เรียนรู้เมื่ออยู่เมืองลุงแซม
วลัยพรรณ เกษทอง



กฏหมายเกี่ยวกับสัตว์ (Animal Law)

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ฉบับนี้มีเรื่องจะมาเตือนผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งหลาย ว่ากฏหมายเกี่ยวกับสัตว์และการเลี้ยงสัตว์ที่นี่ค่อนข้างรุนแรงกว่าที่เมืองไทยอยู่ มีหลายคนที่โดนศาลแจ้งข้อหาทารุณกรรมสัตว์เพราะเพื่อนบ้านไปแจ้งว่าขังหมาไว้ในกรง ไม่พาไปเดินออกกำลังกายก็มีค่ะ เพราะคนเมืองลุงแซมเขาถือว่า “สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ควรถูกปฏิบัติเยี่ยงกับมนุษย์อย่างเรา” ค่ะ

อันกฏหมายเกี่ยวกับสัตว์ (Animal Law) นั้นจะเกี่ยวข้องกับการครอบครองสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า สัตว์ที่ใช้ธุรกิจบันเทิงและสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารและการวิจัย กฏหมายเกี่ยวกับสัตว์เป็นส่วนผสมของกฏหมายในหลายส่วนมารวมกัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะพูดถึงในที่นี้คือเรื่องการทารุณกรรมสัตว์ การเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน การเพาะพันธุ์สัตว์และการวางแผนมรดกที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ค่ะ

กฏหมายคุ้มครองสัตว์ที่รู้จักกันในชื่อของกฏหมายต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ (Anti-cruelty laws) นั้นไว้เพื่อควบคุมการทำร้ายทารุณสัตว์ ซึ่งกฏหมายการคุ้มครองสภาพชีวิตสัตว์ (Animal Welfare Act) ที่ได้ถูกประกาศใช้ตั้งแต่ปีค.ศ. 1966 นั้นได้อนุญาตให้กระทรวงเกษตรของสหรัฐควบคุมการใช้สัตว์เพื่อการวิจัย ในโรงละครสัตว์หรือสวนสัตว์ นอกจากนั้นในทุกรัฐก็ถือว่าการกระทำใดที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมกับสัตว์เป็นความผิดทางอาญาด้วย ในหลายรัฐการฝ่าฝืนกฏหมายนี้จะถือเป็นความผิดทางอาญาขั้นหนัก (felony) ซึ่งสิ่งที่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมตามกฏหมายนี้ครอบคลุมเนื้อหากว้างมาก อันได้แก่ การที่เจ้าของไม่ใส่ใจสัตว์เลี้ยง การผลิตลูกสุนัขโดยไม่ได้มาตรฐาน หรือการนำเอาสัตว์มาทดลอง เป็นต้น องค์กรพิทักษ์สัตว์ (Human Society) ในสหรัฐได้ทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องสัตว์จากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมโดยมีการสืบสวนสอบสวนผู้ละเมิดอย่างเข้มงวด อีกองค์กรหนึ่งที่เกี่ยวข้องอย่างมากก็คือ กองทุนปกป้องสัตว์ทางกฏหมาย (ALDF) ซึ่งปกป้องสัตว์ที่ถูกทำร้ายโดยผ่านระบบทางกฏหมายและที่ผ่านมามีการฟ้องร้องกับผู้ที่ทำร้ายสัตว์หลายรายในแต่ละปี

สัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน (Companion animal) หมายถึงสัตว์ที่นำมาเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน อันได้แก่ สุนัข แมว ม้าและนก เป็นต้น ปัญหาทางกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์พวกนี้มักจะเกิดจากความรับผิดชอบของเจ้าของที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ การทำลายทรัพย์สิน หรือการสร้างเสียงที่น่ารำคาญให้กับเพื่อนบ้าน ในหลายรัฐจะมีการออกกฏหมายให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องรับผิดชอบต่อการทำร้ายทั้งร่างกายและทรัพย์สินที่เกิดจากสัตว์ของตน บางรัฐจำกัดความรับผิดชอบเพียงส่วนที่เจ้าของรู้เห็นหรือมีเหตุผลที่ทราบว่าสัตว์ของตนอยู่ในอันตรายเท่านั้น ในบางกรณีที่มีการละเลยอย่างมากหรือมีการบาดเจ็บอย่างมาก รัฐบาลของรัฐอาจจะลงโทษทางอาญากับเจ้าของสัตว์หรือผู้ดูแลสัตว์ได้ แต่บางกรณีหากเจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถพิสูจน์ได้ว่าเหยื่อที่ถูกสัตว์เลี้ยงทำร้ายมีการบุกรุกเข้ามาในพื้นที่หรือฝ่าฝืนกฏหมายหรือยั่วแหย่สัตว์เลี้ยงหรือเหยื่อตั้งใจอยากจะเสี่ยงเอง เจ้าของสัตว์เลี้ยงก็สามารถจะโต้แย้งเพื่อไม่รับโทษได้ค่ะ ซึ่งในหลายรัฐก็มีการออกกฏหมายให้มีการชดใช้ในกรณีที่มีการร้องเรียนว่าสัตว์เลี้ยงทำเสียงรำคาญต่อเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสุนัข ส่วนรัฐที่ไม่ได้มีกฏหมายระบุโดยตรงก็จะมีกฏหมายของเทศบาลคุ้มครองในส่วนนี้อยู่แล้วเช่นกัน ปัญหาทางด้านกฏหมายอื่นในส่วนของสัตว์เลี้ยงนอกจากที่กล่าวมาก็ได้แก่ การที่ฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้ให้เช่าบ้านที่เขาไม่ให้มีสัตว์เลี้ยงเข้ามาอยู่ การที่ไม่ปฏิบัติในเรื่องของการฉีดวัคซีน หรือการกระทำอะไรที่นำพาไปให้เกิดการเสียชีวิตของสัตว์เลี้ยง อย่างเช่นเรื่องที่เทศมนตรีเมืองเมย์วูดที่โดนคดีไปในฐานไม่ดูแลทำให้สุนัขที่เลี้ยงป่วยมีปัญหาทางด้านการกินถึงขั้นรักษาไม่ได้ จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ต้องฉีดยาให้เจ้า “เฮอร์ชี่” สุนัขตัวนั้นไปสู่สุคติพ้นความทรมานไป เป็นเรื่องที่น่าเศร้าทั้งคนทั้งสุนัขเลยค่ะ

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นคือกฏหมายคุ้มครองสภาพชีวิตสัตว์และกฏหมายหลายฉบับก็คุ้มครองการเพาะพันธุ์สัตว์ (Animal Breeding) อีกด้วย บางกฏหมายก็จำกัดการเพาะพันธุ์สัตว์บางประเภทหรือห้ามไม่ให้นำสัตว์บางประเภทมาเลี้ยงไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะทำอันตรายให้กับชุมชน โดยการจำกัดจำนวนของสัตว์ซึ่งจะให้มีการขยายพันธุ์นี้ยังช่วยในการลดประชากรสัตว์เลี้ยงจรจัดอีกด้วยค่ะ

ข้อสุดท้ายที่เกี่ยวกับกฏหมายที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเชื่อว่าหลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคยเลยก็คือ การวางแผนมรดกที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (Pet Estate Planning) ซึ่งนับวันก็มีความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถมีการระบุทางกฏหมายในเรื่องของการถือครองหรือดูแลสัตว์เลี้ยงของท่านหลังจากที่ท่านเสียชีวิตหรือทุพพลภาพขาดความสามารถทางนิติกรรมได้โดยผ่านการเขียนทรัสต์ขึ้นมา ซึ่งเราเรียกทรัสต์นี้ว่า “Pet Trust” โดยทั่วไปแบบพื้นฐานผู้รับผลประโยชน์ในทรัสต์จะได้รับขั้นตอนในการดูแลสัตว์เลี้ยงโดยละเอียดและอาจสามารถนำเอาเงินที่อยู่ในทรัสต์มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงได้ด้วยค่ะ ซึ่งข้อดีของทรัสต์ลักษณะนี้คือทำให้เจ้าของแน่ใจว่าสัตว์เลี้ยงที่เขารักจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีอย่างที่เขาต้องการในวันที่เขาดูแลสัตว์เลี้ยงของเขาไม่ได้อีกต่อไป ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้รู้จักทรัสต์สัตว์เลี้ยงนี้ก็เพราะมีลูกค้าชาวอเมริกันคนหนึ่งได้ทำทรัสต์ให้กับสุนัขของเขาในจำนวนเงินถึง 5 ล้านเหรียญ ทำให้ผู้เขียนก็ได้มีการศึกษาถึงเรื่องนี้เพิ่มเติมและได้นำมาเป็นหนึ่งในข้อแนะนำที่ผู้เขียนให้กับลูกค้าที่มาปรึกษาในเรื่องการวางแผนมรดกนอกเหนือไปจากเรื่องมรดกที่เป็นทรัพย์สินอีกด้วยค่ะ หากผู้อ่านท่านใดที่รักสัตว์เลี้ยงของท่านเหมือนลูกหลานแต่ไม่ต้องการทำทรัสต์ให้ยุ่งยากก็สามารถระบุความต้องการส่วนนี้ลงไปในพินัยกรรมได้นะคะ เพราะผู้เขียนก็ทำไปเรียบร้อยแล้วเหมือนกันค่ะ

บทความนี้มีไว้เพื่อให้ข้อมูลทั่วไปไม่ใช่เป็นการให้คำแนะนำ หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาในบทความ อยากจะถามคำถามในกรณีส่วนตัวท่านสามารถโทร.มาสอบถามกับผู้เขียนได้ที่เบอร์ (850)598-1709 หรือจะอีเมลมาหาผู้เขียนที่ walaipank@gmail.com ก็ได้ค่ะ หากผู้เขียนไม่ได้รับสายก็ฝากข้อความไว้ได้ จะติดต่อท่านกลับไป

อ้างอิง: https://www.justia.com/animal-dog-law/


วลัยพรรณ เกษทอง

9 สิงหาคม 2562