Special Scoop



เรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ชุมชนหลากเชื้อชาติควรทราบ

เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563 Ethnic Media Service ได้เชิญผู้สื่อข่าวจากชุมชนหลากเชื้อชาติเข้าร่วมฟังการสัมนาที่มีวิทยากรจากหลายสาขา ได้แก่ ดร. ทัง เวน จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย.ซานฟรานซิสโก (UCSF) ดร.เดเนียล เทิร์นเนอร์-โลวีราส จากกระทรวงสาธารณสุขแห่งลอสแอนเจลิส ดร.ริชิ มานชานด้า จาก Public Health Innovator and Founder of Health ดร.แซมแพท ชิวางกิ จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับจิตวิทยาและสารเสพติด และ แมนจู คูลคาร์นี่ ผู้อำนวยการบริหารของ A3PCON ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือชุมชนเอเชียและหมู่เกาะในแปซิฟิกในลอสแอนเจลิส มาให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า และสิ่งที่ชุมชนหลากเชื้อชาติควรทราบ

“โรคระบาดแย่แล้ว ปัญหาใหญ่คือข้อมูลที่ผิดยิ่งทำให้แย่เข้าไปใหญ่” ดร. ทัง เวน กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับชุมชน โดยเริ่มปูพื้นความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าว่า “ไวรัสซึ่งทำให้เกิดโรคระบาดเป็นจุลชีพที่จะต้องอาศัยอยู่กับสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อขยายแพร่พันธุ์ โควิด-19 อยู่ในครอบครัวของไวรัสโคโรน่าที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น SARS หรือหวัด ซึ่งเรายังไม่รู้ทีเดียวว่าติดเชื้ออย่างไรหรือร่างกายตอบสนองอย่างไร เราหวังว่าจะเรียนรู้เกี่ยวกับมันโดยเร็ว ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนรักษาโควิด-19 ตอนนี้มีแค่เริ่มเฟส 1 ในการคิดค้นวิจัยซึ่งปกติจะใช้เวลา 12-18 เดือนในการพัฒนาวัคซีน

ในตอนนี้สหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 1 แล้ว ปัญหาคือมีการแพร่เชื้อแบบ exponential ทำให้เพิ่มจำนวนเร็วมาก จนหมอกลัว เพราะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ1.5-4.5 % ของคนที่ติดเชื้อ ถือว่ามีคนเสียชีวิต 15-50 เท่าของหวัดตามฤดูกาลเลยทีเดียว ไวรัสตัวนี้ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับปอด บุคคลที่เสี่ยงมากคือผู้สูงอายุ คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดอยู่แล้ว หากติดเชื้อรุนแรงแล้วไม่สามารถจะดำรงชีวิตได้หากไม่มีเครื่องช่วยหายใจ ทำให้เกิดภาวะที่ความดันตก คนไข้จะต้องอยู่ในไอซียู 2-3 อาทิตย์จนกว่าจะหายดี เพราะยังไม่มียารักษาจึงต้องรักษาตามอาการ และขณะนี้รพ.มีห้องไอซียูไม่มาก ซึ่งส่วนมากเตียงก็มีคนใช้อยู่ ดังนั้นจะเกิดปัญหาห้องไอซียูไม่พอ ดังนั้นคนที่ต้องการใช้ห้องบางคนอาจไม่ได้ใช้ และคนที่ป่วยหนักต้องอยู่ในไอซียู ดังนั้นหมอต้องเป็นคนตัดสินใจว่าใครจะอยู่หรือไป ถ้าไอซียูมีคนป่วยจากโควิดมาก คนไข้โรคอื่นจะไม่มีโอกาสได้อยู่รักษาด้วย ดังนั้นการป้องกันจึงสำคัญมาก เพราะระบบสาธารณสุขเราไม่สามรถรับรองการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้”

ดร.ทัง เวน ได้กล่าวถึงการป้องกันโรคว่า “มี 2 อย่างที่สำคัญคือ หนึ่งอยู่กับบ้าน ซึ่งจะป้องกันเราจากการไปติดคนอื่นและพาไปติดคนอื่นด้วย หากมีคนหนึ่งที่ไม่ติดเชื้อจะช่วยคนอื่นไม่ให้ติดเชื้อไปด้วย วิธีการช่วยเหลือคือให้คนที่แข็งแรงที่สุดในบ้านออกไปซื้อของหรือทำธุระข้างนอก อีกอย่างคือให้ล้างมือด้วยสบู่เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที เพราะไวรัสสามารถอยู่ในอากาศได้ถึง 3 ชั่วโมงและบนพื้นผิวได้ในหลายชั่วโมงหรือหลายวัน แต่ถ้าออกไปข้างนอกที่ไม่สามารถล้างมือได้ ให้ใช้น้ำยาล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% นอกจากนี้ควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่คุณสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ที่บิดประตู เป็นต้น โดยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือใช้น้ำยาฟอกสีขาวผสมน้ำ 1 แกลลอนก็ใช้ได้ ส่วนการใส่หน้ากากธรรมดาอาจไม่ช่วยเท่าไหร่เพราะว่ามีช่องว่างมาก หน้ากากสำหรับหมอหรือพยาบาลควรจะให้ผู้ปฏิบัติงานใช้ก่อน”

“ผู้ติดเชื้อไวรัสมักไม่มีอาการ แม้ปริมาณคนที่พบว่าติดเชื้อจะมาก แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นอะไร ดังนั้นจึงควรจะอยู่บ้าน และไม่ต้องไปทดสอบหากไม่มีอาการ เพราะเครื่องทดสอบมีจำนวนจำกัด หากคุณคิดว่ามีอาการและควรให้ทดสอบ ติดต่อหมอเพื่อดูว่าเราควรจะถูกทดสอบหรือไม่ ไม่ควรจะไปหาหมอเกินไปเพราะขณะนี้มีคนไข้มาก ใครต้องการหาสถานที่ตรวจสอบไวรัสสามารถเข้าไปได้ที่เวบไซด์ findcovidtesting.com”

“จากคนที่ติดเชื้อมีแค่ 1 ใน 6 ที่ป่วยหนัก คือ คนที่สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่ติดเชื้อแต่สามารถหายได้ อาการคือมีไข้และมีการไอแห้ง บางคนอาจมีอาการจมูกแน่น น้ำมูกไหล หรือท้องเสีย บางทีอาการคล้ายเป็นหวัด หากมีอาการไข้สามารถช่วยบรรเทาโดยการกินยาลดไข้ เช่น ไทลีนอล ไอบูโพรเฟน ยากลดอาการไอและไข้ทั่วไปได้ รวมทั้งดื่มน้ำเยอะ ๆ ถ้าหากมีอาการควรอยู่คนเดียวในห้อง ถ้าต้องไปทำงานเช็คที่ทำงานก่อนว่าต้องไปตรวจไวรัสก่อนหรือไม่ ถ้าอาการไม่หายภายใน 7 เดือนควรโทร.หาหมอ แต่ถ้าหากไข้สูง หายใจขัด หรือแน่นหน้าอก ท้องเสียควระไปหาหมอทันทีหรือโทร.เรียก 911”

และถ้าหากว่าอยู่บ้านร่วมกับคนอื่น ดร.ทัง เวน กล่าวว่า “ควรจะป้องกันการเอาโรคไปหาที่บ้าน ที่บ้านควรจะมีบ้านที่ฆ่าเชื้อไว้ ถ้ามีอาการให้ใส่หน้ากากเวลาอยู่ในบ้าน”

ดร.เดเนียล เทิร์นเนอร์-โลวีราส ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอยู่บ้านต่อการลดการแพร่กระจายว่า “ขอให้อยู่บ้าน ยังมีหลายคนออกไปนอกบ้านโดยไม่มีเหตุจำเป็น เรื่องสำคัญคือต้องหยุดการแพร่กระจายเชื้อ คุณสามารถช่วยได้โดยการอยู่บ้านขณะนี้ควรจะวางแผนว่าหากป่วยแล้วจะต้องโทร.หาใคร หากจะไปหาหมอให้โทร.ไปก่อนล่วงหน้าจะสามารถดูแลคุณได้อย่างเหมาะสม หากคุณเป็นโควิด คุณไม่ต้องการไปเลยเพื่อจะไปแพร่เชื่อกับแผนกฉุกเฉิน ตอนนี้มีการใช้ระบบการปรึกษาทางโทรศัพท์ เพื่อประเมินสภาพก่อน ซึ่งทำให้ลดการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก ถุงมือ ลงไป ดังนั้นสำคัญคือควรอยู่บ้าน แต่ไม่ได้หมายถึงว่าถ้าป่วยแล้วจะไม่ไปหาหมอ”

“ปัญหาอีกอย่างที่พบคือเรื่องของคนห่วงเรื่องการรับสวัสดิการของรัฐ (public charge) ซึ่งเป็นสิ่งที่เสี่ยงกับชุมชนมาก เราไม่สามารถที่จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ในแค่บางชุมชน เราไม่สามารถควบคุมได้หากมีคนกลัวที่จะไปหาหมอหรือไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ เพราะการติดเชื้อเกิดกับทุกคน เราเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดนี้ทำให้ทุกคนต้องมาร่วมมือกัน ต้องการให้ขยายการช่วยเหลือไปยังพวกที่ไม่มีเอกสารการเป็นพลเมืองด้วย ที่ทำการรักษาควรจะเป็นที่ปลอดการถูกจับส่งกลับ เป็น ICE free zone ไม่ฉะนั้นเราไม่สามารถจะหยุดการแพร่เชื้อ ขณะนี้มี 20% ของผู้มีรายได้น้อยที่พยายามไม่ไปหาหมอเพราะห่วงเรื่องนี้ และเราควรต้องลดความหนาแน่นที่ศูนย์กักกันเพราะจะควบคุมโรคระบาดยาก”

สำหรับปัญหาเรื่องการส่งเครื่องช่วยหายใจจากรัฐบาลกลางที่ล่าช้า คุณหมอ เทิร์นเนอร์ ไม่เป็นกังวลมาก เพราะคิดว่าแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่เตรียมตัวมากที่สุดรัฐหนึ่ง และยังมีเวลา 1-2 อาทิตย์ที่จะเตรียมตัว ที่สำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้มีคนไข้มากเกินไป

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้มีผลกระทบกับชุมชนหลากเชื้อชาติมากเป็นพิเศษ โดยดร.ริชิ มาน กล่าวว่า” ชุมชนของคนที่หลากเชื้อชาติมีความเสี่ยงต่อการติดโรคในชุมชนมาก เนื่องจากมีการติดมากขึ้นและมีข้อจำกัดในการถูกตรวจโรค ประการแรกบุคคลที่เป็นผู้มีรายได้น้อยต้องทำงาน ยากที่จะไม่ไปทำงาน หลายคนก็อยู่ในบ้านของรัฐบาล หรือบางคนก็เป็นคนไร้บ้าน หลายคนก็อยู่ครอบครัวใหญ่ทำให้ยากที่จะอยู่แยกกัน ชนิดงานที่ทำเป็นงานบริการทำให้ยิ่งมีโอกาสติดมากด้วย จึงเกิดความยากในการตัดสินใจว่าจะอยู่บ้านหรือไปทำงาน ประการที่สองความเสี่ยงที่ไม่ได้รับการทดสอบเพราะตัวทดสอบมีจำกัด รวมทั้งปัญหาในเรื่องการสื่อสารทางภาษา ซึ่งก็มีปัญหาตั้งแต่ยังไม่มีโควิด-19 แล้ว”

“อีกเรื่องคือเรื่องของการเข้าถึงการมีประกันสุขภาพ มีหลายคนที่ไม่มีประกันคุ้มครอง ไม่มีเงินในการจะรับการทดสอบ บุคคลที่มีความเสี่ยงมากในการติดเชื้อนี้นอกจากผู้สูงอายุแล้วยังมีพวกที่มีภาวะโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ผู้สูบบุหรี่หรือมีโรคปอด ในชุมชนที่มีอาการเช่นนี้จะมีความเสี่ยงในความซับซ้อนหลังจากเป็นโรค ดังนั้นโควิดจึงมีผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจของชุมชนหลากเชื้อชาติ เราทราบดีว่าในอเมริกามีช่องว่างระหว่างฐานะของคน จากข้อมูลในปี 2016 คนขาวมีเงินมากกว่าคนหลากเชื้อชาติถึง 41 เท่า โดยเฉพาะพวกที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยิ่งมีช่องห่างในเรื่องฐานะมากกว่านี้ “

จากภาวะของนโยบายให้คนอยู่บ้าน ดร. ชิวางจิ ได้ให้แง่คิดว่าจะมีผลกระทบในทางจิตใจของการที่ต้องถูกกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ของโรค เช่น ความรู้สึกต้องแยกจากคนรัก รู้สึกแยกจากชุมชน ทำให้เกิดความเบื่อ มีรายงานการฆ่าตัวตาย เกิดอารมณ์รุนแรง การอยู่บ้านมากนอกจากทำให้รู้สึกว้าเหว่แล้ว ทำให้เกิดการดื่มมากเกินไป เกิดโรคอ้วน ถ้าอยู่นานเกินกว่า 9 วันอาจทำให้รู้สึกแปลกแยกจากสังคม ส่วนใหญ่เกิดอารมณ์ที่กลัว เหงา เศร้า โกรธ ความเครียด ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะติดพวกสารเสพติดมากขึ้น โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและอันตรายถึงชีวิต เราจึงต้องต่อสู้อย่างกล้าหาญ”

นอกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในชุมชนชาวเอเชียที่มากับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดก็คือ ปัญหาการแบ่งแยกชาติพันธุ์ (Racism) และอาชญากรรมด้วยความเกลียดชัง (Hate crime) ซึ่งมีการรายงานเคสดังกล่าวมากมายในสื่อสาธารณะ โดย มานจู คุลคาร์นิ กล่าวถึงเคสดังกล่าวว่า “ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เด็กที่โรงเรียนมิดเดิ้ลสคูลคนหนึ่งถูกเข้ามาทำร้ายเพราะเป็นคนเอเชีย หรือเด็กอีกคนก็ถูกกล่าวหาว่ามีไวรัสให้กลับไปเมืองจีน พอเด็กบอกไม่ได้เป็นคนจีนก็ถูกคนชกหลายครั้งที่โรงเรียน ซึ่งเราทำงานร่วมกับตัวแทนท้องถิ่นของเราเช่นซุพเพอร์ไวเซอร์ ฮิลด้า โซลิส โรงเรียนและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ตัวแทนของเราอยู่ข้างเราและหาวิธีแก้ปัญหาตรงนี้ รวมทั้งมีการอบรมเจ้าหน้าที่โรงเรียนให้สามารถจัดการกับสถานการณ์ได้ ที่ผ่านมาได้ทำงานองค์กรแถบเบย์แอเรียและได้ทำเวบไซด์ www.a3pon.org/aapihate เพื่อให้มีการรายงานเกี่ยวกับเคสดังกล่าว ที่ผ่านมาพบว่ามีการรายงานเข้ามา 750 เคสทั้งประเทศภายใน 7 วัน เฉลี่ยมีประมาณ 100 เคสต่อวัน ส่วนมากจะเป็นเรื่องการใช้คำพูด บนถนน หรือในที่ชุมชน ในร้านสะดวกซื้อ ทำให้เอเชียไม่สามารถไปซื้ออาหาร ซื้อยา หรือว่าจะไปเดินเล่นสั้น ๆ ก็กลัวความปลอดภัย หวังว่าให้ชุมชนจะมาร่วมกันเพื่อช่วยเหลือกัน”

Ethic Media Service หรือ EMS เป็นองค์กรที่เป็นสื่อกลางที่สนับสนุนการสื่อสารในทุกเชื้อชาติ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเวบไซด์ ethnicmediaservices.org


เครดิต: เรื่อง/ภาพ: วลัยพรรณ เกษทอง