ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ใบย่านาง

ป้าตุ๋ง ชุลี นิลกลัด ท่านมีเมตตาให้ของขวัญผู้เขียนมาเป็นต้นหญ้านาง เป็นไม้เลื้อยพุ่มสวย ผู้เขียนนั้นไม่เคยรู้จักต้นหญ้านางมาก่อน เคยแต่ได้ยินว่าเขาเอาใบมาต้มกับหน่อไม้ ทำเป็นซุปหน่อไม้แสนอร่อย ก็เพียงเท่านั้น

ระยะหลังๆได้ยินคนพูดบ่อยๆถึงประโยชน์ของใบย่านาง นำมาคั้นน้ำดื่ม นำใบมาชงเป็นชา หรือนำใบมาปั่นเป็นน้ำผักกับผักชนิดอื่นๆ จึงทำให้เกิดความสนใจ ครั้นเมื่อผู้ใหญ่ท่านเมตตาให้นำมาปลูก จึงลงทุนหาข้อมูลมาอ่าน อ่านแล้วจึงนึกว่าควรจะนำมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านไลฟ์สไตล์กันด้วยดังนี้ครับ

ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ย่านางนับว่าเป็นผักที่มีประโยชน์อีกชนิดหนึ่ง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใช้ในการประกอบอาหารพื้นบ้านไทยหลายๆ ตำรับ ในใบย่านางมีวิตามินเอและซีสูง นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ไฟเบอร์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ไทอะมีน ไรโบฟลาวิน และไนอะซีน สำหรับสรรพคุณในทางยา ย่านางถือเป็นยาเย็น มีความโดดเด่นด้านการดับพิษและลดไข้ โดยรากใช้แก้ไข้ทุกชนิด เช่น ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัด สุกใส ไข้กาฬ ขับกระทุ้งพิษไข้ ถอนพิษผิดสำแดง และแก้เบื่อเมา ส่วนใบและเถา จะใช้แก้ไข้ ลดความร้อน และแก้พิษตานซาง รากย่านางเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของตำรับยาเบญจโลกวิเชียร หรือยา5 ราก หรือแก้วห้าดวง ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาจากสมุนไพรที่ มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ร่วมกับรากชิงชี่ รากท้าวยายหม่อม รากคนทา และรากมะเดื่อชุมพร

เมื่อศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมี ในรากย่านางส่วนใหญ่เป็นอัลคาลอยด์ในกลุ่ม isoquinoline ในใบประกอบด้วยสารโพลีแซคคาไรด์ สารโพลีฟีนอล แคลเซียมออกซาเลท และอัลคาลอยด์กลุ่ม isoquinoline สำหรับการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของย่านาง ยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ยังไม่พบรายงานการวิจัยในคน โดยพบว่าย่านางมีฤทธิ์ลดไข้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรีย Plasmodium falciparum แก้ปวด ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านการแพ้ ลดการหดเกร็งของลำไส้ ต้านการเจิญของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase และมีฤทธิ์อย่างอ่อนๆ ในการต้านอนุมูลอิสระ

การศึกษาด้านความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดน้ำจากทั้งต้นและสารสกัด 50% เอทานอลจากใบไม่เป็นพิษต่อหนูแรท แต่การป้อนรากย่านางในขนาดสูง มีความเป็นพิษทำให้สัตว์ทดลองตาย

จะเห็นว่าย่านางเป็นสมุนไพรในครัวเรือนอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ ปัจจุบันมีการแนะนำการใช้น้ำคั้นจากใบย่านางดื่มเพื่อปรับสมดุลของร่างกาย โดยนักวิชาการสาธารณสุขด้านการแพทย์ทางเลือก รวมทั้งมีการรวบรวมประสบการณ์การใช้น้ำคั้นจากใบย่านางในการรักษาโรค เรื้อรังต่างๆ มาเผยแพร่ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของย่านางยังมีไม่มากนัก ยังไม่พบรายงานการศึกษาทางคลินิก รวมทั้งข้อมูลด้านความเป็นพิษในคน ดังนั้นการใช้ย่านางรักษาโรคอื่นๆ นอกเหนือจากแก้ไข้ซึ่งมีประวัติการใช้มาเนิ่นนานแล้ว จึงควรระมัดระวังและมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการใช้ในการรักษาโรค เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้

เมื่ออ่านแล้วท่านผู้อ่านจะเห็นว่า การบริโภคสมุนไพรย่านางนี้ต้องระวังอย่าให้เกินขนาด เพราะจะเป็นอันตรายได้ ผู้เขียนได้ค้นคว้าต่อจากงานเขียนของ นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ เรื่องประโยชน์ของการดื่มน้ำใบย่านาง ดังนี้

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับต้นย่านางกันก่อน “ย่านาง” (Ya-Nang) หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Tiliacora triandra (Diels) เป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง มีขึ้นอยู่ตามป่าของไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมมาใช้ปรุงอาหารหลายชนิด ลักษณะของต้นย่านางจะเป็นไม้เลื้อย เวลาขึ้นตามป่าตามทุ่งมักก็เกาะเกี่ยวกับไม้ยืนต้นอื่นขึ้นไป ใบย่านางมีสีเขียวเข้ม ใบเงามัน ออกดอกเล็กๆ สีเหลือง ผลเล็กๆ กลมรี มีขนตามกิ่งอ่อน เวลาแก่เถาย่านางจะเหนียวมาก เป็นต้นไม้ที่มีความทนทาน ปลูกง่าย

ใบย่านาง ถูกน้ำมาใช้ปรุงอาหารไทยหลายชนิด น้ำต้มใบย่านางจะมีสีเขียวเข้มไปจนถึงดำ มีกลิ่นหอมฉุน คนไทยภาคอีสานนำน้ำใบย่านางมาใส่ซุปหน่อไม้ เพื่อดับกลิ่นเปรี้ยวของหน่อไม้ ยอดอ่อนนำมากินเป็นเครื่องเคียงกับของเผ็ดอย่างอื่น ใส่ในแกงขนุน แกงอ่อม และหมกต่างๆ ทางภาคใต้นิยมนำยอดอ่อนมาใส่ในแกงเลียงและแกงหวาน ในแกงขี้เหล็กใช้น้ำใบย่านางใส่ลงไปเพื่อลดความขมของใบขี้เหล็ก

ปัจจุบันมีผู้นิยมนำใบย่านางมาคั้นเป็นเครื่องดื่ม วิธีการโดยการนำใบย่านางมาตำให้ละเอียด คั้นและกรองเป็นน้ำ แช่ตู้เย็นเก็บไว้ดื่ม อาจผสมน้ำผึ้งหรือน้ำตาลเพื่อลดกลิ่นเหม็นเขียวของใบย่านางด้วยก็ได้

ความนิยมในการดื่มน้ำย่านางในปัจจุบัน นำไปสู่การอ้างสรรพคุณอย่างมากมายของน้ำใบย่านาง ตั้งแต่อุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด แก้โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเก๊าท์ โรคเชื้อรา ทำให้ผมดกดำ ทุเลาโรคมะเร็งตับ มะเร็งมดลูก มะเร็งปอด และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตามคำอ้างสรรพคุณเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันทางวิชาการที่ ชัดเจนนัก

ข้อมูลหลักฐานทางวิชาการเท่าที่มีและพอน่าเชื่อถือในปัจจุบันเกี่ยวกับ ประโยชน์ของใบย่านางคือ เราพบว่าในใบย่านางมีสารอาหารและแร่ธาตุ ที่มีประโยชน์แก่ร่างกายหลายตัวพอสมควร ตัวอย่างเช่น สารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ (polysaccharide) แคลเซียม (calcium) และธาตุเหล็ก (iron) สารเหล่านี้เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ เมื่อดื่มน้ำใบย่านางก็จะได้รับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่ามีสารเคมีที่อาจมีสรรพคุณเป็นยา หรือเป็นวิตามินบำรุงร่างกายอีกหลายตัว คือสารกลุ่ม อัลคาลอยด์ (alkaloids) แทนนิน (tannin) ลิกแนน (lignan) ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) และสารกลุ่มโพลีฟีนอล (polyphenol) และมีสารต้านอนุมูลอิสระ คือสารเบต้าแคโรทีน (beta carotene) อยู่ด้วย

สำหรับคุณสมบัติในการเป็นยานั้น มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดกลุ่มอัลคาลอยด์จากรากของต้นย่านางมีคุณสมบัติต้านเชื้อมาลาเรียใน หลอดทดลองได้ อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองนี้ยังไม่มีรายงานการต่อยอดนำมาใช้ทดลองกับมนุษย์จริงๆ จึงทำให้ยังไม่ทราบแน่ว่าจะใช้ได้ผลในมนุษย์จริงหรือไม่

สารอาหารหลายชนิดมีทั้งคุณประโยชน์และโทษในตัว ยกตัวอย่างเช่นสารเบต้าแคโรทีน (beta carotene) ที่พบมากในแครอทและมะละกอ และอาจพบได้บ้างในใบย่านางด้วย ถ้าเราได้รับสารนี้ในปริมาณพอดี สารเบต้าแคโรทีนจะทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่หากได้รับปริมาณมากเกินไป มันอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดในประชากรที่สูบบุหรี่ได้ อาหารทุกอย่างจึงควรกินแต่พอดี และกินให้หลากหลายชนิดเข้าไว้ จะดีกว่าการกินชนิดเดียวซ้ำๆ ในปริมาณมาก

กล่าวโดยสรุปคือน้ำใบย่านางน่าจะมีประโยชน์จากสารอาหารที่มีอยู่หลายชนิด แต่สรรพคุณบางอย่างที่มีการอ้างถึงก็ยังไม่มีหลักฐานวิชาการรองรับ เช่น ทำให้แก่ช้า ต้านมะเร็ง หรือการรักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงได้ การดื่มในปริมาณที่มากผิดปกติยังไม่มีข้อมูลถึงความปลอดภัยหรืออันตรายที่จะ เกิดในระยะยาว จึงอาจใช้ดื่มเป็นเครื่องดื่มเสริมได้ แต่ถ้าดื่มมากเกินไปเช่นการดื่มแทนน้ำก็อาจจะไม่ควร

ส่วนข้อมูลสุดท้ายก็คือการนำใบย่านางมาทำเป็นน้ำใบย่านาง มีวิธีทำดังนี้ส่วนผสม

+ ใบย่านาง
+ ใบเตย
+ น้ำเปล่า

วิธีทำน้ำใบย่านาง

1.นำใบย่านางมาประมาณ 30–50 ใบ ต่อน้ำ 4 ลิตรครึ่ง

2.ผสมใบเตยประมาณ 10 ใบ ขยี้กับน้ำให้สะอาด

3.ตำหรือปั่นด้วยมือ กรอกด้วยผ้าขาวบาง นำกากมาปั่นซ้ำ จนหมดสีเขียว

4.กรองเอาแต่น้ำ เก็บไว้ในตู้เย็น ทานได้ประมาณ 4–5 วัน

หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะได้ประโยชน์บ้าง อย่าลืมระมัดระวังการใช้อย่าให้มากเกินไปครับ สมุนไพรนั้นมีความเป็นพิษได้ถ้าบริโภคเกินขนาดครับ