เห็นมา เขียนไป

เห็นมา เขียนไป วันที่ 9 กรกฎาคม 2565

อาการไอ บอกอะไรเรา?

“ไอ” เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นกลไกในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ หรือสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจ

พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและภาวะวิกฤตระบบการหายใจ โรงพยาบาลนวเวช ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะของเสียงไอ สามารถแบ่งจำแนกตามรูปแบบต่างๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น ‘ไอมีเสมหะ’ ที่จะพบในภาวะติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ อันเป็นผลมาจากการที่ร่างกายมีการขับสารคัดหลั่งออกมาในระบบหายใจ จนทำให้เกิดอาการไอร่วมกับมีเสมหะ ‘ไอแห้ง’ ที่เกิดจากอาการระคายคอหรือระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จนกระตุ้นให้เกิดการไอโดยไม่มีเสมหะปน

อาการนี้พบเจอบ่อยในผู้ป่วยโควิด-19 ‘ไอเสียงก้อง’ ที่มักพบในเด็ก เกิดจากการบวมของระบบทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณกล่องเสียง และหลอดลม คนไข้อาจมีอาการหายใจลำบาก เสียงแห้ง หายใจมีเสียง มีไข้ ร่วมกับอาการไอเสียงก้อง และสุดท้าย ‘อาการไอที่พบเวลากลางคืน’ ซึ่งเป็นผลจากการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจที่ถูกกระตุ้นในช่วงกลางคืน อากาศเย็นหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการหดตัวของหลอดลม ส่งผลให้ไอมากขึ้น โดยเฉพาะคนไข้โรคหืด

สำหรับลักษณะของการไอที่ควรพบแพทย์ คืออาการไอเรื้อรัง (ไอต่อเนื่องที่มากกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป) หรืออาการไอที่มีอาการผิดปกติอื่นร่วม เช่น ไอเสมหะปนเลือด เสียงแหบ มีไข้ หอบเหนื่อย ปอดอักเสบติดเชื้อบ่อยๆ กลืนเจ็บ กลืนลำบาก ซึ่งอาการไอเกิดได้จากหลายสาเหตุ

ดังนั้น การรักษาจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการไอ และให้การรักษาที่เหมาะสมตามสาเหตุนั้นๆ โดยการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเองก็เป็นส่วนสำคัญในการรักษาอาการไอได้มาก เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอื่นๆ เช่น สารก่อการระคายเคือง ฝุ่น สารเคมี และเครื่องปรับอากาศ

พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบหายใจและภาวะวิกฤตระบบการหายใจ โรงพยาบาลนวเวช