Special Scoop
“CAT AND MOUSE GAME”…ลับๆ ล่อๆ ส่อเค้าไม่ดี!

เป็นวลี (Idiom) ในภาษาอังกฤษที่พอจะแปลได้ว่า แมวกับหนูนั้นเป็นเกมส์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ผมขอเปรียบเสมือนว่า ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลเป็นแมว ที่คอยจะจับหนู (ผู้ต้องหา) ว่าถ้าทำลับๆล่อๆผิดกฎหมายแล้วโอกาสที่จะถูกแมวจับนั้นมีได้ทุกเวลา อยู่แต่ว่าแมวจะจับหนูเมื่อไรเท่านั้นเอง สรุปว่า ถึงอย่างไรแมวก็ต้องชนะหนูอยู่วันยังค่ำ

จึงมาเข้าเรื่องที่มีหลาย ๆ ท่านได้โทรศัพท์สอบถามผมมาในคดีที่มีการจับกุมเจ้าของร้านอาหารไทย เรือนทองไทยคูซิน และวอลเตอร์คาเฟ่(Ruen Tong Thai Cuisine and Walter Café) 2 แห่ง ในเมือง ยูเคีย (Ukiah) อยู่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ IRS เสนอให้อัยการสูงสุดของรัฐบาลกลางขออำนาจจากคณะลูกขุนออกหมายจับ (Indictment) เจ้าของร้าน 2 ท่าน คือ นางเยาวภา ฤทธิ์เดช อายุ 53 ปี กับนายสตีฟ วอลเตอร์ อายุ 52 ปี โดยตั้งข้อหาร้ายแรง( Felony) 2 ข้อหา ตามกฎหมายของรัฐบาลกลาง มาตราดังนี้

1. 26U.S.C. (United States Code) Section 7206 (1)
Making and subscribing false tax returns เจตนาแจ้งและลงนามในบัญชีรายงานภาษีเงินได้ที่เป็นเท็จ

2. 31U.S.C. Section 5314 and 5322 (2)
Willfully violating foreign bank account recording requirements เจตนากระทำความผิดโดยไม่รายงานบัญชีต่างประเทศให้กับทาง Financial Crimes Enforcement Network(FinCEN) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ขึ้นกับกระทรวงการคลังของรัฐบาลกลาง (Department of the Treasury)บทลงโทษในสองข้อหานี้ค่อนข้างหนัก ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ

ข้อหาแรก 26U.S.C. Section 7206 (1) มีโทษจำ 3 ปีและ ปรับ $250,000 หรือสองเท่าของรายได้ที่ไม่ได้แจ้ง จะเลือกปรับจากยอดที่สูงกว่า

ข้อหาที่สอง 31U.S.C. Section 5314 and 5322 (2) มีบทลงโทษ จำ 5 ปีและ ปรับ $250,000 หรือสองเท่าของยอดเงินได้ ซึ่งจะเลือกปรับจากยอดที่สูงกว่าเช่นกัน

นายสตีฟถูกตั้งไป 5 กระทง 26U.S.C. Section 7206 (1) ส่วนคุณเยาวภา โดนทั้งข้อหาเหมือนกับคุณสตีฟ 5 กระทง แล้วบวกอีก 2 กระทงในข้อหาที่สองที่ ไม่รายงานบัญชีในต่างประเทศ สาเหตุที่ตั้งหลายข้อหาเนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ (2007 ถึง 2011)

จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ทาง IRS ใช้กฎหมายนี้ได้อย่างไร และหลายท่านอยากถามรายละเอียดในคดีนี้ว่าเป็นอย่างไร ตลอดจนที่มาถึงการตั้งข้อหาของร้านเรือนทองไทยด้วย

ขอสรุปจากรายงานของอัยการสูงสุดที่ศาลรัฐบาลกลางทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองซานฟรานซิสโก ยืนต่อคณะลูกขุน ลงวันที่ 15 เมษายน 2014 Case No. CR 14215 ระหว่างรัฐบาลอเมริกา กับนางเยาวภา ฤทธิ์เดช และนายสตีฟ วอลเตอร์ (United States of America, Plaintiff ผู้ร้องทุกข์) VS. YaowaphaRitdet and Steve Walter,Defendantsจำเลย) มีการอ้างอิงผู้เกี่ยวข้อง (Relevant) และข้อกฎหมายดังนี้

1. ระบุว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นพลเมืองอเมริกันในเมือง Ukiah, California

2. Kasikorn Bank, Public Company Limited ธนาคารกสิกรไทย มหาชน จำกัด ทำธุรกิจธนาคารในประเทศไทยภายใต้กฎหมายไทย

3. พลเมืองอเมริกัน หรือผู้ที่อยู่ในอเมริกาอย่างถาวร (ผู้ถือใบเขียว) ที่มีผลประโยชน์ หรือมีอำนาจในการลงนามในบัญชีในต่างประเทศ ที่มีจำนวนเงินเกินกว่า $10,000 ในระยะเวลา 1 ปี (7/1 – 6/30) ของทุกปี ต้องแจ้งบัญชีดังกล่าวต่อกระทรวงการคลังตามแบบฟอร์มที่กำหนด (Form TDF 90-22.1)หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “FBAR” Foreign Bank and Financial Accounts Reports ซึ่งกำหนดให้บุคคลดังกล่าวต้องยื่นเป็นประจำ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน ของทุกปี

4. พลเมืองอเมริกัน หรือผู้ที่อยู่ในอเมริกาอย่างถาวรถือใบเขียว(Permanent Resident)มีหน้าที่ต้องแจ้งรายได้จากบัญชีในต่างประเทศในรายงานภาษีเงินได้ประจำปี Schedule B. Income tax return form 1040 ซึ่งกำหนดให้แจ้งต่อ IRS ว่าท่านมีบัญชีในต่างประเทศหรือเปล่า “Yes” or “No”และแจ้งประเทศที่มีบัญชีอยู่ด้วย ซึ่งผู้เสียภาษียังต้องมีหน้าที่แจ้งยอดรายได้จากบัญชีต่างประเทศในรายงานภาษีเงินได้ประจำปีอีกด้วย

5. ได้ระบุว่า นางเยาวภา ฤทธิ์เดช มีบัญชีเงินฝากประจำ (Passbook Savings Account) ของธนาคารกสิกรไทยในปี 2009 ถึง 2010 มีเงินในบัญชีกว่า $10,000

ฉะนั้น ตามหลักฐานของทางอัยการสูงสุดที่ยื่นต่อคณะลูกขุน(Federal Grand Jury) จึงมีเหตุอันควรที่เชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองได้กระทำผิดกฎหมายของรัฐบาลกลางดังกล่าว ทางหัวหน้าคณะลูกขุน (Foreperson) จึงได้เซ็นอนุมัติคำร้อง เรียกว่า “True Bill” อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับกุมตัวเพื่อส่งศาลดำเนินคดีต่อไป

ส่วนรายละเอียดถึงประวัติของกฎหมายที่ว่าด้วยการแจ้งบัญชีต่างประเทศนั้น จริง ๆ แล้วกฎหมายฉบับนี้มีมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1970 เรียกว่า The Bank Secrecy Act เพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบหาที่มาที่ไปของเงินเพื่อเป็นการต่อต้านการหลบเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ การฟอกเงินของ แก๊งค์มาเฟียการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ ที่มีการโยงใยไปถึงกลุ่มผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

กฎหมายฉบับนี้มีผลต่อพลเมืองอเมริกัน (U.S. Citizen) และพลเมืองที่อยู่อย่างถาวร เท่านั้น

บัญชีที่ต้องแจ้งหากมีเงินเกินกว่า $10,000 เช่น บัญชีเงินฝากสะสม รวมถึงบัญชีเงินหมุนเวียน (Savings and Checking Accounts)เงินหมุนเวียนในบัญชีของการลงทุนและประกัน(Securities or Brokerage Insurance),เงินสะสมบำเหน็จบำนาญ (Retirement Accounts)และเงินสะสมรายปี (Annuities)

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2014 ทาง IRS ได้แถลงข่าวถึงข้อตกลงการแลกเปลียนข้อมูลกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทั้งในประเทศไทยและกว่า 70 ประเทศทั่วโลกถึง 77,000 แห่ง ท่านสามารถเข้าเช็คได้ว่ามีสถาบันการเงินใดได้ที่ www.irs.gov ในปี 2009 IRS ได้ประเมิณว่า มีพลเมืองอเมริกันที่อยู่นอกประเทศถึง 7 ล้านคน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2014 ทาง IRS ออกข่าวจะลดค่าปรับเหลือ 5% ของยอดเงินรายได้ที่ไม่ได้แจ้งจากบัญชีต่างประเทศและจะไม่เอาผิดทางอาญา ถ้าผู้ใดเข้ามายืนภาษีย้อนหลัง 3 ปีเอง เพราะความไม่รู้ถึงกฎหมายและไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

สรุปแบบฟอร์มที่ต้องกรอกส่งภายใน 30 มิถุนายน ของทุกปี คือ FBAR Form 114 (เดิม TDF 90-22.1) หาและกรอกได้ที่ http://bsaefiling.fincen.treas.gov/main.htmlหรือให้ทนายผู้ทำบัญชีของคุณ (CPA and Enrolled Agent)กรอกส่งแทนได้

ส่วนยอดรายได้ก็อย่าลืมลงข้อมูลบัญชีในรายงานภาษีเงินได้ประจำปี (Income Tax Return) Schedule B ซึ่งทุกคนต้องส่งก่อนวันที่ 15 เมษายน ของทุกปีครับ

ในปี 2013 ผู้ต้องหาทั้งสองเคยถูกทางกรมแรงงานฟ้องเรียกค่าปรับเป็นจำนวนเงินกว่า $1.9 ล้านเหรียญ ในเรื่องค่าแรงที่จ่ายไม่ครบกับลูกจ้าง 47 คน และในปี 2012 เจ้าหน้าที่ IRS ได้ขอหมายศาลค้นหาหลักฐานจากร้านทั้งสองแห่ง ซึ่งมีทั้งเอกสารการเงิน บัญชีรายรับ รายจ่าย และเครื่องคอมพิวเตอร์

ผมหวังว่าทุกคนคงเข้าใจในกฎหมายนี้มากขึ้น ถ้าเราทำอะไรให้มันถูกต้องเสียแต่แรก เราก็จะสบายใจ ไม่ต้องนอนผวากลัวว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหลายหน่วย ซึ่งเขาทำงานประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอดเวลา จะมาเคาะประตูบ้านหรือร้านเราเมื่อไร ถ้าเราเป็นหนู เราก็ต้องเป็นหนูที่น่ารักปฏิบัติตัวตามระเบียบกฎหมายของบ้านเมืองนี้ พวกเราจะได้มีความสุขอยู่กับแมวได้อย่างสบายๆนะครับ


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย