Special Scoop
เล่าเรื่องทางกฎหมาย - เปลี่ยนสถานะวีซ่า

หายไปพักใหญ่เลยค่ะ เว้นระยะให้คุณผู้อ่านเบรกเรื่องเล่าเกี่ยวกับกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ไปสักพัก ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาก็คิดอยู่ค่ะว่าจะเล่าเรื่องน่ารู้ทางกฎหมายอะไรให้คุณอ่านกันดี ปรึกษากับคุณทนายที่ทำงานอยู่ด้วยกัน แกเลยแนะนำว่าเอาเรื่องเบาๆ น่ารู้เกี่ยวกับกฎหมายคนเข้าเมืองหรือพวกวีซ่าก็น่าจะดีเหมือนกันนะ เห็นแกแนะนำมาอย่างนี้ ดิฉันก็เลยให้คุณทนายเขียนมาให้เลยค่ะแล้วดิฉันจะได้แปลเอาให้คุณได้อ่าน วันนี้เลยขอเล่าเรื่องแบบอ่านง่ายๆ แต่เป็นความรู้ที่ดีใช้ได้เหมือนกันค่ะ เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานะวีซ่าในกรณีเมื่อคุณเดินทางเข้ามาแล้วในสหรัฐอเมริกาค่ะ

ก่อนอื่นต้องเล่าท้าวความกันเสียก่อนว่า เรื่องของการเปลี่ยนสถานะวีซ่าเนี่ย ถือเป็นเรื่องธรรมดามากๆ นะคะ แล้วโดยทั่วไป บุคคลใดก็ตามที่ได้รับวีซ่าให้เดินทางเข้าสหรัฐฯอย่างถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลนั้นก็จะมีสิทธิ์ยื่นคำร้องเปลี่ยนแปลงสถานะวีซ่าของตนเองค่ะ ตัวอย่างง่ายๆ เลยก็เช่น ผู้ที่ถือวีซ่าแบบชั่วคราวหรือเพื่อท่องเที่ยว (B-2) ก็สามารถที่จะเปลี่ยนสถานะวีซ่าของตนไปเป็นแบบ วีซ่านักเรียน (F-1) หรือไปเป็นวีซ่าสำหรับนักลงทุน (Treaty Investor E-2) ได้ค่ะ แต่อย่างไรก็ดี คุณต้องตระหนักไว้เสมอนะคะว่าตราสารวีซ่านั้นถือเป็นเครื่องมือหลักในการควบคุมและจำกัดจำนวนผู้คนที่เข้ามาในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีหรือสถานะใดก็ตาม ดังนั้น สถานกงสุลฯ และสถานฑูตของสหรัฐฯ จะมีสิทธิ์เด็ดขาดในการกำหนดหรือจำกัดสถานะของวีซ่าที่คุณมีอยู่หรือที่ได้รับไปแล้วค่ะ ยกตัวอย่างเช่น บุคคลที่มีวีซ่าสำหรับท่องเที่ยวแล้วเปลี่ยนสถานะวีซ่าของตนไปเป็นวีซ่านักเรียนในขณะที่อยู่ในสหรัฐฯ ภายหลังบุคคลคนเดียวกันนี้ได้เดินทางกลับประเทศของตน โดยที่สถานะวีซ่านักเรียนในสหรัฐฯ ที่ได้เปลี่ยนไปจากแบบท่องเที่ยวยังไม่หมดลง หากบุคคลนี้ต้องการที่จะเดินทางกลับมายังสหรัฐฯอีกครั้ง บุคคลท่านนี้ต้องทำการยื่นขอวีซ่าแบบนักเรียนที่สถานกงสุลฯ หรือสถานฑูตสหรัฐฯ ในประเทศที่ตนพำนักอาศัยอยู่เพื่อที่จะได้กลับเข้ามาในสหรัฐฯ อีกครั้งค่ะ วีซ่านักเรียนที่เคยได้เปลี่ยนในตอนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ จะหมดอายุหรือสถานภาพไปโดยปริยายเมื่อคุณเดินทางกลับก่อนตามที่กำหนดค่ะ

หากคุณผู้อ่านมีความรู้เรื่องประเภทของวีซ่าต่างๆที่สหรัฐฯได้กำหนดขึ้นไว้ คุณจะสามารถท่องจำหรือบอกได้เลยค่ะว่าวีซ่าในประเภท;


1.ชั่วคราวเพื่อทางผ่าน (C - Transit Visa)
2. วีซ่าสำหรับพนักงานบริการบนเครื่องบิน (D - Airline Crews) และ
3. วีซ่าคู่หมั้น (K - Fiancé Visa)

วีซ่าดังกล่าวทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนสถานะวีซ่าของตนได้ค่ะ ทั้งนี้ยังมีวีซ่าอีกหนึ่งประเภทที่เรียกว่า J-1 (Exchange Visitor Visa) หรือที่เราอาจจะรู้จักกันว่าเป็นวีซ่าที่ออกให้เพื่อการฝึกงานหรือการแลกเปลี่ยนความรู้/วัฒนธรรม คุณผู้อ่านหลายๆคนอาจเคยมีลูกหลานที่ได้รับทุนหรือเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯกับโปรแกรม Work & Travel ก็วีซ่า J-1 นี้ล่ะค่ะที่ทางสถานฑูสหรัฐฯจะออกไว้ให้ วีซ่าประเภทนี้จะไม่สามารถทำการเปลี่ยนสถานะได้ค่ะ เฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่เดินทางเข้ามากับโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามคุณจะต้องเดินทางกลับประเทศของคุณเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของโครงการ แล้วต้องพำนักอาศัยอยู่ในประเทศของคุณภายในระยะเวลา 2 ปี ก่อนที่คุณจะสามารถเดินทางกลับเข้ามาในสหรัฐฯ ได้อีกค่ะ หากคุณไม่สามารถปฏิบัติได้ตามกฎ 2 ปีดังกล่าวนี้ได้ คุณจะต้องยื่นเอกสารขอยกเว้นการเดินทางกลับมายังประเทศบ้านเกิดเมืองนอนในกำหนดเวลา 2 ปีของคุณค่ะ (Waiver of the Exchange Visitor Two-Year Home-Country Physical Presence Requirement) ส่วนนักศึกษาที่ถือวีซ่าประเภทวิชาชีพ (M - Vocational & Technical Student Visa) ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนสถานะไปเป็นวีซ่านักเรียน (F Visa) ได้เช่นกันค่ะ

ดิฉันต้องขอเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยนะคะ สำหรับเรื่องของการเปลี่ยนสถานะวีซ่าไปเป็นวีซ่านักเรียน เนื่องจากเรื่องของระยะเวลาที่มีความจำกัด หลายๆ คนมักจะสับสนไปว่าตนเองได้รับสถานะของวีซ่านักเรียนโดยถูกต้องแล้วภายหลังจากที่ได้รับเอกสารรับรองสถานะการเรียนที่ชื่อว่า I-20 จากสถาบันการศึกษาที่ได้ติดต่อไว้ ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นความเข้าใจผิดอย่างมากนะคะ เพราะแท้จริงแล้วคุณจะยังไม่สามารถเข้าเรียนได้กับสถาบันใดๆเลยหากทาง USCIS (Unites States Citizenship and Immigration Services) ยังไม่ตรวจผ่าน (Approved) คำร้องขอของคุณ นอกจากนี้หากผู้ใดทำการยื่นคำร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสถานะวีซ่าภายใน 60 วันหลังจากเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ คุณก็อาจจะโดนปฏิเสธคำร้องได้ด้วยเช่นกันค่ะ ทั้งนี้ก็เพราะว่ากฎหมายเรื่องคนเข้าเมืองจะหมายรวมไปว่าคุณอาจมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะในทางวีซ่าของคุณเสียตั้งแต่เดินก่อนทางเข้าเมือง เท่ากับว่าคุณน่าที่จะรู้เหตุผลตั้งแต่ก่อนที่คุณจะขอวีซ่าแล้วว่าต้องการจะเข้ามาในสถานะอะไร แต่คุณก็ยังโกหกกับสถานกงสุลฯ หรือสถานฑูตสหรัฐฯ ว่าเป็นนักท่องเที่ยว USCIS จึงมีเหตุผลที่จะปฏิเสธคำร้องของคุณค่ะ

และที่แน่เสียยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น หากคุณพำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐฯในระยะเกินกว่าที่ได้รับอนุญาติ ซึ่งสามารถตรวจสอบเอาได้จากประทับตราเลขวันที่ ที่แสตมป์ไว้บนกระดาษการ์ดสีขาวที่เรียกว่า I-94 มักจะติดคู่กันกับหนังสือเดินทางของคุณ วันที่ ที่แสตมป์นี้เองที่คุณได้รับจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในวันที่คุณเดินทางเข้ามา หากคุณพำนักอาศัยอยู่เกินกว่าที่เจ้าหน้าที่แสตมป์กำหนดไว้ ในระยะเวลา 180 วัน - 1ปี แล้วล่ะก็ คุณจะโดนแบน ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ ได้อีกเป็นเวลา 3 ปีค่ะ หากคุณอยู่ต่อไปเกินกว่านี้หรือจากที่อนุญาติให้อยู่ไปมากกว่า 1 ปี คุณจะโดนแบนห้ามเข้าประเทศไปอีก 10 ปีค่ะ แต่ถ้าเลยไปนิดๆหน่อยๆไม่เกิน 180 วัน คุณจะยังสามารถเดินทางกลับเข้ามาในสหรัฐฯได้อีกโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ ดิฉันก็พอจะเข้าใจนะคะว่าสำหรับคุณบางคนที่รักความเสี่ยง แต่แหม... เดี๋ยวนี้ค่าใช้จ่ายอะไรต่ออะไรมันก็สูงทั้งนั้นนะคะ อย่าเสี่ยงที่จะเสียสิทธิ์และยื่นเรื่องเพื่อขอกลับเข้ามาในสหรัฐฯด้วยจำนวนเงินที่มากมายเกินความจำเป็นเลยค่ะ หากคุณมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะวีซ่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษาต่อ โอกาสความก้าวหน้าในทางการงาน หรือโอกาสในความรัก ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในทางกฎหมายเรื่องกฎระเบียบและค่าใช้จ่ายต่างๆที่อาจต้องใช้ดีกว่านะคะ บางทีความเสี่ยงเอาไปใช้ที่คาสิโนอย่างเดียวก็น่าจะเป็นความสนุกเล็กน้อยที่เพียงพอแล้วล่ะค่ะ หากคุณมีคำถามในทางกฎหมายที่ดิฉันจะสามารถปรึกษาหรือถามต่อให้กับทนายความผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้คุณได้ คุณสามารถส่งอีเมลมาได้เลยค่ะที่ ployn@kolawoffice.com หรือทางโทรศัพท์ (323) 518-2746 ค่ะ โอกาสหน้าดิฉันจะยังมีเรื่องน่าเล่าในทางกฎหมายมาให้คุณได้อ่านกัน โปรดติดตามนะคะ