFIs) จะต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีทางการเงินที่ประชาชนอเมริกันเป็นเจ้าของและบัญชีธุรกิจที่ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันมีความเป็นเจ้าของอยู่เป็นส่วนใหญ่ให้กับทาง IRS รัฐบาลอเมริกันสนับสนุนให้สถาบันทางการเงินในต่างประเทศเหล่านี้ลงทะเบียนไว้กับ IRS โดยตรงเพื่อให้ปฏิบัติตนให้ถูกกับข้อตกลงใน FATCA หรือทำตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่รัฐบาลได้ทำเอาไว้ ในช่วงแรกกฏหมายของประเทศสหรัฐอเมริกานี้มีขึ้นก็เพื่อติดตามหาบุคคลสัญชาติอเมริกันและบุคคลที่ถือเป็นคนอเมริกันตามความหมายในการเสียภาษี และเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น มูลค่าทรัพย์สิน เลขโซเชี่ยล เป็นต้น ไม่ได้เจาะจงที่จะสอบหาเกี่ยวกับรายได้และตามกฏหมายไม่ได้มีระบุถึงการเก็บภาษี ในระบบนี้สถาบันทางการเงินจะส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ก่อนแล้วหลังจากนั้นรัฐบาลถึงจะส่งรายงานมาให้กับ IRS นอกจากวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้วกฏหมายนี้ยังป้องกันการเลี่ยงภาษีของทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของสหรัฐในการทำธุรกรรมทางการเงินนอกประเทศ ซึ่งตามหลักแล้วผู้ที่ถือสัญชาติอเมริกันจะต้องรายงานรายได้ทั่วโลกให้กับ IRS ในการยื่นแบบแสดงภาษีประจำปี

ที่ผ่านมารัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศอื่น (IGA) ในเรื่องของกฏหมายนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว และเพื่อให้คู่สัญญาทั้งสองประเทศให้ความช่วยเหลือกัน รวมทั้งประโยชน์ทางด้านภาษีด้วย กฏหมายจึงบังคับให้ผู้ถือสัญชาติสหรัฐซึ่งอาศัยอยู่นอกประเทศต้องจ่ายภาษีในเงินได้ที่เกิดขึ้นนอกประเทศหากว่าภาษีที่จ่ายในประเทศนั้นไปแล้วมีมูลค่าน้อยกว่าภาษีในระบบภาษีของสหรัฐ ดังนั้นการรายงานเหล่านี้จึงมุ่งเป้าไปกับผู้ถือสัญชาติอเมริกันที่อาศัยอยู่นอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ ท่านสามารถดูรายชื่อของประเทศที่ได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับ FATCA ได้ที่ https://www.treasury.gov/resource-center/tax-policy/treaties/Pages/FATCA.aspx

สำหรับข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับรัฐบาลที่เป็นคู่สัญญานี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลประเภท Model 1 คือ ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลที่รัฐบาลคู่สัญญาเป็นผู้รวบรวมข้อมูลบัญชีชาวสหรัฐฯ จากสถาบันการเงินภายในเขตการปกครองของตน เพื่อรายงานให้แก่ประเทศคู่สัญญา ผ่านระบบอัตโนมัติ ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 ประเภท ได้แก่

- Model 1 A (Reciprocal) คือ กรณีที่ประเทศคู่สัญญาทั้งสองประเทศตกลงที่จะส่งข้อมูลให้แก่กันและกัน ผ่านระบบอัตโนมัติ

- Model 1 B (Non-reciprocal) คือ กรณีที่ประเทศคู่สัญญาตกลงที่จะส่งข้อมูลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ฝ่ายเดียว โดยที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องส่งข้อมูลให้ประเทศคู่สัญญา

2. ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลประเภท Model 2 คือ ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลที่รัฐบาลคู่สัญญาตกลงที่จะออกกฎหมายเพื่ออนุญาตและชี้นำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีชาวสหรัฐฯ กับรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ โดยที่สถาบันการเงินภายใต้รัฐบาลคู่สัญญาจะต้องเป็นผู้รายงานต่อรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง ผ่านระบบอัตโนมัติ

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลได้ทำความตกลงประเภท Model 1 A (Reciprocal) กับรัฐบาลสหรัฐไว้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2016 และได้เลือกใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล (International Data Exchange Service: IDES) ของสหรัฐฯเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูลจากสถาบันการเงินในไทย

ดังนั้นหากท่านไปเปิดบัญชีหรือมีบัญชีในประเทศไทย ทางสถาบันทางการเงินจะให้ท่านกรอกฟอร์มเพื่อรายงานสถานะพลเมืองของท่าน หากสถาบันการเงินใด ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย FATCA หรือหากเจ้าของบัญชีชาวสหรัฐฯ รายใดไม่ยินยอมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การจ่ายเงินเข้าบัญชีของชาวสหรัฐฯ ในสถาบันการเงินนั้น จะถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมดที่มีแหล่งที่มาหรืออ้างอิงหลักทรัพย์จากสหรัฐฯ และอาจต้องปิดบัญชีที่เจ้าของไม่ยินยอมปฏิบัติตาม

ท่านผู้อ่านที่มีบัญชีที่เมืองไทยหากทางสถาบันทางการเงินขอให้ท่านกรอกแบบฟอร์มท่านก็ควรจะปฏิบัติตามและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่เสี่ยงที่จะได้รับโทษดังกล่าว ส่วนเรื่องของการเสียภาษีเงินได้นั้น หากท่านมีรายได้นอกประเทศมากก็ควรจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษีระหว่างประเทศ เพื่อที่จะได้มีการวางแผนและรายงานภาษีที่ถูกต้องไม่ต้องโดนปรับทีหลังค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือ (626)999-4751 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ค่ะ


อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Foreign_Account_Tax_Compliance_Act

https://www.treasury.gov/resource-center/tax-policy/treaties/Pages/FATCA.aspx


วลัยพรรณ เกษทอง

6 มิถุนายน 2562