Special Scoop



ยูเนสโก ยกย่อง “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” บุคคลสำคัญของโลก ปี 2563-2564

ชาวพุทธและชาวไทยร่วมยินดี สุดปลื้มปิติ ที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เป็นบุคคลสำคัญของโลก ปี 2563-2564 สาขาสันติภาพ ถือเป็นพระสงฆ์รูปที่ 3 ของประเทศไทย เนื่องจากหลวงปู่มั่นเป็นพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน และพระมหาเถระที่คนไทยทั้งประเทศเคารพนับถือ จนปรากฏเด่นชัด ทั้งในขณะที่ท่านมีชีวิตดำรงอยู่ และละสังขารดับขันธ์ไปแล้ว คุณความดีที่ท่านได้มีคุณูปการต่อทั้งสถาบันศาสนา ชาติ และพระมหากษัตริย์ ท่านยังเป็นที่รู้จักในแวดวงชาวต่างชาติ ต่างภาษา ต่างประเทศ ที่เลื่อมใสในหลักธรรมคำสั่งสอนที่เป็นเลิศของท่าน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 องค์การยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่น ด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2533 นับเป็นพระอริยสงฆ์รูปแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการถวายเกียรตินี้ ส่วนพระอริยสงฆ์รูปที่ 2 คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ในปี พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์

ผู้เขียนจึงมีความศรัทธาที่จะได้แบ่งปันชีวประวัติของหลวงปู่มั่น เพื่อประกาศเกียรติคุณขององค์ท่าน เพื่อความเป็นสิริมงคลของพุทธศาสนิกชน ด้วยตติ ช้อคิด เป็นแนวทางการใช้ชีวิต และการปฏิบัติธรรม


ยูเนสโก

ยูเนสโก หรือ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) เป็นหน่วยงานภายใต้ สหประชาชาติ หรือ UN (United Nations)

องค์การยูเนสโก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของนานาชาติ ทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม รวมทั้งปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ทั่วโลกเคารพในความยุติธรรม กฎหมาย สิทธิ และเสรีภาพ ที่มนุษย์พึงมี โดยไม่ถือชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา ตามกฎบัตรสหประชาชาติ

มีประเทศสมาชิก 20 ประเทศ ได้ร่วมมือกันให้สัตยาบันธรรมนูญขององค์การ ที่ว่า “สงครามเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องสร้างความหวงแหนสันติภาพให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ด้วย” นอกจากนี้ ธรรมนูญยังบ่งชี้ด้วยว่า “สันติภาพที่เกิดจากการตกลงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ระหว่างรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่แท้จริง และยืนนานจากประเทศต่างๆ ในโลก สันติภาพจะต้องวางรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญา และจิตสำนึกของมนุษยชาติ”

ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 195 ประเทศ ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2492 เป็นประเทศที่ 49 และสํานักงานยูเนสโกกรุงเทพฯ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2504

ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 40 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2562 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี 2563-2564 โดยเป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องบุคคลสำคัญของโลก 2 รูป ได้แก่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ในวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาล (ครบรอบวันเกิด 150 ปี ในวันที่ 20 มกราคม 2563) เสนอโดยกรมการศาสนา และบุคคลที่ 2 คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวาระครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ (2 สิงหาคม 2464) เสนอโดยมหาเถรสมาคม (มส.)


ชีวประวัติ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2492)

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หรือ นามตามสมณศักดิ์ว่า พระครูวินัยธร มั่น ภูริทตฺโต เดิมชื่อ เด็กชาย มั่น แก่นแก้ว บิดามารดาชื่อ นายคำด้วง-นางจันทร์ แก่นแก้ว เกิดวันพฤหัสบดี ที่ 20 เดือนมกราคม พ.ศ. 2413 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดที่บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในตระกูลชาวนา บิดามารดานับถือศาสนาพุทธ มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน เป็นบุตรคนหัวปี

ได้เข้าบวชเณรตอนอายุ 15 ปี และสึกออกมาตามคำขอของบิดาตอนอายุ 17 ปี เพื่อช่วยงานทางบ้าน ทั้งที่เสียดายในการลาจากเพศบรรพชิตที่สุด ถึงกับรำพึงในใจ “หากมีโอกาสเมื่อใด ก็จะกลับเข้ามาบวชอีก” ทั้งยังคิดถึงคำของผู้เป็นยาย ที่เคยกล่าวในตอนเป็นเด็กอยู่เสมอว่า “เมื่อโตขึ้นต้องบวชให้ยายนะ เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก”

ต่อมาเมื่ออายุได้ 23 ปี ท่านได้บรรพชาอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2436 ได้ฉายาว่า “ภูริทตฺโต” แปลว่า “ผู้ให้ปัญญา” หลังอุปสมบท ท่านได้ศึกษาในฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน (ธรรมยุต) กับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นท่านได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดปทุมวนาราม และได้ศึกษาอบรมกับท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ณ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ


ปฏิบัติ “ธุดงคกรรมฐาน”

ปี พ.ศ. 2436 พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้รับวิธีเจริญกัมมัฏฐานขั้นสมถะใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” เป็นหลัก ได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี และได้ออกจาริกเดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ไปตามลำแม่น้ำโขงทั้งฝั่งประเทศไทย และประเทศลาว

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ธุดงค์วิเวกไปพำนักจำพรรษา ณ พระธาตุพนม ในปี พ.ศ. 2443 ซึ่งพระธาตุพนมในสมัยก่อน ประชาชนไม่รู้ถึงความสำคัญ จึงไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก เมื่อคณะของท่านมาพำนักจำพรรษา จึงได้บอกให้ชาวบ้านญาติโยมทราบว่า พระธาตุพนม องค์นี้เป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อชาวบ้านได้รู้เช่นนั้นแล้ว ก็พากันบังเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงช่วยกันทำความสะอาดบริเวณพระธาตุพนม ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน 3 ท่านก็พาญาติโยมทั้งหลายทำบุญ จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมา และกาลต่อมาจึงได้มีการบูรณะขึ้นกลายเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญของภาคอีสาน และประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันคือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ท่านได้ออกฝึกปฏิบัติ “ธุดงคกรรมฐาน” ด้วยองค์ท่านเองตามลำพัง โดยธุดงค์ไปตามสถานที่ที่เป็นป่าเขา ถ้ำ เงื้อมผา ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน บางครั้งท่านก็ธุดงค์ไปยังประเทศพม่า ลาว หลวงพระบาง เป็นต้น ซึ่งในระหว่างธุดงค์ไปนั้น ก็มีคณะศิษยานุศิษย์ที่เลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติขององค์ท่านได้ติดตามไปแบบห่างๆ ด้วย จนต่อมาพระสงฆ์เหล่านั้นได้เจริญงอกงามในธรรม จนกลายเป็นพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญๆ ในเมืองไทย เป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์ และประชาชนชาวไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอย่างมากมาย


ธรรมอันอัศจรรย์ และความลึกลับของถ้ำสาริกา

ประมาณปี พ.ศ. 2450-2453 พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ออกธุดงค์วิเวกเพียงลำพังองค์เดียว ได้จาริกไปทางจังหวัดลพบุรี พักอยู่ตามถ้ำ ตามเขา จนปี พ.ศ. 2455 ได้ไปพำนักปักหลักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก เป็นเวลา 3 ปี และ ณ ถ้ำสาริกา แห่งนี้ ท่านได้รู้ได้เห็นธรรมอันอัศจรรย์ ได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ หลายประการ และเป็นที่ติดใจท่านมาตลอด

ก่อนจะมาถึงถ้ำ ท่านได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใกล้ถ้ำสาริกา ท่านจึงวานชาวบ้านให้ช่วยไปส่งที่ถ้ำเพราะไม่รู้จักทาง ชาวบ้านเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับถ้ำนั้นให้ฟัง พร้อมกับนิมนต์ให้ท่านเลิกล้มความตั้งใจที่จะไปถ้ำนั้นเสีย แต่ท่านบอกว่า ท่านไม่กลัว ท่านจะทดลองพักดู

ในระยะแรกๆ ท่านรู้สึกปรกติดี จิตใจสงบ ไม่มีอะไรพลุกพล่าน คืนต่อๆ มา ท่านรู้สึกว่าโรคเจ็บท้องที่เคยเป็นประจำชักกำเริบ และมีอาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ ท่านได้หวนคิดถึงคำที่ชาวบ้านพูดกันว่า มีพระมาตายที่นี่ 4 รูปแล้ว ท่านจึงคิดว่าท่านอาจเป็นรูปที่ 5 ก็ได้ ถ้าไม่หายจากโรค…เมื่อฉันยาแล้ว โรคก็ยังไม่หยุดกำเริบ

ในที่สุด ท่านตัดสินใจใช้ธรรมโอสถรักษา จะหายก็หาย จะตายก็ตาย จากนั้นท่านจึงพิจารณาถึงทุกขเวทนาด้วยปัญญาอย่างไม่หยุดยั้ง จนในที่สุดโรคก็หาย ความฟุ้งซ่านภายในใจก็ดับกลายเป็นความสงบ จิตสว่างออกไปจากร่างกาย ปรากฏเห็นบุรุษคนหนึ่งมีรูปร่างใหญ่โต ถือตะบองเหล็กเดินเข้ามาหาท่าน พูดกับท่านว่า จะตีท่านให้จมลงดิน ถ้าไม่หนีไป ท่านก็ถามไปว่าท่านผิดอะไรถึงจะมาตีท่าน เขาก็บอกว่า เขารักษาภูเขาลูกนี้มานานแล้ว ใครมาใหญ่กว่าเขาเป็นไม่ได้ ท่านก็บอกว่า ท่านเป็นพระมาบำเพ็ญธรรมเพื่อมาปราบกิเลส ไม่ได้มาทำร้ายใคร ว่าแล้วก็เทศนา สั่งสอนบุรุษลึกลับคนนั้น จนเกิดความเลื่อมใส ในคืนต่อมา ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมด้วยความสะดวกไม่มีอะไรมารบกวน ร่างกายก็เป็นปรกติสุข

ครั้งหนึ่ง ท่านตัดสินใจออกไปนั่งสมาธิ พิจารณาธรรม แยกธาตุขันธ์ เจริญอสุภะกรรมฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความอัศจรรย์ สามวันสามคืน พอจิตของท่านอิ่มตัวจากการประพฤติปฏิบัติ ได้เกิดนิมิตลูกสุนัขปรี่เข้าไปดูดนมแม่สุนัข ท่านจึงได้เกิดความสงสัยว่า ในการพิจารณาขั้นนี้ที่จิตรวมในการพิจารณาแล้ว ไม่น่าจะมีนิมิตแล้ว เพราะนิมิตจะเกิดจากการปฏิบัติสมาธิที่ยังไม่เป็นวสี (ยังไม่ชำนิชำนาญ) เมื่อท่านเกิดความสงสัย จึงได้พิจารณาจนได้ความว่า ลูกสุนัขที่ได้กระทำการดูดนมแม่หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นตัวท่านเองที่เสวยอัตภาพมาตลอด 500 ชาตินั้นเอง จึงได้เกิดความสลดสังเวชใจ

จึงนำสิ่งที่ได้พบได้เห็นมาพิจารณาธรรมในข้อที่ว่า "กายะ ทุกขัง อริยสัจจัง" คือว่า พิจารณาว่ากายเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เกิดความสุขให้เรา แต่ต่อมาท่านเกิดความรู้สึกกังวล จึงใช้ญาณตรวจดู เกิดพบว่าท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิ (ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า) จึงค้นลงไปอีกว่าปรารถนาตอนไหน พอเห็นว่าปรารถนาเมื่อสมัยพระศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า จึงเห็นว่าเป็นการเนิ่นช้า ท่านจึงถอนความปรารถนานั้น… มุ่งมั่นความพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ จากนั้นเกิดเหตุในนิมิตว่า มียักษ์ตนหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ ยักษ์ได้ยอมแพ้ และได้เนรมิตรกายกลับเป็นเทพบุตรกล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ในกาลเวลาต่อมา จิตท่านจึงรวม เห็นโลกทั้งโลกราบเรียบเตียนโล่งเสมอด้วยลักษณะทั้งสิ้นภายในจิต

ตำนาน “ถ้ำสาริกา” อันลึกลับที่มีผีหวง คือยักษ์ดุร้ายเป็นภูมิเจ้าที่ จนภายหลังยอมคลายทิฏฐิ ยอมสยบลงให้หลวงปู่มั่น แล้วที่นี้เองที่ท่านได้คุณธรรมบรรลุอนาคามีผล… “ถ้ำสาริกา” แห่งนี้ จึงเป็น “ธรรมสถานของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกัมมัฏฐาน”

ในฉบับหน้าจะเป็นตอนจบ ผู้เขียนจะมาเล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ที่ภาคไหน จังหวัดไหน ลูกศิษย์ท่านมีใครบ้างที่เป็นพระมหาเถระ พระเกจิอาจารย์ และลูกศิษย์พระอริยสงฆ์รูปสุดท้ายเพียงองค์เดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ที่ได้เป็นพระอุปัฏฐาก เรียนรู้การปฏิบัติจิต ข้อธรรม ข้อวัตรจากท่าน หลังจากองค์หลวงปู่มั่นได้มรณภาพไปเป็นเวลา 70 ปีแล้ว

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอมอบบทกลอนจาก พระอาจารย์สุพิศ อคฺคทสฺสี วัดพุทธสามัคคีวนาราม เมืองบอสซีเออร์ซิตี้ รัฐหลุยส์เซียน่า Bossier City, Louisiana ชื่นชมปฏิปทาหลวงปู่มั่น…


สุดยอดสงฆ์ องค์ล้ำ ต้องจำไว้

อยู่แต่ไพร อาศัยถ้ำ ย้ำภูผา

หลบซ่อนตัว กลัวคน ไปค้นหา

ชอบอยู่ป่า ผาดอย ค่อยทำเพียร

ไม่คลุกคลี ตีโม่ง ดั่งโขลงช้าง

ไม่อวดอ้าง ทางยศ แต่ลดเศียร

อยู่ในพง ดงดอย ค่อยทำเพียร

แล้วเร่งเรียน เพียรทำ กัมมัฏฐาน

เดินธุดงค์ พงไพร ในป่าช้า

เดินมรรคหนา พาใจค้น จนแตกฉาน

เรียนนักธรรม จำล้น จนชำนาญ

หนังสืออ่าน ท่านมีไว้ วินัยนำ

จบนักธรรม ช่ำชอง จึงท่องเที่ยว

เดินองค์เดียว เที่ยวป่า ตามผาถ้ำ

อ่านแต่ใจ วินัยหนอ ก็ทรงจำ

ทุกเช้าค่ำ กัมมัฏฐาน อ่านใจมา

หลังจากท่าน นิพพานไป ยิ่งใหญ่มาก

สงฆ์หายาก จากไป อาลัยหา

อ่านประวัติ ชัดใจ ใคร่บูชา

ท่านพระป่า ค่าล้น คนล่ำลือ


พบกันใหม่ในฉบับหน้า ขออนุโมทนาสาธุ!

ลีนา ดีสมเลิศ