ไลฟ์สไตล์
จอมพล
ไร่ข้าวโพด

ครั้งหนึ่งในอเมริกากลาง ทุก ๆ ปีจะมีการประกวดเมล็ดพันธ์ข้าวโพด หลังจากการประกวดชายผู้ที่ชนะเลิศที่หนึ่ง เขาทำในสิ่งที่คาดไม่ถึง นั่นคือ ...

ทันทีที่เขาชนะ เขาได้นำเมล็ดพันธ์ที่เพิ่งชนะการประกวด แจกให้กับผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขันและกล่าวว่า เอาเมล็ดพันธ์นี้ไปปลูกน่ะ แล้วปีหน้าเรามาแข่งกันใหม่

ในปีต่อมา ... เขาก็ชนะการประกวดเมล็ดพันธ์ข้าวโพดอีก เขาเดินแจกเมล็ดพันธ์ที่เขาเพิ่งชนะให้กับคนอื่น ๆ แล้วบอกว่า ... เอาไปปลูกน่ะ แล้วปีหน้าเรามาแข่งกันใหม่

ชายผู้นี้ชนะการประกวดเมล็ดพันธ์ข้าวโพด ติดต่อกัน 6 ครั้ง และเขาก็แจกเมล็ดพันธ์ที่ชนะ ให้ผู้แข่งขันคนอื่น ๆ ทุกปี

มีนักข่าวถามเขาว่า ... ไม่เป็นการง่ายกว่าหรือ ถ้าเขาเก็บเมล็ดพันธ์ที่ดี โดยไม่แบ่งคนอื่น เขาก็จะได้ชนะง่าย ๆทุกปี

เขาตอบว่า ... แสดงว่า ... คุณไม่เข้าใจในการปลูกพืช คุณเคยได้ยินคำว่า ... การกลายพันธ์ไหม ถ้าไร่ของผมมีเมล็ดพันธ์ที่ดี บังเอิญไร่ของเพื่อนบ้านมีแต่เมล็ดพันธ์ที่แย่ ๆ

วันหนึ่ง ลมก็จะพัดเอาเกสรของเมล็ดพันธ์ที่แย่ ๆ มาตกในไร่ของผม ทำให้เมล็ดพันธ์ผมแย่ไปด้วย

มันไม่เป็นการดีหรอกหรือ ... ที่ทุกคนมีเมล็ดพันธ์ที่ดีแล้ว ... ถึงตอนนั้นมาแข่งกันว่า ... ใครขยัน รดนำพรวนดินดีกว่ากัน

มีคำกล่าวว่า ... ถ้าคุณมีเมล็ดพันธ์ความคิดที่ดี คุณเก็บไว้กับตัว ไม่แบ่งปันใคร ถึงวันหนึ่งเมล็ดพันธ์แห่งความคิดนั้น ก็จะตายไปพร้อมคุณ

เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ที่ความคิดและความรู้ ยิ่งให้ออกไป เรายิ่งได้รับกลับมา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คน ๆ นั้น ประสบความสำเร็จที่มากขึ้นไปพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในสังคม

ผู้เขียนได้อ่านเรื่องๆนี้ จากเพจของใครสักคนที่ไม่ได้ลงชื่อผู้ประพันธ์เรื่องนี้ มันคงส่งต่อๆกันมาเหมือนเรื่องอื่นๆ และมันคงจะอ่านแล้วก็ผ่านเลยไปเหมือนเรื่องดีๆเรื่องหนึ่งที่ผ่านมาในชีวิต

อย่างไรก็ตามผู้เขียนฉุกคิดอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในความหมายของนิทานเรื่องสั้นที่ว่านี้

ในยุคของการแข่งขันทางธุรกิจ ในยุคของการแข่งกันทำงาน แข่งกันเอาตัวรอด แข่งกันยื้อแย่งสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันมีจำกัด ความคิดในเรื่องของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การโอบอ้อมอารี ดูจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เหลือแต่เพียงการเอาตัวรอดและการฉกฉวยโอกาส ใครได้ช่องใครได้ทีก่อน ก็ดูเหมือนจะต้องรีบตักตวงก่อนที่มันจะหมด

สังคมสมัยใหม่ ใครดีใครได้ ใครแข็งแรงกว่าย่อมเป็นผู้ที่ได้เปรียบ มันคือสัญชาตญานของการอยู่รอดของสัตว์โลกมิใช่หรือ

ถ้าจะนับกันไปชีวิตมนุษย์ก็เกิดขึ้นมาได้จากการแข่งขันเอาตัวรอด เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธินั่นทีเดียว

สเปิร์มตัวที่แข็งแรงที่สุด เร็วที่สุด ย่อมจะเข้าถึงไข่ในปีกมดลูกและฝังตัวก่อน ตัวที่อ่อนแอก็จะตายไป นี่คือการคัดเลือกทางพันธุกรรมที่ต้องการมนุษย์ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด

แต่เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้ว การแข่งขันชิงดีชิงเด่น การเอาตัวรอดก็ดูเหมือนว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในสังคมมนุษย์ และมีคนมากมายที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ด้วยความที่สติปัญญาน้อย ความพยายามน้อย หรือปัญหาทางสุขภาพหรือปัญหาทางสังคม

คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จึงมักเป็นคนที่เอาตัวรอดเก่ง ฉลาด แข็งแรง หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือ ด้านได้อายอด มารยาทกินไม่ได้ ต้องแก่งแย่งมาเท่านั้นจึงเป็นผู้ชนะ

เรามักจะคิดกันแบบนี้

แต่นี่เป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่ คนที่เก่งในทางฉกฉวยโอกาสทั้งทางธุรกิจและเรื่องส่วนตัว มักจะประสบความสำเร็จหรือมีความสุขมากกว่าผู้อื่นจริงหรือไม่

เมื่อเอ่ยคำว่าความสุขขึ้นมาก เป้าหมายของชีวิตก็เปลี่ยน เพราะหากเราจะหาคำตอบของคำว่า “ความสำเร็จ” เราก็ต้องมานั่งดูกันว่า “ความสำเร็จ” ในชีวิตนั้นมันคืออะไร

หากความสำเร็จในชีวิตคือ การได้งานการดีที่มั่นคง มีเงินทองมากมายเหลือใช้ มีบ้านมีรถ มีตำแหน่งหน้าที่ มีเกียรติโก้หรู นั้นคือความสำเร็จ

หรือหากความสำเร็จในชีวิตคือ การมีชีวิตที่มีความสุข มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง มีครอบครัวที่มีความสุข มีเพื่อนสนิทมิตรสหายที่รักใคร่อย่างจริงใจ และมีสุขภาพที่แข็งแรง

คนที่ประสบ “ความสำเร็จ”ในชีวิต ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนที่เก่งในทางฉกฉวยโอกาสทั้งทางธุรกิจและเรื่องส่วนตัว นั่นก็เพราะ “เงิน” ไม่ใช่คำตอบของความสุขเสียแล้ว

ในเรื่องไร่ข้าวโพดนี้ ชาวไร่ผู้เอื้อเฟื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ได้รับรางวัลแก่เพื่อนบ้านเพื่อให้ทุกคนได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ดีแล้วหมู่ไร่ข้าวโพดในบริเวณนั้นก็จะดีไปหมด คือผู้ที่ยึดหลักที่ผู้เขียนยึดเป็นหลักนำใจนั่นก็คือ “ Law of Attraction” ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปในฉบับที่แล้ว

ขอทบทวนสักนิดว่า “กฏแห่งแรงดึงดูด” ที่ว่านี้คืออะไร กฏแห่งแรงดึงดูดคือกฏของธรรมชาติที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์แนวใหม่ว่าด้วยเรื่องของ ควันตัมฟิสิกส์ ที่กล่าวว่ามวลสารและสรรพสิ่งต่างๆในมหาจักรวาลนี้ รวมไปถึงมนุษย์ สัตว์ สิ่งของ แม่น้ำ ทะเล ภูเขา โลก ดวงดาว และทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้กฏๆเดียวกันนั่นก็คือ “กฏแห่งแรงดึงดูด” สสารที่มีคลื่นพลังความถี่เดียวกันก็ย่อมจะดึงดูดเข้าหาพลังความถี่ที่เหมือนกัน คนดีที่คิดดีก็ดึงดูแต่คนดีแต่สิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต คนชั่วคนเห็นแก่ได้ก็ดึงดูดคนประเภทเดียวกันเข้ามาในชีวิต ถ้าเราคิดอะไรเป็นลบเราก็ดึงดูดสิ่งที่เป็นลบเข้ามาหาเรา ถ้าเราคิดอะไรเป็นบวกเราก็ดึงดูดสิ่งที่เป็นบวกเข้าหาเราเช่นกัน

ความสำคัญข้อหนึ่งของกฏแห่งแรงดึงดูด ในอันที่จะนำมาปรับใช้กับชีวิตของมนุษย์ได้นั้นก็คือ มนุษย์เรามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งในชีวิตของเราให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา เพียงแต่เราต้องตั้งความปรารถนานั้น เชื่อในสิ่งนั้นว่าจะเกิดขึ้นกับเราจริง โดยไม่ลังเลสงสัย และความปรารถนานั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความดีงาม คือความรักและความกตัญญู ความปรารถนานั้นจะบังเกิดกับเราได้จริง เพียงแต่เราต้องปรับทัศนคติและความคิด ความรู้สึกของเราให้อยู่ในคลื่นความถี่ของความปรารถนานั้นนั่นเอง

กฏแห่งแรงดึงดูด จะสามารถนำมาใช้ได้จริง เราต้องยึดมั่นหลักอีกหลักหนึ่งนั่นก็คือ จักรวาลนี้มีความเป็นอุดมไม่มีที่สิ้นสุด โอกาส ความเป็นไปได้ ความเติบโต ทรัพย์ศฤงคาร ล้วนแล้วแต่ไม่มีที่สิ้นสุด จักรวาลนี้มีให้อย่างอนันต์ ฉะนั้นหากเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราปรารถนานั้นมีอยู่อย่างจำกัด และเราต้องแย่งชิงเพื่อจะได้มานั้น ความรู้สึกนั้นก็เป็นลบ และจะทำให้เราไปอยู่ในความถี่ที่ลบและสิ่งที่เราปรารถนาก็จะไม่มีวันเป็นจริงไปได้

ตรงนี้นี่เองที่มาถึงจุดที่ผู้เขียนต้องการจะกล่าวถึง นั่นก็คือ ชาวไร่ข้าวโพดที่ปลูกข้าวโพดได้รางวัลยอดเยี่ยมทุกปี เป็นผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องของความอุดมที่มีอยู่ในจักรวาลอย่างเหลือเฟือ ยิ่งให้ยิ่งได้รับ ความสำเร็จจึงบังเกิดขึ้นกับเขาทุกครั้ง

เราได้คติอะไรกับเรื่องนี้บ้าง ทุกวันนี้เรายังแข่งขัน เรายังฉกฉวยโอกาส เรายังหวาดวิตก ว่าความขาดแคลน ความไม่เพียงพอ ยังมีอยู่ไหม หากเรายังปรับความรู้สึกของเราอยู่ในคลื่นความถี่ของความกลัวว่าจะไม่มีพอ เราก็ไม่มีวันที่จะได้ในสิ่งที่เราปรารถนา

ปรับคลื่นความถี่ของความคิดใหม่ เชื่อว่าจักรวาลนี้เป็นอนันต์ ความอุดมสมบูรณ์มีอยู่อย่างเหลือเฟือ สิ่งที่เราปรารถนาเป็นเพียงจุดเล็กๆและไม่ยากเกินกว่าที่จักรวาลนี้จะอำนวยให้ เชื่อเสียแบบนี้ ก็ไม่ต้องแย่งชิง ไม่ต้องกีดกันผู้อื่น มุ่งแต่ทำจิตใจให้สะอาด ผ่องใส บริสุทธิ์ แล้วสิ่งที่เราปรารถนาก็จะเข้ามาเองโดยไม่ต้องเหนื่อยแรงแต่อย่างใด