Special Scoop



WORKPLACE VIOLENCE… ความรุนแรงที่เกิดในสถานที่ทำงาน

วันนี้ก็อยากเขียนเรื่องที่ประสบกับคนไทยบ่อยๆที่มาขอคำแนะนำและให้ช่วยเหลือ ตลอดจนขอทราบข้อกฎหมายและหน้าที่ สิทธิที่นายจ้างและลูกจ้างพึงรู้ไว้

คำจำกัดความ WORKPLACE VIOLENCE – is any act or threat of physical violence, harassment, intimidation or other threatening disruptive behavior that occurs at the work site.

แปลโดยสรุปว่า ความรุนแรงที่เกิดในสถานที่ทำงาน หมายถึงการกระทำใดๆ รวมถึงการข่มขู่โดยการใช้ความรุนแรง การข่มเหง รบกวน ก่อกวน คุกคาม หรือการขู่ในทุกรูปแบบที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน

ตามสถิติปีหนึ่งๆ มีคนทำงานถึง 2 ล้านคน ที่ตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงนี้ และเชื่อแน่ว่าคงมีอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทราบ บางรายกลัวถูกส่งกลับประเทศ เพราะมาอยู่ผิดกฎหมาย หรือวีซ่าขาด ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ

ในแคลิฟอร์เนียนี้ คนที่แม้จะมีสถานภาพอยู่แบบผิดกฎหมายก็ตาม ก็มีสิทธิมากมายที่ทางรัฐบาลจะให้ความคุ้มครอง ไม่ต้องถูกเนรเทศกลับบ้านนะครับ บางกรณีอาจจะถูกเรียกตัวเพื่อกันให้เป็นพยานในคดีอาญา อาจมีสิทธิ์อยู่ต่อ และสมัครใบเขียวให้ด้วย

ทุกคนในสังคมไทยเรา ควรรู้หน้าที่และสิทธิของตัวเอง ทั้งในสถานะลูกจ้าง นายจ้าง หรือแม้แต่ผู้ต้องหา เราควรตระหนักเพื่อลดหรือขจัดความรุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมจะพูดถึงกฎหมายที่ใช้ และเกี่ยวข้อง

มาเริ่มที่การทำร้ายร่างกายในสถานที่ทำงาน (Workplace Violence) ซึ่งพวกเราเห็นข่าวอยู่บ่อยๆ เช่น ในปี 2015 นาย Dias เชฟในร้านอาหาร P.F.Chang’s ซึ่งตั้งอยู่ในช้อปปิ้งมอลล์ NorthShore Mall เมือง Peabody รัฐ Massachusetts ถูกคนทำงานด้วยกันแทงตาย เชฟมีอายุเพียง 38 ปี มาอยู่อเมริกาตั้งแต่ปี 2002 จากประเทศบราซิล มีลูก 2 คน

นาย Dias หนีมาอเมริกา นึกว่าจะหนีปัญหาความรุนแรงของอาชญากรรมในประเทศเขา แต่สุดท้าย เขาต้องมาตายในอเมริกา ส่วนทางผู้ต้องหาอายุ 23 ปี ใช้มีดในครัวแทงหลังเชฟ โดนจับด้วยข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา มีโทษติดคุกตลอดชีวิต เหตุการณ์สลดนี้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานในครัวที่แสนจะยุ่ง เพราะลูกค้าของร้านนี้มีมาก (ร้านอาหาร P.F.Chang’s เป็นแฟรนไชส์ มี 305 สาขาทั่วโลก ก่อตั้งในปี 1993 ที่รัฐอริโซน่า โดย นาย Paul Fleming กับ นาย Philip Chiang ที่มาของชื่อย่อของชื่อร้าน)

ที่สำคัญ สถิติปี 2014 พบว่าคนทำงานเสียชีวิตในขณะทำงาน ที่มีสาเหตุมาจากความรุนแรงในสถานที่ทำงานนั้น เป็นอันดับ 4 ของการตายทั้งหมด ฉะนั้น หน้าที่ของนายจ้าง ควรที่จะต้องมีมาตรการป้องกันก่อนที่เหตุร้ายจะเกิดขึ้น ไม่ว่าธุรกิจนั้นจะเล็กหรือใหญ่ ก็ควรต้องทำตามนี้ เพราะถ้าไม่มีกฎระเบียบเป็นบรรทัดฐานแล้ว ลูกจ้างก็ไม่รู้ว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วจะแจ้งใคร หรือมีสิทธิอะไร


มาตรการกฎระเบียบที่ควรมี โดยสังเขปมีดังนี้

1) นายจ้างต้องมีกฎระเบียบให้พนักงานทุกคนยึดถือปฏิบัติ จากหนังสือคู่มือพนักงาน Employee Handbook ซึ่งจะระบุชัดเจนถึงข้อบังคับและโทษการละเมิดกฎข้อบังคับ พนักงานจะต้องไปรายงานกับใครในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น เช่น ถ้ายังไม่ถึงขั้นลงไม้ลงมือ มีเพียงการทะเลาะวิวาท ใช้วาจาที่ก่อกวนหยาบคาย เป็นต้น พนักงานทุกคนต้องได้รับคู่มือนี้ เซ็นชื่อว่าได้รับคู่มือ ควรเก็บไปอ่านและรักษาไว้อย่างดี ถ้าร้านไหนยังไม่มีคู่มือนี้ รีบๆ เข้าไปดูตัวอย่างที่ผมได้มอบให้สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ในเว็บไซต์ www.thaiconsulatela.org การทะเลาะวิวาทนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของร้าน การทำงานของพนักงาน ขวัญและกำลังใจ (Morale) ตลอดจนจิตใจของคนงานอื่นๆ ที่พบเห็น

2) นายจ้างควรรู้ว่าระดับความรุนแรงนั้น อยู่ในระดับไหน มีข้อบังคับที่ระบุชัดเจนถึงโทษทัณฑ์หากร้ายแรงถึงขั้นลงไม้ลงมือกัน ก็สามารถให้ออกได้ทันที ถ้าไม่ร้ายแรงก็ควรมีการทำบันทึกและบทลงโทษให้กับพนักงานที่ละเมิดข้อบังคับ

3) นายจ้างต้องพาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล หรือเรียกรถพยาบาลมารับผู้บาดเจ็บทันทีโดยไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย สุขภาพและชีวิตของพนักงานนั้น เทียบกับเงินทองไม่ได้ อีกประการหนึ่ง พนักงานทุกคนที่ทำงานในร้านใดก็ตาม เจ้าของร้านต้องซื้อประกันคนงานที่เรียกว่า Worker’s Compensation นี่เป็นกฎหมายบังคับว่าต้องมี จะมาอ้างว่า แพงเลยไม่ได้ซื้อไม่ได้ เลยจะตัดตอนจ่ายเป็นเงินสดบ้าง บางแห่งมีการตกลงกันแบบจ่ายสดครึ่ง จ่ายแบบ Payroll ครึ่ง ให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยกเว้นไม่ได้

กฎหมายนี้มีมาตั้งแต่ปี 1911 เพื่อปกป้องเจ้าของร้านในเรื่องประกันค่าเสียหายเสียทรัพย์ โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนตัวในกรณีพนักงานได้รับบาดเจ็บในระหว่างทำงาน รวมถึงค่าชดเชยรายได้ของลูกจ้างในภายหลังอีกเพราะต้องหยุดงาน และเป็นการคุ้มครองแรงงานของคุณด้วย อีกประการหนึ่ง ประกันนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ สามารถเอาไปหักเป็นรายจ่ายก่อนเสียภาษีจากผลกำไรปลายปีได้

ในส่วนของการแจ้งความดำเนินคดีทางอาญากับผู้กระทำผิดนั้น ถ้าผู้ถูกกระทำแจ้งตำรวจแล้ว ทางตำรวจจะสืบสวนกระบวนการตามนี้ Where, What, Who, When, and Why ถ้าเราสามารถจดรายละเอียดตามหัวข้อนี้ จะสะดวกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการทำคดี เขียนสรุปว่าเกิดเหตุที่ไหน ด้วยสาเหตุอะไร กับใครที่เกี่ยวข้อง เหตุเกิดเมื่อไหร่ และทำไมถึงต้องทำกับผู้เสียหาย ทางตำรวจก็พอจะสรุป เพื่อดูว่ามันครบองค์ประกอบในการตั้งข้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น

1) P.C.415 Disturbing the peace คือ การก่อกวนความสงบสุข ข้อหานี้จะตั้งสำหรับพวกชอบหาเรื่องทะเลาะวิวาทกันด้วยวาจาหยาบคาย ท้าตีท้าต่อยแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ เป็นลหุโทษ (Misdemeanor) ติดคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับตามที่ศาลเห็นสมควร หรือทั้งจำทั้งปรับ

2) P.C.240 & 242 Assault and Battery คือการทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยกำลัง เพื่อทำให้คนอื่นได้รับบาดเจ็บ เช่น ตั้งใจถ่มน้ำลายใส่ผู้อื่น ถือว่าเป็น Battery เป็นลหุโทษ (Misdemeanor) แต่ถ้าลงมือทำร้ายร่างกายด้วยกำลังกาย ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ เป็น Assault เป็นคดีร้ายแรง (Felony) มีโทษติดคุก 3 ปี ทั้งจำและปรับด้วย

3) P.C.245 (a) (1) Assault with a deadly weapon คือการทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยการใช้อาวุธ (นอกเหนือจากปืน) ให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นคดีร้ายแรง (Felony) ติดคุก 3 ปีขึ้นไป ถ้าใช้ปืนก็จะมีโทษหนักขึ้นไปอีก P.C.245 (a) (2)

Harassment – การรบกวน การคุกคาม การก่อกวน เป็นส่วนหนึ่งของการกีดกัน (A form of employment discrimination) เป็นกฎหมายของรัฐบาลกลาง มีหลายมาตรา Title VII of the civil rights act of 1964, The age discrimination in employment act of 1967 – หมายถึงการกระทำใดๆ ที่ละเมิดสิทธิต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน ผู้ถูกกระทำไม่ต้องการ บอกไม่เอาด้วย หรือจะตื๊อจนเขาอยู่ในสถานะที่ปฏิเสธไม่ได้ บนพื้นฐานอะไรก็ตาม เช่น ผิว ศาสนา เพศ (รวมถึงคนตั้งท้อง) สัญชาติ อายุ (ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป) หรือข้อจำกัดทางร่างกาย ซึ่งการกระทำดังกล่าว บั่นทอนการทำงานของคนงาน ทำบรรยากาศให้ไม่น่าที่จะให้อยากทำงาน เช่น ขอนัดเที่ยว ส่งข้อความปลุกเซ็กส์ เดินขวางทางเดินอีกฝ่าย รบกวน จับไม้จับมือทั้งๆ ที่บอกว่าไม่ต้องการให้ทำ อันนี้รวมถึงคนที่อยู่ในฐานะเป็นหัวหน้า เจ้าของ ซึ่งบางทีอาจจะนึกอยากทำ โดยการเอาตำแหน่งหน้าที่การงานมาใช้เป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยน เพื่อต้องการละเมิดทางเพศ หรืออยากเอาเป็นเมีย เป็นต้น ถ้าไม่เล่นด้วยก็จะไม่เลื่อนตำแหน่งให้ หรือไม่ให้ทำงานต่อไป อันนี้มีโทษทั้งจำทั้งปรับ ต้องไปขึ้นศาลของรัฐบาลกลาง ค่าปรับนายจ้างเป็นแสนหรือล้าน ถ้าพิสูจน์ได้ว่า นายจ้างรู้ว่ามีการกระทำละเมิดในออฟฟิศ แต่ไม่ทำอะไร ไม่ลงโทษผู้กระทำผิด หรือกระทำผิดเสียเอง เป็นต้น

ขอสรุปว่า การเป็นเจ้าของร้านหรือหัวหน้า มีหน้าที่ต้องเรียนรู้ด้านกฎหมายที่ดูแลคนงาน โดยมีศีลธรรม มีความเมตตากับคนงานทุกคน หากคนงานอยู่อย่างไม่มีความสุข ทำงานไม่เต็มที่ อยู่ในสภาพหวาดกลัวว่าผู้ร่วมงานจะมาก่อกวน คุกคามทำร้าย ท่านก็ต้องเดือดร้อน เสียเวลา เสียเงิน ในการถูกฟ้องร้อง และอาจถูกดำเนินคดีทางอาญาด้วย ในที่สุดธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ เพราะคนงานเป็นผู้ที่หาเงินให้กับท่าน ฉะนั้น รักพวกเขาเหมือนพี่เหมือนน้อง เอาใจเขามาใส่ใจเราจะดีกว่า ให้ความยุติธรรมกับทุกคน ศึกษาสอบถามกฎหมายในการทำธุรกิจและกฎหมายแรงงาน เรื่องภาษีและอื่นๆ ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวท่านเอง บ้านเมืองนี้มีกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย คนโกง คนผิด เอาเปรียบคนงาน และสังคม ก็ต้องได้รับโทษในที่สุด อย่างที่โบราณท่านว่าไว้…


“กันไว้ดีกว่าแก้ ถ้าแย่แล้วแก้ไม่ทัน”

โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย