ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ความสุข
รัตนอุโบสถศาลา กำลังขึ้นรูป ยังต้องการปัจจัยอีกมาก ญาติโยมที่มีกำลังโปรดช่วยบริจาคได้ที่
วัดสุทธาวาส เมืองริเวอร์ไซด์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
Tel:(951)360-3795 and (951)360-3495
E-mail: wat_suddhavasa@yahoo.com
ท่านสามารถ Pay on line โดยส่งมาที่
Suddhavasa Buddhist
Meditatoin Center
3687 Fleming St.
Riverside, CA 92509-1018

ผู้เขียนเพิ่งจะกลับจากการทำบุญเลี้ยงพระถวายเพลที่วัดสุทธาวาส เมืองริเวอร์ไซด์ เช่นเคย ได้พบว่าขณะนี้การสร้างรัตนอุโบสถศาลาได้เริ่มเห็นเป็นรูปร่างมีฝาผนังขึ้นเกือบครบหมดแล้ว ก็ให้ปลื้มใจว่าด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่สนับสนุน การสร้างพระอุโบสถหลังนี้เป็นงานใหญ่และยากมาก ต้องลงทั้งทุนทั้งแรงปัจจัยและศรัทธาสูง เมื่อได้เห็นสำเร็จทีละน้อยทีละก้าวก็อิ่มใจปลื้มใจ อย่างไรก็ตามได้ทราบข่าวว่ายังต้องการเงินทุนอีกมาก หากเงินทุนหมดก็จะหยุดชะงักเสีย จึงต้องพึ่งแรงศรัทธาจากพี่น้องประชาชนให้ช่วยกันอีกจะได้เป็นศูนย์ศึกษาธรรมะและเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืนสืบไป

สิ่งที่ผู้เขียนชอบเวลาที่ไปถวายเพลที่วัดสุทธาวาสก็คือ หลังจากที่พระท่านสวดมนต์ให้พรแล้ว ท่านก็จะเทศน์ให้ญาติโยมฟัง สำหรับในครั้งนี้ พระเกรียงศักดิ์ ธัญญวโร ท่านเทศน์เรื่องของความสุข ใจความสำคัญนั้นท่านเล่าเป็นนิทาน ผู้เขียนนึกอย่างไรก็นึกไม่ออก เสียดายเสียแต่ว่าไม่ได้อัดเสียงท่านไว้เวลาท่านเทศน์ สาเหตุที่จำไม่ได้ น่าจะเป็นเพราะใจมัวแต่ไปยึดแต่คำว่า “สามิสสุข” ที่ท่านยกขึ้นมาอธิบาย เมื่อจิตไปพะวงอยู่กับธรรมะข้อนั้น ก็เลยฟังความต่อไม่เข้าสมอง กลับลืมเสียสนิท ระหว่างที่ฟังเทศน์มือก็จิ้มอินเตอร์เน็ท เพราะฉุกคิดขึ้นมาว่าน่าจะนำมาเขียนในคอลัมน์ไลฟ์สไตล์เพราะหลักธรรมข้อนี้ ผู้เขียนเคยพยายามอธิบายให้เพื่อนฝรั่งฟัง เวลาที่เขาถามเรื่องของศาสนาพุทธ ที่ต้องจิ้มอินเตอร์เน็ทในโทรศัพท์มือถือก็เพราะกลัวลืม หาข้อมูลไว้เสียก่อนแล้วก็ทำบุ๊คมาร์คไว้ เวลากลับมาอ่านจะได้หาเจอไม่หลงลืม

พระเกรียงศักดิ์ ท่านสอนว่าความสุขนั้นมีอยู่สองประการด้วยกันคือ สามิสสุข และนิรามิสสุข ซึ่งประการแรกนั้นเป็นความสุขทางโลกไม่จีรังยั่งยืน ส่วนความสุขทางธรรมนั้นคือความสุขประการที่สอง คือความสุขจากความสงบภายในใจนั่นเอง อธิบายได้โดยละเอียดดังต่อไปนี้

“สามิสสุข” คือความสุขที่อิงอามิส กล่าวคือความสุขที่อาศัยกามคุณ ได้แก่ ความสุขที่พระท่านเรียก “สุขเวทนา” อันเกิดแต่การได้พบเห็น ได้ยินได้ฟัง ได้กลิ่น ได้รส และได้สัมผัส รูป– เสียง– กลิ่น– รส และสิ่งสัมผัสทางกายที่น่าเพลิดเพลิน น่ากำหนัดยินดี พอใจ ในขณะเดียวกันสุขเวทนาที่อิงอามิสนั้นแหละ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุนำเหตุหนุนให้ไม่สำรวมกาย วาจา ใจ และประกอบกรรมชั่วหรือบาปอกุศล ให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนได้อีก จึงเป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร เพราะเป็นความสุขที่ยังมีโอกาสกลับเป็นทุกข์ได้อีก

ส่วน “นิรามิสสุข” เป็นความสุขที่ไม่อิงอามิส คือเป็นความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกามคุณ แต่อาศัยเนกขัมม์ คือการปลีกออกจากกามคุณ หรือเป็นอิสระจากกามคุณ จึงไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่จะเป็นเหตุนำเหตุหนุนให้กระทำกรรมชั่วหรือบาปอกุศล ให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนได้อีก

ความสุขอันเกิดแต่ความสงบจากกรรมชั่ว และ/หรือ อัน สงัดจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน เช่นนี้ ย่อมเป็นความสุขที่เที่ยงแท้ถาวร คือเป็นความสุขที่ไม่มีเหตุปัจจัยให้กลับเป็นทุกข์ได้อีก

อันความเห็นเรื่องของความสุขนี้ เป็นนัยยะสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นธรรมะข้อหนึ่งที่ศาสนาพุทธสอนอย่างแปลกแยกออกไปจากศาสนาอื่นๆ

ชาวต่างชาติต่างศาสนามักจะคอยมาถามผู้เขียนเสมอว่า ศาสนาพุทธนั้นสอนอะไร ทั้งนี้ก็เพราะยิ่งนานวันไปศาสนาพุทธก็ดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นไปตามลำดับ ประชาโลกเริ่มให้ความสนใจและหันมาศึกษาศาสนาพุทธกันมากขึ้น ทั้งที่ศึกษาในฐานะที่เป็นศาสนา และทั้งที่เป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ครั้นเมื่อผู้เขียนตอบไปว่า ศาสนาพุทธนั้นสอนเรื่องการพ้นทุกข์ เขาก็มักจะถามต่อว่าพ้นทุกข์ที่ว่านั้นคืออะไร ผู้เขียนจึงอธิบายต่อไปว่า ศาสนาพุทธนั้นสอนว่าชีวิตคือความทุกข์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือการเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์และมีความสุขอันยั่งยืน

เมื่อเริ่มเสียอย่างนี้ ทุกคนที่ถามคำถามผู้เขียนก็มักจะขมวดคิ้ว และแสดงสีหน้าขัดแย้งในทันที ทุกคนจะกล่าวว่า ชีวิตไม่ใช่ความทุกข์เสมอไป ชีวิตมีทั้งสุขและทุกข์ และเขาก็รักและมีความสุขกับชีวิตของเขา จะเรียกว่าชีวิตนั้นมีแต่ความทุกข์ได้อย่างไรกัน

ผู้เขียนจึงอธิบายต่อว่า ความสุขที่ว่านั้นเป็นความสุขที่ไม่จีรังยั่งยืน เป็นความสุขที่เกิดจากความพึงพอใจ ที่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา เช่นอยากได้รถยนต์ใหม่ เมื่อไปกู้หนี้ยืมสินเขามาซื้อตามที่กิเลสพาไป ได้รถมาก็มีความสุข แต่ความสุขนั้นก็ไม่จีรัง ครั้นรถใหม่กลายเป็นรถเก่าก็พาลเบื่อเสีย สิ่งที่เคยทำให้เป็นความสุขก็ไม่สุขอีกต่อไป ต้องคอยวิ่งหาสิ่งมาบำเรอความต้องการของตนใหม่ๆอยู่ร่ำไป

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ความสุขก็คือความทุกข์ที่ลดน้อยลงไปนั่นเอง ผู้เขียนมักจะยกตัวอย่างเรื่องของการนั่งที่ว่า เมื่อเราได้นั่งบนเก้าอี้เป็นเวลานานๆหนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมง โดยไม่มีโอกาสลุกขึ้นยืน เราก็จะเริ่มมีความทุกข์ ครั้นพอได้ยืนขึ้นก็มีความสุข นั่นเป็นเพราะความทุกข์ที่มีอยู่ในใจนั้นลดลงนั่นเอง หากใครก็ตามไม่เคยมีความทุกข์ เขาผู้นั้นก็จะหาความสุขมิได้ ยิ่งทุกข์มากก็ยิ่งมีโอกาสมีสุขมาก คนยากไร้ที่ไม่มีข้าวจะกิน แค่ข้าวสวยร้อนๆกับน้ำปลาก็แสนจะอร่อยเหลือหลาย เศรษฐีเงินร้อยล้านมีปัญญากินสเต๊กเนื้อสันในลูกวัวที่แสนนุ่มจากร้านสเต๊กเฮ้าส์ที่แสนจะหรูหราก็ไม่ได้ทำให้เขามีความสุขยิ่งไปเสียกว่ายาจกที่อดข้าว ฉะนั้นคนยิ่งร่ำรวยมากก็ยิ่งมีสุขน้อย เพราะคิดอะไรอยากได้อะไรก็ได้มาง่ายๆโดยใช้เงินซื้อ ความสุขที่ได้จากสิ่งของเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป

ฝรั่งนั้นมักจะไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายของผู้เขียน พากันส่ายหน้า มิใช่เพราะด้อยปัญญาคิดไม่ได้ แต่เป็นเพราะไม่เคยคิดแบบนี้มาก่อนนั่นเอง ความสุขแบบสามิสสุขนั้น คือความสุขที่ต้องสัมผัสกับผัสสะ นั่นก็คือ ตาหูจมูกปากและกาย คือเห็นสิ่งสวยงาม ได้กลิ่นหอม รสชาติอร่อย และสัมผัสนุ่มนวล ความสุขเหล่านี้ล้วนแล้วมาจากกิเลสและกามคุณทั้งสิ้น เมื่อได้มาแล้วก็แล้วกัน มีความสุขอยู่ชั่วครู่ยาม เมื่อหมดกิเลสก็หมดสุข ต้องคอยหากิเลสใหม่มาเพื่อให้ทำได้สำเร็จแล้วก็มีความสุขอีกครั้ง

เมื่อเราเข้าใจได้เสียอย่างนั้นแล้ว เจ้าความสุขที่ว่าอันเป็นสามิสสุขก็ไม่น่าจะมีความหมายแก่เราอีกต่อไป ฉะนั้นวิถีชีวิตก็ควรจะต้องเปลี่ยน ที่คร่ำเคร่งทำแต่งานเพื่อหาเงินให้ได้เยอะๆ มาเลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงกิเลสของตน อย่างเช่น พ่อบ้านทำงานสองกะ เช้ายันเย็น และเย็นยันดึก ก็เพราะกิเลสที่อยากได้ทีวีจอแบนเครื่องใหม่มาไว้ดูกีฬา ครั้นไปซื้อหามาแล้วก็ไม่มีเวลาดูเพราะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ เมื่อเข้าใจแล้วว่าความสุขที่ถีบเราให้ออกไปหาเงินเยอะๆมาซื้อเจ้าสิ่งที่เรียกว่าความสุขนั้นหาได้จีรังยั่งยืนไม่ แล้วเราจะทำมันไปทำไม

หากคิดได้เช่นนี้วิถีชีวิตก็คงเปลี่ยน เพราะหากมุ่งไปยังนิรามิสสุข คือความสุขที่อยู่ภายในคือความสงบรู้แจ้งจริงในการทำงานของจิตและคอยดักจิตไม่ให้ยึดติดอยู่กับอัตตาอันได้แก่ตัวกูของกู แต่ปล่อยวางและมองโลกในสิ่งที่เป็นจริง ก็จะเกิดความสุขอันเที่ยงแท้และไม่เกิดทุกข์อีกต่อไป

อย่างไรก็ตามฝรั่งเหล่านั้นไม่รอให้ผู้เขียนอธิบายถึงขนาดนี้ คงจะเบื่อฟังหรือรำคาญกับสำเนียงฝรั่งปนไทยของผู้เขียน จึงเดินหนีหรือตัดบทไปเสียก่อน

อันศาสนาพุทธของไทยเรานั้นต่างกันมากจากศาสนาพุทธที่ฝรั่งเขารู้จัก ส่วนมากพวกนี้จะอิงไปทางศาสนาพุทธนิกายมหายาน ที่ปฏิบัติกันในธิเบต นำโดยท่านดาไลลามะ อันมุ่งไปยังเมตตาและการให้ ตลอดจนการนับถือพระโพธิสัตว์ ความเชื่อในเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นคำสอนที่ไม่ค่อยจะตรงประเด็นกับศาสนาพุทธแท้ๆที่มุ่งในการปฏิบัติให้พ้นจากความทุกข์ได้ในชาตินี้ พวกเขาจึงไม่เข้าใจและมักจะคิดว่าศาสนาพุทธอย่างหินยานนั้นแปลกและไม่น่าเรียนรู้เหมือนพุทธอย่างมหายาน

ความจริงศาสนาพุทธอย่างไทยนั้นเข้าใจได้ง่าย ปฏิบัติได้ทันที และมีความสุขเกิดขึ้นทันทีในขณะจิตที่ปฏิบัติ เสียแต่ว่าพุทธอย่างมหายานนั้นมีผู้เผยแพร่ คือท่านดาไลลามะ ที่เป็นเสมือนผู้นำทางจิตวิญญานของโลกตะวันออก ตะวันตกจึงศึกษาธรรมะอย่างพุทธในทางมหายาน ซึ่งผู้เขียนเองนั้นถึงแม้จะเป็นพุทธแต่ก็เข้าใจมหายานยาก เพราะธรรมะส่วนมากนับถือพระโพธิสัตว์อย่างเทพเจ้า ขัดกับคำสอนแบบพุทธแท้ที่คุ้นเคย และดูอ้อมค้อมไม่ตรงกับหลักธรรมแท้ๆอย่างที่ร่ำเรียนมาแต่เล็กน้อย

อย่างไรก็ตามการตามหาความสุขแท้อันได้แก่ความสงบในใจและเป็นความสุขที่ยั่งยืนก็ต้องอาศัยการฝีกฝนด้วยการใช้ศีล สมาธิ จึงจะเกิดปัญญามองเห็น รู้แจ้ง และยกระดับจิตให้สูงเหนือกิเลส จนเกิดความอาบอิ่มด้วยจิตที่ผ่องใสสะอาด เป็นการยากที่จะปฏิบัติได้ ยกไว้เสียแต่เป็นผู้มีความเพียรและมีปัญญาเข้าใจในหลักธรรมได้ดุจบัวเหนือน้ำ

บางครั้งผู้เขียนก็นึกไปเสียว่า เพราะยากเช่นนี้เอง การปฏิบัติในแนวมหายานคืออาศัย เมตตาและการภาวนา อาจจะทำให้สุขในใจเข้าถึงได้ง่ายกว่า ถึงจะเป็นเพียงเปลือกนอกแต่ก็เข้าถึงคนหมู่มากได้มาก

ฉะนี้แล้วมหายานและหินยานจึงมีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย สุดแต่ผู้ใดจะเลือกปฏิบัติตามให้เหมาะกับจริตของตนนั่นเอง