Special Scoop
เรื่องเน้นๆเกี่ยวกับการยื่นขอ PERM Labor Certification

สัปดาห์ที่แล้วได้สรุปไปให้คุณได้ทราบถึงจุดสำคัญโดยสรุปตามขั้นตอนก่อนที่ผู้ว่าจ้างจะสามารถส่งใบสมัครเพื่อยื่นเรื่องขอรับใบ PERM จากกรมแรงงานสหรัฐฯได้ สำหรับในสัปดาห์นี้เรามาอ่านกันต่อเลยนะคะว่า ในช่วงที่ผู้ว่าจ้างจะยื่นเรื่องขอรับ PERM จะมีกฎระเบียบและข้อกำหนดใดบ้างที่จะควรจะต้องตระเตรียม หรือทราบเสียก่อนให้แน่นอนก่อนที่จะยื่นเรื่องค่ะ


- เรื่องของตำแน่งงาน ตำแหน่งงานที่เปิดขึ้นเพื่อการว่าจ้างแรงงานจากต่างประเทศนั้น มีความจำเป็นที่จะจะต้องเป็นงานประจำแบบเต็มเวลา (Full Time) เสมอค่ะ

- รายละเอียดและหน้าที่ของตำแหน่งที่เปิดรับบุคลากร จะไม่สามารถสร้างข้อกำหนดกฎเกณฑ์ เพื่อให้เอื้อประโยชน์โดยเฉพาะเจาะจงแก่ลูกจ้างจากต่างแดนได้ อธิบายเพิ่มเติมจากในส่วนนี้ก็คือ กรณีที่คุณต้องการจะจ้างนายแดงมาทำงานกับคุณที่สหรัฐฯ แล้วคุณเริ่มต้นยื่นเรื่องของ PERM ด้วยเอกสารแนบ เพื่อระบุรายละเอียดของตำแหน่งและหน้าที่ (Job Description) ที่นายแดงจะต้องรับผิดชอบ ดังนี้แล้ว คุณ ในฐานะผู้ว่าจ้างไม่สามารถระบุข้อความ รายละเอียดลงในเอกสารดังกล่าว เช่น นายแดงจะต้องพูดภาษาไทยได้เป็นอย่างดีและติดต่อ กับกลุ่มลูกค้าคนไทยเท่านั้น ทั้งๆที่คุณทำเรื่องเพื่อต้องการที่จะขอให้นายแดงมาประจำตำแหน่ง ผู้อำนวยการขายในสหรัฐฯ ที่จะต้องติดต่อสื่อสารกับบุคคลที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารเป็นสำคัญ คือสรุปเอาง่ายๆก็แล้วกันล่ะค่ะว่า การเขียนรายละเอียดของหน้าที่การงาน จะต้องเป็นแบบ ไม่เฉพาะจงเสียจนเกินเหตุเพราะทาง Department of Labor (DOL) อาจจะหยุดพิจารณาใบสมัคร เพื่อทำการตรวจสอบรายละเอียดในส่วนนี้เป็นพิเศษได้ค่ะ

- อัตราเงินเดือนต้องตรงตามความเป็นจริงและมีความสมเหตุสมผล (Prevailing Wage) ตรงจุดนี้คุณสามารถใช้เวบไซต์ของกรมแรงงานสหรัฐฯเพื่อเป็นแนวทางในการค้นคว้าสำรวจหา อัตราเงินเดือนเพื่อว่าจ้างแรงงานจากต่างแดนได้ค่ะ (www.dol.gov) หากจะถามว่า แล้วจะมีอะไร เป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาถึงความสมเหตุสมผล? คำตอบคือไม่มีหลักหรือเหตุผลตายตัวหรอกนะคะ ทาง DOL จะพิจารณาตามข้อมูลอัตราเงินเพื่อว่าจ้างจากผลสำรวจที่คุณจะสามารถค้นคว้า อ่านเอาได้จากทางเวบไซต์ของหน่วยงาน และท้ายที่สุดก็คือความช่วยเหลือจากผู้ช่วยที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านกฎหมายเรื่องแรงงานและการว่าจ้างแรงงานนอกสหรัฐฯค่ะ ผู้ช่วยที่มีความเชี่ยวชาญจะเป็นเครื่องมือ ที่แน่นอนที่สุดที่จะช่วยให้การยื่นเรื่องในส่วนนี้มีความราบรื่น

- อย่าลืมที่จะเก็บหลักฐานเอาไว้ทั้งหมดค่ะ ทางรัฐบาลสหรัฐฯขอสงวนสิทธิ์ในการเรียกตรวจสอบการขอรับ PERM หรือแม้กระทั่งภายหลังจากการดำเนินเรื่องเสร็จสิ้นไป เจ้าหน้าที่จะสามารถเรียกขอเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับการว่าจ้างนับตั้งแต่ก่อนขอ PERM หรือหลักฐานการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ เพื่อรับสมัครบุคลากรได้ย้อนหลังถึง 5 ปี ดังนั้นแล้ว การเก็บเอกสารให้เป็นระบบระเบียบ อย่างน้อยให้เลือกหยิบได้ง่ายในช่วงระะยะ 5 ปีนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นะคะ

- หากผู้ว่าจ้างมีบริษัท แล้วบริษัทที่ว่านี้ก็มีระบบการสื่อสารแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการแจ้งข่าว และสื่อสารกับพนักงาน (In-house Media) ตัวอย่างเช่น วารสารเพื่อการสื่อสารภายใน จดหมายข่าวจำพวก Bulletin Board ที่ส่งผ่านกันในระบบออนไลน์ของบริษัท การประกาศรับบุคลากรตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการลงประกาศลงในระบบการสื่อสารภายในแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ด้วยค่ะ

- ไม่มีข้อยกเว้นในการงดลงประกาศรับบุคลากรใดๆเป็นกรณีพิเศษค่ะ แม้ผู้ว่าจ้างจะไม่เห็นถึง ความจำเป็นใดๆในลงโฆษณาประกาศกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อการจัดหางานในตำแหน่ง ที่ผู้ว่าจ้างต้องการจะรับบุคคลจากต่างแดน การลงประกาศกับหน่วยงานเพื่อจัดหางานท้องถิ่น เป็นเวลา 30 วัน และติดประกาศในบริเวณสถานที่ที่เห็นเด่นชัดในอาณาบริเวณสำนักงานเป็นเวลา 10 วัน รวมถึงการลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประกาศรับบุคลากรในตำแหน่งดังกล่าวอย่างน้อยทุกวันอาทิตย์เป็นจำนวน 2 สัปดาห์ เหล่านี้ถือเป็นข้อบังคับที่ผู้ว่าจ้างต้องปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้นค่ะ

- สำหรับการเปิดรับตำแน่งงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (เช่น วิศวกร นักวิทยาศาสตร์เคมี หรือแพทย์) นอกเหนือไปจากการลงประกาศตามกำหนดข้อบังคับในข้อที่ผ่านมา ผู้ว่าจ้างยังมีความจำเป็นที่จะต้องลงประกาศผ่านช่องทางดังต่อไปนี้ (โดยเลือกเอาเพียง 3 ช่องทาง) คือ จากเวบไซต์เพื่อการหางาน เช่น careerbuilder หรือ monster job, ลงประกาศผ่านทาง มหาวิทยาลัย/โรงเรียนวิชาชีพ, ลงประกาศผ่านสำนักงานจัดหางานทั่วไป หรือ เลือกการลงโฆษณา ผ่านสื่อเช่น วิทยุ/โทรทัศน์ สำหรับการเลือกลงโฆษณาเพิ่มเติมอีก 3 ช่องทางสำหรับตำแหน่งงานเชี่ยวชาญ เฉพาะทางนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มขึ้นภายในะระยะเวลา 180 - 30วัน ก่อนหน้าที่จะเริ่มยื่นเรื่อง เพื่อสมัครขอใบ PERM ด้วยค่ะ

- หากสำนักงาน หรือบริษัทของผู้ว่าจ้าง เคยลดจำนวนบุคลากร (Layoffs) ในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ข้อกำหนดเรื่องการประกาศรับบุคลากรจะมีเพิ่มมากขึ้นไปอีกค่ะ แล้วในส่วนของผู้ว่าจ้างเอง มีความจำเป็นต้องสอบถามผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเพื่อขอความช่วยเหลือและเพื่อปรึกษาในการดำเนินงานส่วนนี้ด้วยนะคะ

- ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากร เป็นเรื่องสำคัญค่ะ ผู้ว่าจ้างเอง สำนักงานและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการว่าจ้าง จะต้องไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆในทางครอบครัวกับบุคลากรที่ต้องการจะเข้ามาทำงานในบริษัท หรือสำนักงานของผู้ว่าจ้างค่ะ สำหรับบริษัทที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนบุคลากรที่น้อยกว่า 10 คน ทางหน่วยงานของรัฐฯอาจสามารถเรียกดู ตรวจสอบประวัติความเกี่ยวข้องกันในทางสายเลือด ทางครอบครัวของบุคลากรจากต่างแดนกับพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ประจำในสหรัฐฯก็มีความเป็นไปได้ค่ะ

- ขั้นตอนในการขอ PERM ไม่ได้ส่งผลให้บุคคลจากต่างแดนมีสิทธิ์ในการทำงานอย่างถูกต้อง ทางกฎหมายในสหรัฐฯแต่อย่างใดเลยนะคะ อย่าลืมนะคะว่า การขอ PERM แท้จริงแล้วเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น ในการดำเนินเรื่องเพื่อในท้ายที่สุดให้ได้ใบเขียวผ่านการทำงานในสถานะ EB-1/EB-2 หากบุคลากรกับผู้ว่าจ้างกำลังอยู่ในช่วงสมัครขอ PERM บุคลากรจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ในช่วงขอ PERM นี้ เพื่อทำงานได้ในสหรัฐฯอย่างถูกต้องตามกฎหมายค่ะ เว้นเสียแต่ว่า บุคลากรจะได้รับวีซ่า หรือ Work Permit เพื่อให้สามารถทำงานกับนายจ้างอื่นได้อยู่ก่อนแล้ว ส่วนผู้ว่าจ้างเจ้าของเรื่องก็ไม่สามารถเรียกตัว บุคลากรที่ตนต้องการว่าจ้างให้เข้ามาทำงานก่อนในช่วงที่รออยู่ได้นะคะ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย ซ้ำยังต้องเสียค่าปรับอีกด้วยล่ะค่ะ

- สำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯแบบผิดกฎหมาย ประเภทวีซ่าขาดมาแล้วเกินกว่า 6 เดือน ผู้ว่าจ้างไม่ต้องเสียเวลาในการดำเนินเรื่องขอ PERM เลยค่ะเพราะจะโดนปฏิเสธกลับมาอย่างแน่นอน หากยังอยู่ในช่วงก่อน 6 เดือนวีซ่าประเภทใดก็ตามยังไม่หมดอายุ ทำเรื่องขอต่อวีซ่าไว้ก่อนค่ะ ให้ได้อยู่ในสหรัฐฯอย่างถูกกฎหมายต่อไปก่อนจะได้รับ PERM หรือกลับไปยังประเทศของตนเอง เสียก่อนหากไม่สามารถต่ออายุวีซ่าได้ทันเวลา เพื่อไม่ให้โดนปฏิเสธเรื่องจะดีที่สุดค่ะ

- ในข้อสุดท้ายนี้ ถือเป็นข้อสังเกตก็แล้วกันค่ะ สำหรับในกรณีที่ทางหน่วยงานสหรัฐฯสามารถสำรวจได้ว่าตำแหน่งงานที่ทางผู้ว่าจ้างประกาศหาแลัวต้องการจะรับบุคคลจากต่างแดนนั้น บุคลากรชาวอเมริกันก็สามารถจะปฏิบัติงานในตำแหน่งดังกล่าวได้ ใบสมัครขอ PERM ก็จะไม่ไดัรับการตรวจผ่านจาก DOL ค่ะ แต่ว่าทางผู้ว่าจ้างก็ไม่ได้มีความจำเป็น ที่จะต้อง ทำการว่าจ้างบุคคลากรอเมริกันแต่อย่างใดนะคะ แต่อาจจะต้องลองยื่นเรื่องใหม่ โดยการลงรายละเอียด ตำแหน่งของงานหรือลักษณะความจำเป็นพิเศษที่จะทำให้สามารถผ่านขั้นตอนได้อีกครั้งค่ะ


คุณผู้อ่านคงจะพอสังเกตได้ว่าการยื่นขอ PERM นั้น ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์พอสมควรเลยนะคะ เพื่อที่จะให้ขั้นตอนทุกขั้นสามารถผ่านพ้นไปไดัอย่างราบรื่น ขั้นตอนบางส่วนอาจจะดูเหมือน ใช้เวลานานและการเตรียมเอกสารที่ซับซ้อนแต่ถ้าผู้ว่าจ้างรู้จักกับระบบขั้นตอนในการยื่นขอนี้แล้ว รวมถึงเคยมีประสบการณ์ในการยื่นเรื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นเหมือนกับการทบทวนเรื่องอีกครั้ง แต่เปลี่ยนชื่อของบุคคลากรไปนั่นแหละค่ะ สัปดาห์หน้าเราจะอ่านกันต่อไปนะคะ ถึงเรื่องของการยื่น ฟอร์ม I-140 เพื่อขอใบเขียว ซึ่งเป็นขั้นตอนภายหลังจากที่ PERM ได้รับการตรวจผ่านแล้วจาก DOL ขั้นตอนส่วนนี้ไม่ยากมากค่ะ แต่ก็ยังสงวนไว้ซึ่งข้อจำกัดซึ่งแน่นอนว่าต้องมีมากกว่า หรือแตกต่างไปจากการขอใบเขียวสำหรับสมาชิกในครอบครัวค่ะ