Special Scoop



นักสู้เพื่อความถูกต้อง ทางเลือกใหม่ของชาวกรุงเทพมหานคร

"วีรบุรุษนาแก" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2555 ณ โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล วีรบุรุษนาแก บิ๊กตู่ ท่าน พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะอาสาสมัครเข้ามารับใช้ชาวกรุงเทพมหานคร โดยการลงเป็นผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 โดยไม่สังกัดพรรคใด ลงในนามพรรคอิสระ ใช้ชื่อว่า กลุ่มพลังกรุงเทพ ต่อจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการคนปัจจุบันที่จะสิ้นสุดวาระลงในวันที่ 10 มกราคม 2556 ที่จะถึงนี้

ผมรู้จักกับท่านมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่สมัยที่ท่านมาเยือนแอล.เอ. เป็น พล.ต.ต. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส มือปราบตงฉิน ผู้กำกับการภูธรจังหวัดชลบุรีและให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุไทยเพลงพิมพ์ใจ จัดโดยคุณเพ็ญพิมพ์ จิตรธร แล้วผมก็เขียนจดหมายให้กำลังใจท่าน ติดตามผลงานมาโดยตลอด ท่านตอบจดหมายผมด้วยตนเอง แล้วผมไปเจอกับท่านหลายครั้งที่กรุงเทพฯ และไปชลบุรียังไปวิ่งออกกำลังกายกับท่าน

สมัยตอนที่ท่านไปทำคดีของผู้ยิ่งใหญ่แห่งภาคตะวันออก "กำนันเป๊าะ" นายสมชาย คุณปลื้ม จนสามารถเอาเข้าคุก ศาลตัดสินจำคุกในหลายคดีแล้วก็หนีการติดคุกจนถึงทุกวันนี้ ชอบท่านเป็นคน ใจซื่อ มือสะอาด พูดดัง ฟังชัด ติดดิน ไม่เคยกลัวอันธพาล มาเฟีย นักการเมือง หน้าไหนทั้งนั้น ถ้าทำผิด ก็ต้องจับหมด ตลอดระยะเวลาที่รับราชการตั้งแต่ปี 2514-2551 รวมเป็นเวลา 37 ปี (เกิดวันที่ 3 กันยายน 2491) ปัจจุบันอายุ 64 ปี แต่สภาพจิตใจ ร่างกาย ยังเหมือนคนอายุสัก 40 เศษ เพราะวิ่งวันละ 6-8 กิโลเกือบทุกวัน ดูจากรูป

จากการทำงานที่ซื่อสัตย์ จนทำให้นายสมัคร สุนทรเวส อดีตนายกรัฐมนตรี ปล้นตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของท่าน ปลดออกเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551 ทั้งๆที่เหลือเวลาเพียง 6 เดือนเศษ ก็จะเกษียณอายุราชการได้ตามปกติเมื่ออายุครบ 60 ปี นายสมัครปลดท่านหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกได้เพียง 2 วัน ไม่รู้ว่าแค้นมาจากไหน หรือรับใบสั่งใครมาก็ไม่รู้ โดยไม่ต้องสอบสวน สอบถามท่านเสรี ในข้อกล่าวหาหรือแม้แต่ให้โอกาสในการทำงานเลย และก็แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร. แทนโดยที่ท่านเสรีไม่มีโอกาสไปให้คณะกรรมการที่นายสมัครตั้งขึ้นมาหาความจริงจากข้อกล่าวหาเลย จนสุดท้ายหลังจาก 1 ปี คณะกรรมการก็ไม่พบความผิดจากข้อกล่าวหาของนายสมัครที่ตั้งขึ้นมา คำสังก็ถูกยกเลิก แต่น่าเสียดายท่านก็หมดอายุราชการไปแล้ว เป็นการกลั่นแกล้งที่น่าเกียจ สกปรก จากนักการเมืองที่ใช้กับข้าราชการประจำตำรวจอย่างท่าน ที่ไม่เคยมีมาก่อน เท่าที่มีการปลด ผบ.ตร. ที่ผ่านมา และแล้วกรรมก็ตามสนอง นายสมัครก็ตาย แต่คนอย่างท่านเสรีก็ฟ้องทั้งอาญาและแพ่งกับข้าราชการอีกหลายๆ คนที่มีส่วนในการปล้นตำแหน่งท่าน ท่านบอกถึงสัจธรรมชีวิตที่ท่านประสบมาทำให้เห็นว่า "ของนอกกายคือมายา" เราก็คือตัวเรา ตำแหน่งหน้าที่ ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือคนรอบข้าง เป็นของปลอมแทบทั้งสิ้น และยังบอกว่า “สำหรับผมแล้ว การตายกับการมีชีวิตอยู่ ไม่มีความแตกต่างกัน” ชอบและประทับใจจนถึงทุกวันนี้

ผมได้อ่านบทความจาก น.ส.พ. สยามรัฐ ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2555 เขียนโดย ศ. ชยานันต์ ศุกลวณิช ในหัวข้อว่า "วีรบุรุษนาแก" กับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งผมขออนุญาตนำลง เพราะป็นบทวิเคราะห์ที่ดี มีเหตุผล และถ้าเป็นอย่างที่วิเคราะห์แล้ว ชาวกรุงเทพฯ คงจะมีโอกาสเห็นฝีมือการบริหารงานอย่างถึงลูกถึงคน ของวีรบุรษนาแกคนนี้ อีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นพวกเราที่อยู่ที่นีถึงแม้ว่าจะไม่มีสิทธิลงคะแนนนอกประเทศได้ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพคนใหม่ เราก็สามารถบอกเพื่อนๆญาติพี่น้องปู่ยาตายายที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต ให้ช่วยสนับสนุนท่าน เทคะแนนเสี่ยงให้ท่านมากๆนะครับ โชคดีครับ คิด ฉัตรประภาชัย


"วีรบุรุษนาแก" กับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.

เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาได้เห็น "สติกเกอร์" ชิ้นหนึ่งในที่สาธารณะมีข้อความว่า "วีรบุรษนาแก" ตามด้วยข้อความ "เกิด เรียน โต ทำงาน อยู่ รู้ปัญหา" ตรงกลางเป็นรูปด้านข้าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ใต้รูปมีคำว่า "กรุงเทพฯ"

จะมองเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรืออาจเป็นการโยนหินถามทาง

เพราะว่าวาระของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 มกราคม 2556

และใน "สติกเกอร์" ชิ้นนี้ ไม่ปรากฎว่ามีชื่อพรรคการเมือง

เป็นที่เข้าใจว่า ถ้า "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์" ลงสมัครจริงน่าจะเป็น "ผู้สมัครอิสระ"

ถ้าสมัครโดยไม่สังกัดพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนและส่งเสริม เพราะว่า

หนึ่ง ถ้าสังกัดพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล แม้การทำงานจะถือว่าเป็น "เอกภาพ" แต่ยากต่อการตรวจสอบ เพราะอำนาจอยู่ในมือรัฐบาล เมื่อได้รับเลือกตั้งก็ต้องทำงานตาม "ใบสั่ง" หรือที่เรียกกันว่า "ตั๋ว" ทั้งนี้มักอ้างกันว่าเป็น "นโยบาย" บ้าง เป็น "มติพรรค" บ้าง แต่ความจริงอาจเป็น "การทุจริต" ในเชิงนโยบาย หรือเป็นมติที่ "เอื้อประโยชน์" ต่อพรรคพวกเพื่อนพ้อง

สอง ถ้าเป็นผู้ว่าฯ ที่สังกัดพรรครัฐบาล เมื่อไม่สนองตอบเรื่องที่อ้างกันว่าเป็นนโยบายพรรคนั้น ความเสื่อมก็จะมาเยือน ถ้าสนองตอบในเรื่องที่ถูกต้องเป็นคุณต่อประชาชน ถ้าสนองตอบในเรื่องที่ผิด ความเสื่อมตกแก่ประชาชนบ้านเมืองเสียหายด้วย

สาม ถ้าสังกัดพรรคฝ่ายค้าน เมื่อได้รับเลือก การทำงานยากลำบาก เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรค คืออุปสรรคที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐบาลกลัวผู้ว่าฯ ของพรรคฝ่ายค้านจะได้เครดิต "ปฏิบัติการ" และ "ความชอบธรรม" บางอย่างจึงเกิดขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปีที่แล้ว เป็นที่ประจักษ์และเป็นนืทัศน์อุทาหรณ์ที่ดี ฝ่ายหนึ่งคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ พรรคประชาธิปัตย์ อีกฝ่ายหนึ่งคือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทั้งสองฝ่ายต่างออกมาอ้างเอาผลงานและชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ แทนที่จะใช้เวลาไปช่วยน้ำท่วม กลับมาปะทะคารมกัน เป็นเหตุให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่จมอยู่ในน้ำต้องพลอยรับเคราะห์กรรมไปด้วย

สี่ ได้มีกลุ่มอาสาสมัครทำโพลล์เมื่อไม่นานมานี้เพื่อสำรวจความเห็นของประชาชน อย่างไม่เป็นทางการว่านิยมเลือกผู้ว่าฯ กทม. แบบใด ผลปรากฎว่า มีคนนิยมเลือก "ผู้สมัครอิสระ" สูงถึง 79%

และห้า ผู้ว่าฯ กทม. เป็นตำแหน่งของชาวกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ตัวแทนของพรรคการเมือง

แม้ในทางรัฐศาสตร์ เขาสอนให้ยึดถือ "ระบบพรรค" เป็นหลักก็ตาม แต่น่าจะดูที่สภาพบ้านเมือง สถานะของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศนั้นๆ กรณีจึงคล้ายกับที่แพทย์รักษาผู้ป่วยโรคเดียวกันยาชนิดเดียวกันอาจไม่สามารถรักษาให้หายได้ทั้งหมด เพราะลางเนื้อชอบลางยา และสรีระของแต่ละคนต่างกัน

ในอดีตชาวกรุงเทพฯ ก็เคยมีผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือกตั้งในนาม "ผู้สมัครอิสระ" อาทิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมัคร สุนทรเวช ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็น "จำลอง" หรือ "สมัคร" ล้วนเป็นคนที่กล้าตัดสินใจ กล้าทำ และมีภาวะผู้นำสูง แน่วแน่เด็ดขาดฉบับไว โดยไม่เกรงกลัวและสนใจว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคใดเป็นรัฐบาล กล้าต่อสู้ในทุกประเด็น ทุกสถานการณ์ และทุกสภาวะที่ตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง

"สมัคร สุนทรเวช" เป็นผู้ว่าฯ กทม. ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และในงานพิธีแห่งหนึ่ง "สมัคร" เห็น "ทักษิณ" แต่ไม่เข้าไปคารวะ ในที่สุด "ทักษิณ" ต้องเข้ามาทักทาย

ก็เพราะ "จำลอง" และ "สมัคร" หน้าตาของกรุงเทพมหานครจึงดูดีขึ้นในสมัยนั้น ดีเพราะทั้งสองไม่เกรงกลัวอำนาจใดๆ เป็นคนแข็งทั้งคู่ และกล้าต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมพูดจริงทำจริง คุณสมบัติดังกล่าวล้วนมีอยู่ในตัว "เสรีพิศุทธ์" แล้วทั้งนั้น

ภาวะผู้นำของ "เสรีพิศุทธ์" ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า "จำลอง" และ "สมัคร" เพราะเคยเป็นผู้นำของตำรวจทั่วประเทศมาแล้ว เปี่ยมด้วยประสบการณ์ด้านบริหาร บางคนไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ไม่มีภาวะผู้นำเลยก็ยังเป็น "ผู้นำ" ได้ ดังนั้นถ้าจะเลือก "เสรีพิศุทธ์" มาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็มิใช่เรื่องแปลก และอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

การที่อ้างถึงคนที่ไม่มีภาวะผู้นำเพราะพิจารณาจากความเป็นจริง และ น.ส.พ. The Nation ก็เคยพาดหัวข่าวตอนน้ำท่วมปีที่แล้วว่า "Leader without leadership" (ผู้นำปราศจากภาวะผู้นำ)

ความกล้าของ "เสรีพิศุทธ์" กล้าขนาดจับผู้พิพากษา จับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จับรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่กระทำความผิด ปราบปรามผู้ก่อการร้ายและคอมมิวนิสต์ที่อีสานมาแล้วเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งทศวรรษ ซึ่งเป็นงานที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลก จึงได้ตั้งสโลแกนของตนว่า "ชีวิตของผมเป็นหรือตายมีผลเท่ากัน" สรุปคือไม่กลัวตายนั่นเอง ก็เพราะความกล้าที่ต่อสู้กับพวกที่ทำผิดกฎหมายไม่กลัวอันตราย จึงได้รับฉายาว่า "วีรบุรุษนาแก"

เพราะ "เสรีพิศุทธ์" เคยเป็นนายตำรวจอยู่ที่ "อำเภอนาแก" จังหวัดนครพนม ร่วมกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แลงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในสมัยนั้นได้ร่วมกันทำงานที่เสี่ยงตายคือปราบคอมมิวนิสต์และผู้ก่อการร้าย

กล่าวกันว่า "พล.ต.อ.อดุลย์" เป็นศิษย์เอกเด็กในคาถา" ของ "พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์"

นอกจากนี้ บรรดาเจ้าพ่อ ไม่มีตำรวจคนไหนที่กล้าจับ ไม่มีผู้ว่าคนไหนที่กล้าปราบ ไม่ว่าตำรวจหรือผู้ว่าฯ คนใดก็ได้พูดว่า "ต้องยกให้เขาคนนึง" และแล้วคนที่ "ไม่ยอมยกให้เขาคนนึง" ก็ได้ปรากฎขึ้นที่ดงเจ้าพ่อ คนนั้นคือ "เสรีพิศุทธ์"

อย่างไรก็ตาม ถ้า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จริงถือว่าเป็นศึกใหญ่ เพราะต้องเจอคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแชมป์เก่าและพรรคเพื่อไทยซึ่งถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่กำลังมาแรง อีกประการหนึ่ง ประเพณีการ "เล่นแบรนด์" ของคนกรุงเทพฯ ยังดำรงอยู่ "ประชาธิปัตย์" เป็นเจ้าของพื้นที่มานาน แม้มีบางช่วงเวลาได้ขาดหายไป แต่ในที่สุดก็กลับคืนสู่เหย้า

และแม้เป็นศึกใหญ่ แต่เป็นงานท้าทายซึ่งตรงกับอุปนิสัยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส